xs
xsm
sm
md
lg

สศค.ทบทวนจีดีพีส่งท้ายปลายปี ภาคลงทุน-บริโภคส่อแววซบยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สศค.ทบทวนจีดีพีทั้งปีนี้และปีหน้าปลายธันวาฯนี้ ระบุดัชนีเศรษฐกิจหลายด้าน 1-2 เดือนที่ผ่านมาตกต่ำลงทุกด้าน โดยการบริโภค-ลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวชะลอ และยอดจัดเก็บรายได้ขยับเพิ่มแค่ 0.1% ขณะที่ปัจจัยในอนาคตยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้น จี้รัฐเร่งคลี่คลายสถานการณ์การเมือง หวั่นกระทบความเชื่อมั่นระยะยาว พร้อมเตรียมเสนอมาตรการทางการคลังอุ้มเศรษฐกิจให้รมว.คลังพิจารณาต่อไป

นายลวรณ แสงสนิท รักษาการผู้เชียวชาญเฉพาะด้านพัฒนาโครงสร้างระบบภาษี ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ทางสศค.จะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจทั้งของปี 2551 และ 2552 ในช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทางในบวกและลบ ซึ่งทางบวกคือปัจจัยราคาน้ำมันที่ปรับลดรุนแรงและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศคู่ค้า ขณะที่ทางลบก็มีทั้งภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมืองภายใน ซึ่งส่งสัญญาณต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนก.ย.-ต.ค.ที่ผ่านมา

"สศค.จะปรับเป้าจีดีพีใหม่ทั้งของปีนี้และปีหน้า โดยในประมาณการเดิมของปี 51 อยู่ที่ 5.1 แต่จะลดลงหรือไม่ต้องรอการประเมินตัวเลขต่างๆก่อน แต่จากสัญญาณและดัชนีเศรษฐกิจหลายด้านในช่วง 1-2 เดือนมานี้พบว่าแย่ลงทุกด้าน ยกเว้นเพียงเสถียรภาพด้านอัตราเงินเฟ้อที่ยังดีอยู่ ซึ่งจะช่วยประคับประคองการบริโภคของประชาชนไว้ได้ แล้วก็ยังปัญหาม็อบพันธมิตรปิดล้อมสนามบินอยู่ เป็นเรื่องรัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดตามมาอีกระลอกใหญ่ จากการส่งออกและออร์เดอร์ส่งออกที่ไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามนัดทำให้กระทบต่อความมั่นใจของคู่ค้า"นายลวรณกล่าว

นอกจากนี้ สศค.ยังเตรียมการที่จะเสนอการใช้มาตรการทางการคลังหลายๆด้านเพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งก็คงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลว่าจะใช้มาตรการใด เพราะไม่ว่าจะเลือกเน้นรายจ่ายหรือลดรายได้ก็มีต้นทุนในตัวเองทั้งนั้น แต่สศค.ยังยืนยันจะยังยึดมั่นกรอบความยั่งยืนทางการคลังเพื่อรักษาวินัยการคลังต่อไป

ส่วนรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2551 นั้น พบว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่มีสัญญาณขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในด้านอุปสงค์จากต่างประเทศจากปริมาณการส่งออกที่ปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

โดยการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนในเดือนตุลาคม 2551 ขยายตัวต่อเนื่องแต่เริ่มมีสัญญาณชะลอลง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนตุลาคมขยายตัวที่ร้อยละ 8.4 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 16.0 ต่อปี เนื่องจากมีปัจจัยความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวสืบเนื่องจากวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐฯ และยุโรป และปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 68.6 จุดลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 69.5 จุด ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มการบริโภคในอนาคตที่อาจชะลอตัวลง

ด้านเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนตุลาคม 2551 พบว่ารายได้รวมของ 3 กรมจัดเก็บภาษีเท่ากับ 105 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพาสามิตน้ำมัน และจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีสัญญาณชะลอตัว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากภาษีฐานรายได้พบว่าขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี สะท้อนผลประกอบการของภาคธุรกิจและรายได้ของประชาชนที่ชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ ขณะที่ภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ขยายตัวร้อยละ 9.2 ต่อปี สะท้อนถึงการบริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่องแม้ว่าจะชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

สำหรับรายจ่ายรัฐบาลในเดือนตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 สามารถเบิกจ่ายได้ 93.7 พันล้านบาท หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นร้อยละ 39.7 ต่อปี เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 มีผลบังคับใช้ล่าช้า ทำให้รายจ่ายประจำสามารถเบิกจ่ายได้เพียง 84.6 พันล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ 30.1 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนที่สามารถเบิกจ่ายได้ 0.6 พันล้านบาท หดตัวลงที่ร้อยละ 97.9 ต่อปี

ส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ เดือนกันยายน 2551 อยู่ที่ร้อยละ 36.2 ซึ่งยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50.0 ค่อนข้างมาก สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2551 อยู่ในระดับสูงที่ 103.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 4 เท่า ทั้งนี้ยังมีตัวเลขที่น่ากังวลคือจำนวนนักท่องเที่ยวและการจ้างงานภาคบริการที่ปรับตัวลดลงมาตั้งแต่เดือนส.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น