xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ต.ค.ต่ำสุด 4 เดือน เหตุ ศก.แย่คำสั่งซื้อลดยอดขายหด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยเดือน ต.ค.อยูที่ 75.5 ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน สาเหตุยอดคำสั่งซื้อลดและยอดขายหดจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกถดถอย และปัญหาการเมืองภายใน ภาคเอกชน แนะให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาการเมืองเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและนักลงทุน วันนี้ กรอ.นัดหารือภาพรวมเศรษฐกิจและแนวทางรับมือวิกฤตที่เกิดขึ้น

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยเดือน ต.ค.2551 ที่ได้จัดการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,302 ตัวอย่างครอบคลุม 9 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 75.5 ปรับตัวลดลงจากเดือน ก.ย.51 ที่อยู่ระดับ 81.1 และต่ำสุดในรอบ 4เดือนนับตั้งแต่ ก.ค.2551 โดยพบว่า ความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมลดลงทุกกลุ่มตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ เนื่องจากผลกระทบจากยอดคำสั่งซื้อ และยอดขายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศที่ลดลง เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกถดถอยและวิกฤตการเมืองในประเทศ

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 82.4 ปรับลดลงจากเดือนก.ย.ที่อยู่ระดับ 90.8 ซึ่งเป็นการปรับลดลงในระดับที่มากกว่าดัชนีโดยรวม และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่จะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นในระยะ 3เดือนข้างหน้า ซึ่งทั้งหมดถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการชะลอตัวการส่งออกในปี 2552 อย่างชัดเจน

ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐแก้ปัญหาการเมืองอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและนักลงทุน ดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้มีความผันผวน โดยคงระดับที่ 33-35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมส่งออก เป็นต้น

นายสันติ กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายย่อยกำลังมีปัญหาสภาพคล่องค่อนข้างมาก การทำธุรกรรมทางการเงินเริ่มไม่ต้องการรับเช็ค เพราะขาดความเชื่อมั่นเกรงว่าเช็คเด้ง จึงยึดเงินสดเป็นหลักในการทำธุรกิจเป็นหลัก หากปล่อยให้เป็นปัญหายืดเยื้อจะมีผลทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น และหากเป็นปัญหานี้อย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลให้เกิดการกู้นอกระบบมากขึ้น ก็ไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ

ในวันนี้ (20 พ.ย.) จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะหารือถึงภาครวมเศรษฐกิจ โดยจะมีการติดตามความคืบหน้าใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าเหล็กภายใต้กรอบข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) 2.สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.การจัดตั้งคณะอนุกรรมการ กรอ.จังหวัด

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาเรื่องสำคัญ คือ 1.การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2.การติดตั้งตามใช้งบประมาณเพิ่มเติม 1 แสนล้านบาทที่เอกชนต้องการให้รัฐใช้งบประมาณดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี 3.การเร่งรัดออกกฎหมายค้าปลีกและค้าส่ง

“เราได้มีการหารือระดับหนึ่งเกี่ยวกับการลดภาษีรายได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะปรับลดลง กรณีที่มีรายได้ไม่เกิน 1.5 แสนบาทต่อปีให้ยกเว้นการเสียภาษี แต่รายได้ตั้งแต่ 1.5-5 แสนบาทต่อปี เสียภาษี 10% และรายได้ตั้งแต่ 5 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาทจ่ายภาษี 20% รายได้ 1-4 ล้านบาทจ่าย 30% และรายได้4 ล้านบาทขึ้นไป จ่ายภาษี 37%”

นายสันติ กล่าวต่อไป หากมีการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจสรรหาบุคคลที่มีภาพพจน์ที่ดี สามารถดึงความเชื่อมั่นให้เพิ่มขึ้น โดยทีมเศรษฐกิจที่นำโดย นายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ผ่านมาก็ถือว่าทำงานได้ดีระดับหนึ่ง เป็นเรื่องปกติที่การพิจารณางบประมาณจะต้องละเอียดรอบคอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น