xs
xsm
sm
md
lg

คลังจี้การเมืองเร่งตั้ง ครม.ใหม่ กู้ความเชื่อมั่น หลังต่างชาติแห่ลดเครดิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังยอมรับไทยถูก 5 บริษัทจัดอันดับ พร้อมใจปรับลดเครดิต ส่งสัญญาณอันตรายต่อความเชื่อมั่น หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไข อาจจะนำไปสู่การปรับลดเครดิตของประเทศ แนะจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่ ต้องมีความมั่นคง-เป็นที่ยอมรับ กู้วิกฤตศรัทธาความเชื่อมั่นได้

วันนี้ (11 ธันวาคม 2551) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า กรณีที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.Standard & Poor’s (S&P’s) 2.Fitch Ratings 3.Rating & Investment Information, Inc. (R&I) 4.Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) และ 5.Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้ปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทย แม้ว่าจะยังไม่มีผลต่อระดับเครดิตของประเทศ แต่เป็นการส่งสัญญาณอันตรายต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศในเศรษฐกิจไทย และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะนำไปสู่การปรับลดเครดิตของประเทศในที่สุด

สำหรับการคลี่คลายของปัญหาความไม่สงบทางการเมือง และการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ที่มีความมั่นคง และเป็นที่ยอมรับ น่าจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม นายพงษ์ภาณุ ระบุว่า ไทยคงไม่สามารถทำให้แนวโน้มเครดิตของประเทศกลับมาสู่ระดับเสถียรภาพเช่นเดิมได้ในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมระบุถึงจุดแข็งของประเทศไทยในมุมมองของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทุกแห่งมี 2 ประการ ได้แก่ ฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศเทียบกับหนี้ต่างประเทศ และการรักษาวินัยทางการคลังซึ่งวัดจากหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น นโยบายรัฐบาลในระยะต่อไปจะต้องมุ่งเน้นการรักษาความเข้มแข็งใน 2 ด้านนี้

ขณะเดียวกัน บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะเข้ามาประเมินเครดิตของประเทศครั้งต่อไปในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 รัฐบาลจะต้องใช้โอกาสนี้ชี้แจงทำความเข้าใจกับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่ง สบน.คาดว่า อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ที่ประเทศไทยจะกลับมามีแนวโน้มเครดิตในระดับที่มีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ บริษัท Standard & Poor’s (S&P’s) ได้ปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทยจากระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) โดยยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศที่ระดับ BBB+/A-2 และระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินบาทที่ระดับ A/A-1

ส่วนบริษัท Fitch Ratings ได้ปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทยจากระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) โดยยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศที่ระดับ BBB+ ระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทที่ระดับ A และระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้นที่ระดับ F 2 พร้อมทั้งยืนยันระดับเครดิตของประเทศที่ระดับ A-

บริษัท Rating & Investment Information, Inc. (R&I) ได้ปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทยจากระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) โดยยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศอยู่ที่ระดับ BBB+ และระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทที่ระดับ A-

บริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. JCR ได้ปรับแนวโน้มของระดับของเครดิตของประเทศไทยจากระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่มีการเฝ้าระวังระดับเครดิตที่เป็นลบ (Credit Monitor (Negative)) โดย JCR ยังคงยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศที่ระดับ A- ระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทที่ระดับ A+ และยืนยันระดับเครดิตพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศสำหรับพันธบัตรสกุลเงินเยนของรัฐบาลไทยรุ่นที่ 20 ที่ A-
ขณะที่ บริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้ปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทยจากระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) โดยยังคงยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินบาทที่ระดับ Baa1 ระดับเครดิตตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศที่ระดับ A3 และระดับเครดิตของเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศที่ระดับ Baa1

สำหรับเหตุผลหลักของการปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตดังกล่าว เนื่องจากการขาดเสถียรภาพทางการเมืองผนวกกับภาวะวิกฤตการเงินโลกจากการเข้ายึดครองท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งของประเทศไทย โดยกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลนับตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2551 การตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบเลิกพรรคการเมือง 3 พรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล การที่ยังไม่มีผู้นำในการบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ ล้วนส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น