xs
xsm
sm
md
lg

กระทุ้งก้น “รบ.ชาย” เร่งแก้ปัญหา “รง.เจ๊ง-ว่างงาน” หวั่นผลาญงบ-เกาไม่โดนที่คัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รุมกระทุ้งก้น “รบ.ชาย” เร่งปัญหาด่วน “โรงงานเจ๊ง-คนตกงาน” แทนการดันทุรังแก้ไข รธน.เพื่อตระกูลชิน “นิด้า” แนะตั้งสหภาพฯ-สร้างระบบสวัสดิการ กลุ่มผู้ประกอบการ อัดรัฐบาลผลาญงบ มัวเมาอำนาจ ไม่จริงใจแก้ปัญหา ขณะที่องค์กรแรงงานฯ โวยมาตรการรัฐเกาไม่ถูกที่คัน โรงงานเจ๊งเพิ่มอีก 26 แห่ง ลูกจ้างตกงานอีก 2 หมื่นคน “โอฬาร” เผย ยังไม่น่าห่วง “ป้าอุ” สอดไส้ตีทะเบียนต่างด้าว 8 แสนคน

วันนี้ (19 พ.ย.) รศ.จินดาลักษณ์ วัฒนสินธุ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตภาคพิเศษ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ภาครัฐควรเร่งสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการ หรือภาคเอกชนธุรกิจขนาดใหญ่ให้การสนับสนุนให้พนักงานภายในองค์กรรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลสวัสดิการของกลุ่มพนักงาน โดยมีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์รองรับ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการมาจากการหักรายได้จากเงินเดือนพนักงานที่เป็นสมาชิก

ทั้งนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างไม่สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพราะเกรงว่ากลุ่มพนักงานจะใช้สหภาพแรงงาน เป็นเครื่องมือในการต่อรองผลประโยชน์ให้กับกลุ่มพนักงาน จนส่งผลกระทบต่อการทำงานและการบริหารภายในองค์กร

“การจัดตั้งสหภาพแรงงานในไทย ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการและกลุ่มพนักงานมากนัก ทั้งที่ตัวองค์กรสหภาพแรงงาน เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบจากการปัญหาการเลิกจ้าง เพราะหากธุรกิจมีความจำเป็นต้องปลดพนักงาน สหภาพแรงงานจะช่วยเหลือพนักงานด้วยการจัดหางานใหม่ หรือให้เงินเบี้ยเลี้ยงยามว่างงาน เพื่อช่วยเหลือให้กับกลุ่มพนักงานเหล่านี้ให้มีรายได้จากการว่างงาน และภาครัฐสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลคนว่างงานได้ในทางหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรจะสร้างมาตรการจูงใจหนุนให้ภาคเอกชนเกิดการยอมรับให้กลุ่มพนักงานจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อสร้างกลไกของระบบเข้ามาเสริมและลดปัญหาการว่างงานได้ในทางอ้อม พร้อมกันนี้ ภาครัฐยังต้องเร่งสร้างระบบสวัสดิการรองรับให้กับปัญหาการเลิกจ้างงานที่จะเกิดขึ้นในปี 2552 อีกด้วย

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เดินหน้ากระทุ้งรัฐบาลเร่งจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างและนายจ้างอย่างเร่งด่วน โดยระบุว่า ขณะนี้คณะกรรมการบริหารองค์การแรงงานฯ ที่ประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง 7 แห่ง และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย 1 แห่ง มีสมาชิกประมาณ 250,000 คน ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น โดยมาตรการที่กระทรวงแรงงานออกมานั้นไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ จึงขอให้รัฐบาลเร่งจัดสรรงบประมาณส่วนกลางอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อป้องกัน แก้ไข ช่วยเหลือภาคแรงงาน โดยให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกองทุน และให้มีผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเข้าร่วมด้วย

นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวยอมรับว่าส ถานการณ์การเลิกจ้างขณะนี้เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเพิ่มเป็น 163 แห่ง ลูกจ้างตกงาน 18,249 คน จากเดิม 133 แห่ง ลูกจ้าง 15,056 คน มีแนวโน้มจะเลิกจ้างเพิ่มอีก 66 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 39,751 คน ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ

ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่า สาเหตุการปิดกิจการ และการเลิกจ้าง เนื่องมาจากประสบภาวะขาดทุน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และการสั่งซื้อ (ออเดอร์) ลดลง

