xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตเลิกจ้างค้ำคอ รบ.ชาย สัปดาห์เดียวปิดแล้ว 8 แห่ง ลอยแพ 1.5 หมื่นคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผย สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการแจ้งปิดกิจการเพิ่มอีก 8 แห่ง ขณะที่แรงงานโดนลอยแพถูกเลิกจ้างกว่า 15,000 คน ยอดรวมปิดกิจการไปแล้ว 133 แห่ง และกำลังจ่อคิวปิดอีก 55 แห่ง ขณะที่นายกฯ “สมชาย” หายตัวเข้ากลีบเมฆ ไม่มีการเข้ามาดูแล หวั่นโยนเศษเงินขายผ้าเอาหน้ารอด เอกชนโวย สปส.ไม่เคยเหลียวแลแรงงาน 20 ล้านคน ทั้งที่โดนหักส่งเงินสบทบไปทุกเดือน

วันนี้ (10 พ.ย.) นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ล่าสุด มีสถานประกอบการปิดกิจการเพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้วอีก 8 แห่ง รวมเป็นตัวเลขทั้งสิ้น 133 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 15,056 คน มีแนวโน้มจะเลิกจ้างอีก 55 แห่ง และต้องเฝ้าระวังอีก 7 แห่ง โดยภาคเหนือมีแนวโน้มในการเลือกจ้างมากที่สุด 7 แห่ง อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมอิเลกทรอนิกส์ จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกเลิกจ้าง 3 หมื่น-1 แสนคน

นางอัมพร ระบุว่า ขณะนี้ตนเองได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จังหวัดที่อุตสาหกรรมหนาแน่น เช่น 5 จังหวัดปริมณฑล จับตาสถานการณ์เลิกจ้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประเภท เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ และ ผลิตชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์

สำหรับลูกจ้างหากพบสัญญาเปลี่ยนสภาพจ้าง อย่างเช่น การลดการผลิต ลดวันทำงาน จ่ายค่าจ้างไม่ตรงกำหนด แต่บางส่วนประกาศยุบกิจการชั่วคราว หรือย้ายสถานประกอบการ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด สายด่วน 1546 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปช่วยเหลือและคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 10 พ.ย.นี้ นัดหารือเพื่อพิจารณาวาระที่ กกร.จะนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 20 พ.ย.นี้ โดยสิ่งที่ทาง ส.อ.ท.เป็นห่วง คือ ยอดคำสั่งซื้อในอุตสาหกรรม (ออเดอร์) ที่เริ่มปรับลดลง โดยขณะนี้ออเดอร์ของภาคอุตสาหกรรมลดลงไปแล้ว 10-30% ซึ่งตรงนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการจ้างงานอย่างแน่นอน

แม้ว่าภาครัฐจะออกมายืนยันว่า ยังไม่มีปัญหาคนตกงาน แต่จากผลการสำรวจที่ ส.อ.ท.ได้ทำร่วมกับสมาชิก พบว่า มีหลายพื้นที่เลิกจ้างงาน อาทิ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่แจ้งมาว่าเลิกจ้างงานไปกว่า 1 แสนคน ซึ่งตรงนี้จะเป็นปัญหาต่อเนื่องในปีหน้า ที่คาดว่า จะมีแรงงานตกงานไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน

สำหรับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ต่างกับปี 2540 เพราะขณะนี้กำลังเผชิญกำลังซื้อที่ลดลงทั้งในและต่างประเทศ จึงส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคแรงงาน แต่เมื่อปี 2540 ปัญหาเกิดจากการเงินเป็นหลัก แต่การส่งออกยังไปได้ ภาคอุตสาหกรรมจึงยังยืนอยู่ได้ ดังนั้น หากภาครัฐยังมองว่าจะไม่มีคนตกงานนั้น คงมองโลกในแง่ที่ดีเกินไป ส่วนการลงทุนภาคอุตสาหกรรมคงชะลอลงช่วง 1-2 ปีนี้ เพราะคำสั่งซื้อลดลง

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาองค์การแรงงานประชุมหารือกัน และมีข้อสรุปจะนำเสนอต่อรัฐบาล โดยในวันที่ 10 พ.ย.จะไปยื่นหนังสือต่อนางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน ขอให้กระทรวงแรงงานนำเสนอต่อ ครม.วันที่ 11 พ.ย. เพื่อของบประมาณ 1,000 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนป้องกันส่งเสริมแก้ไขภาวะวิกฤตเศรษฐกิจภาคแรงงาน พร้อมกันนี้ ทางองค์การแรงงานเตรียมจะไปยื่นข้อเสนอนี้ต่อนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ เพื่อให้นายกฯ ช่วยผลักดันเรื่องนี้ด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ผู้ใช้แรงงานกว่า 20 ล้านคน ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ โดยเฉพาะงบกลางไม่เคยได้รับเลย กลับไปพุ่งเป้าที่กองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นเงินที่ผู้ประกันตนและนายจ้างสมทบไว้ใช้กรณีเจ็บป่วยทุพพลภาพ ชราภาพ แต่เวลาเกษตรกร หรือครูเกิดวิกฤต รัฐบาลก็ให้พักชำระหนี้หรือของบกลางมาช่วยตลอด
กำลังโหลดความคิดเห็น