นายชัยนันท์ อุโฆษกุล ประธานคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้หลายบริษัทโดยเฉพาะที่ส่งออกสินค้า ได้ประเมินแล้วว่า การส่งออกปีหน้าคำสั่งซื้อจะลดลง ทำให้ต้องลดต้นทุนการผลิต หนึ่งในการลดต้นทุน คือ ปลดคนงาน หรือลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้ภาครัฐและเอกชนต้องมาร่วมมือกันปรับตัวรับมือกับปัญหา เพื่อไม่ให้แผนการปลดคนงานต้องนำมาใช้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการปลดคนงานจริง แต่หากปล่อยให้สถานการณ์ส่งออกเป็นอย่างนี้ โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 1 และ 2 ปีหน้ายังชะลอตัว การปลดคนงานจะเกิดขึ้นแน่

โดยแนวทางการแก้ปัญหา คือ การให้ผู้ประกอบการสามารถกู้เงินได้จริงตามมาตรการช่วยเหลือที่รัฐกำหนด ขณะนี้มีผู้ประกอบการขอกู้เงินแต่ไม่ผ่านการอนุมัติ พบว่าแม้จะเป็นมาตรการช่วยเหลือ แต่เงื่อนไขการกู้ไม่ได้ต่างจากเงื่อนไขทั่วไปซ้ำยังเข้มงวดมากขึ้น

นายหิน นววงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ระบุว่า ขณะนี้กำลังมีสถานประกอบการจำนวนมากกำลังประสบปัญหาด้านธุรกิจ โดยยอดรวมในปี 2551 พบว่ามีสถานประกอบการในจังหวัดสมุทรปราการปิดตัวไปประมาณ 76 แห่ง และมีการปลดคนงานไม่ต่ำกว่า 5,000 คน โดยผู้ประกอบการด้านสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า รองเท้า ได้รับผลกระทบมากที่สุด

“โดยภาครวมแล้วต้องยอมรับจากภาพวะวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงมีส่วนทำให้ธุรกิจด้านส่งออกในหลายประเทศได้รับผลกระทบติดตามไปด้วย โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีการส่งออกมากเช่นกัน ทั้งด้านธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ข้าวสาร อุตสาหกรรมเหล็กและธุรกิจด้านสิ่งทอ เป็นต้น ดังนั้น น่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน”

ประธานสภาอุตฯ สมุทรปราการ ระบุว่า ภาครัฐต้องเร่งทำการสร้างงานและขายงานให้กับภาคธุรกิจ จนสามารถรองรับแรงงานของประชาชนในประเทศได้ ซึ่งจังหวัดสมุทรปราการเป็นเมืองอุตสาหกรรม รัฐบาลจะต้องเร่งเข้ามาดูแลช่วยเหลือด้านการ สร้างงานให้กับประชาชนโดยเร็วในขณะนี้ ก่อนที่ภาวะเศรษฐกิจโลกทรุดลงซึ่งจะส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการส่วนรวมโดยแน่ เนื่องจากจะไม่มีกำลังอัตราการจ้างแรงงานได้จนทำให้อาจจะเกิดวิกฤติด้านแรงงานในจังหวัดขึ้น

“รัฐบาลคงต้องเร่งมือมาเอาใจใส่พัฒนาด้านระบบขนส่ง ทั้งการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าเข้ามา การพัฒนาการสร้างงานให้แก่ประชาชนมากขึ้นกว่าเดิมก่อนที่ภาวะเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบ”

ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจการเงินโลก ทำให้ตลาดหลักสินค้าแปรรูปอาหารทะเลของไทยเริ่มชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตหนักรองจากสหรัฐฯ เริ่มส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ และชะลอการนำเข้าสิค้าจากไทย ส่งผลให้เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม และเจ้าของกิจการประมงขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ เริ่มลดกำลังการผลิต รวมถึงการหยุดผลิตสินค้าชั่วคราว ทำให้เกิดปัญหาในอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ

ผู้ประกอบการด้านส่งออกสินค้าอาหาร และโรงงานแปรรูป เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในภาคการประมง โรงงานแปรรูปอาหารทะเล โรงงานน้ำแข็ง ซึ่งมีแรงงานอยู่ในระบบกว่า 1 แสนคน อาจจะต้องว่างงานหรือเปลี่ยนอาชีพไป ถ้ารัฐยังไม่เร่งตื่นตัวหามาตรการรองรับให้ได้

ขณะนี้ สัญญาณอันตรายเกี่ยวกับการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปัญหาในอุตสาหกรรมประเภทนี้ ได้สะสมมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่เรื่องขาดแคลนวัตถุดิบ และปัญหาราคาน้ำมันแพงในช่วงต้นปี และช่วงปลายปีต้องมาเผชิญกับภาวะส่งออก อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก ทำให้แรงงานภาคประมงอาจได้รับผลกระทบหนักที่สุดในเร็วๆ นี้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวยอมรับว่า การส่งออกสินค้าอาหารในปี 2552 แนวโน้มเริ่มไม่สดใส เนื่องจากตลาดหลักทั้งสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าอาหารในปีหน้าจะเหลือเพียง 7.6 แสนล้านบาท ติดลบ 5% ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อุตสาหกรรมอาหารส่งออกติดลบ โดยกลุ่มที่จะมีปริมาณส่งออกลดลงมาก อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง และน้ำมันปาล์ม

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อการส่งออกอาหารของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิตลง อาจมีโรงงานหลายแห่งต้องปิดกิจการไป ขณะที่บางส่วนอาจเลิกจ้างงานหรือปรับลดชั่วโมงการทำงานลง จากข้อมูลของกรมโรงงานพบว่าในปี 2550 ไทยมีคนงานในอุตสาหกรรมอาหาร 1.37 ล้านคน จากโรงงานอาหารทั่วประเทศ 8,750 แห่ง

นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ที่มี นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีข้อสรุปว่าจะต้องเร่งการพิสูจน์สัญชาติและจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ ประมาณ 8 แสนคน พร้อมกันนี้ ยังเห็นชอบให้มีการกำหนดสถานที่พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าตามแนวชายแดนไทย-พม่า จำนวน 3 แห่ง คือ เมืองท่าขี้เหล็ก จ.เชียงราย เมืองเมียวดี จ.ตาก และ เกาะสองตรงข้าม จ.ระนอง

“จุดประสงค์หลัก ก็คือ แก้ไขปัญหาวิกฤตแรงงาน และต้องการทำให้แรงงานที่หลบหนีอยู่ใต้ดินเข้ามาสู่ระบบ เพื่อความมั่นคงและง่ายต่อการพิสูจน์สัญชาติ แต่ไม่ต้องกังวลจะมาแย่งงานคนไทย เพราะเราจะอนุญาตให้เฉพาะ 10 กิจการ เช่น ประมง เกษตรกร ปศุสัตว์ โรงสี พวกแบกหามเป็นระดับกรรมกร คนงานระดับล่าง ซึ่งเป็นงานที่ส่วนใหญ่คนไทย ไม่ทำอยู่แล้ว”

นางอุไรวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวอยู่ในระบบผ่อนผันทั้งสิ้น 501,570 คน และมีแรงงานพิสูจน์สัญชาติไปแล้ว 75,234 คน แยกเป็นลาว 41,378 คน กัมพูชา 33,856 คน ทั้งนี้การเปิดจดทะเบียนรอบใหม่นั้นจะมีเวลาให้แรงงาน 3 สัญชาติทำงานในประเทศไทยไปถึงวันที่ 23 ก.พ.2553 จากนั้นกระทรวงแรงงานก็จะเปิดนำเข้าแรงงานถูกกฎหมายทั้งหมด

นางอุไรวรรณ ยังกล่าวถึงการประชุมร่วมกับ นายโอฬาร เมื่อนวานนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งตนเองได้เสนอของบประมาณ 1,536 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการเลิกจ้างทั้งระบบ คาดว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือลูกจ้างไม่ให้ตกงานได้อย่างน้อย 60,000 กว่าคน ในจำนวนนี้เป็นการจ้างงานตามโครงการบัณฑิตอาสาจำนวน 7,000 คน นอกจากนี้ ยังมีการนำข้อเสนอขององค์กรแรงงานแห่งประเทศไทย ที่ขอตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ตกงานจำนวน 1,000 บาท เข้าที่ประชุมพิจารณาด้วย

“ขอให้ผู้ใช้แรงงานเบาใจได้ ได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกจังหวัดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งงบประมาณที่ขอไปจำนวน 1,536 ล้านบาทนี้เป็นการช่วยเหลือผู้ใช้แรงานโดยตรง ซึ่งเป็นเงินไม่มากแค่เพียง 1.5% ของงบประมาณ 100,000 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนั้นยังได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้แรงงานด้วย”

ขณะที่ นายโอฬาร กล่าวถึงกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นชะลอตัวว่า อาจส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานไทยที่ทำงานให้กับโรงงานของญี่ปุ่นที่ตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยไม่มากนัก เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นใช้เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งใช้เพียงแรงงานที่มีฝีมือและเชี่ยวชาญ ทำให้การปลดคนงานน่าจะมีน้อยมาก และยังไม่น่าจะกระทบต่อการส่งออก และการเจรจาขอกู้เงินจากญี่ปุ่น แต่ในทางกลับกันจะช่วยเร่งให้ญี่ปุ่นปล่อยกู้แก่ไทยเร็วขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น