xs
xsm
sm
md
lg

ออเดอร์หด-ส่งออกเดี้ยง จีดีพี Q3 วูบเหลือ 4% ธปท.เตือนสัญญาณร้ายศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศก.โลกชะลอตัว เริ่มพ่นพิษไปทุกหัวระแหง กำลังซื้อทั่วโลกหดวูบ กระทบสินค้าส่งออก ธปท.เผยสัญญาณร้าย Q3 ศก.ไทยเริ่มชะลอตัว ออร์เดอร์สินค้าหด "ส่งออก" เผชิญวิกฤตหนัก หลายแห่งประกาศปิดกิจการไปแล้ว คาดจุดต่ำสุดของภาวะศก. ปีหน้า อาจยืดยาวออกไปอีก

วันนี้ ( 31 ต.ค.) นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาวิกฤติการเงินโลกและปัญหาการเมืองในประเทศกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง โดย ธปท.คาดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปีนี้จะโตประมาณ 4% และผลกระทบจะรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงไตรมาส 4 กดดันให้จีดีพีต่ำกว่าไตรมาส 3 แน่นอน และจุดต่ำสุดของภาวะเศรษฐกิจ อาจจะขยายเวลามากขึ้น จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2552 อาจจะยาวไปถึงไตรมาส 2 แต่จะเริ่มดีในครึ่งปีหลัง 2552

โดยปัจจัยภายในและภายนอกมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจให้ลดต่ำลง ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดจากระดับ 47.9 มาอยู่ที่ 47.4 ดัชนีการลงทุนไตรมาส 3 ขยายตัวเหลือ 2.6% ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 7.7% ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน ส่วนภาคการท่องเที่ยวเมื่อวัดผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยน้อยลง โดยติดลบ 16.5% และผลกระทบจากปัญหาวิกฤติการเงิน ทำให้ภาคการส่งออกเดือนกันยายนเห็นผลกระทบชัดขึ้น แม้โดยรวมจะขยายตัว 19.5% แต่หากพิจารณาเฉพาะปริมาณส่งออกขยายตัวเพียง 5.3%

ส่วนการที่รัฐบาลตั้งงบประมาณกลางปี 2552 ขาดดุลแสนล้านบาทนั้น นางอมรา กล่าวว่า คงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง แต่ต้องดูรายละเอียดว่าจะมีการใช้จ่ายงบด้านใด หากเน้นการบริโภคจะกระตุ้นได้เพียงระยะสั้น แต่ถ้าเน้นด้านงบลงทุนโดยเฉพาะเร่งโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ดำเนินการล่าช้าจะมีผลระยะยาวมากกว่า อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะตั้งงบประมาณแบบขาดดุล แต่รัฐต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพราะหากเบิกจ่ายไม่ได้เหมือนปีที่แล้วที่มีปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง แรงกระตุ้นของรัฐบาลก็จะไม่เต็มที่

"จีดีพี ไตรมาส 3 โตได้ 4% กว่าๆ ตามที่ประมาณาการไว้ ตอนนี้ผลกระทบวิกฤตการเงินโลก กระทบเศรษฐกิจไทยแล้ว จากการส่งออกที่ไตรมาส 3 ชะลอกว่าไตรมาส 2 การลงทุนภาคเอกชนไม่ได้เร่งตัวตามที่คาดไว้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาการเมือง และปัจจัยนอกประเทศทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนชะลอตัว แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นฐานจากปีก่อนที่สูงด้วย เพราะเศรษฐกิจปี 50 ครึ่งปีหลังโตได้ดี"

**ออเดอร์หด Q4 นั่งตบยุง "ส่งออก" เผชิญวิกฤต

ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า โรงงานจำนวนมากที่ผลิตเพื่อการส่งออก กำลังขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก เนื่องจากธนาคารเริ่มเข้มงวดเรื่องสินเชื่อ ขณะที่ยอดออเดอร์ปรับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก เฟอร์นิเจอร์ อิเล็กทรอนิกส์ รองเท้า เสื้อผ้า และภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยพบว่าในไตรมาสที่ 4 แทบจะไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามาเลย

ขณะที่ ส.อ.ท.คาดว่าตัวเลขออร์เดอร์ช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จะปรับลดลงประมาณ 20% และแนวโน้มไปถึงช่วงไตรมาสแรกปี 2552 น่าจะปรับลดลง 30-40%คาดว่าจะทยอยปรับลดลงต่อเนื่องแน่ หากรัฐบาลไม่มีมาตรการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ออกมา

"ยอดคำสั่งซื้อในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้เริ่มเห็นลดลงชัดเจนแล้ว บางส่วนก็เริ่มลดเวลาการทำงานล่วงเวลา (โอที) และลดวันทำงานลง โดยขณะนี้เริ่มลดไปแล้ว 15-20% และคาดว่าไตรมาส 1/52 น่าจะลดลงอีก 30-40% ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาการเมืองในประเทศที่ต้องแก้ให้จบ หากยังไม่จบเชื่อว่าสิ้นปีหน้าเศรษฐกิจไทยพังแน่ เพราะจะตอบไม่ได้เลยว่าออร์เดอร์จะขายให้ใคร"

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน มาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลต่อกำลังซื้อ และทำให้ความต้องการสินค้าลดลง 2.ผลกระทบวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ทำให้ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะธุรกิจส่งออก

**โรงงาน จ่อคิวปิดกิจการ-เลิกจ้าง

โดนวานนี้ พนักงานบริษัท แอลพีเอส บิสซิเนส กรุ๊ป จำกัด และบริษัท เรือนวรรณ บิสซิเนส เมเนเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาช่วงผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกให้แก่บริษัท เคซีอี จำกัด (มหาชน) นิคมอุตสาหกรรม ลาดกระบัง จำนวน 300 คน นำโดย น.ส.เบญจลักษณ์ อัศวโกวิทวงศ์ พากันมานั่งชุมนุมที่ใต้ถุนอาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงเจรจาเร่งรัดนายจ้างจ่ายค่าชดเชย หลังถูกเลิกจ้างจำนวน 780 คน

น.ส.เบญจลักษณ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้ติดประกาศแจ้งให้พนักงานมาทำงานในวันที่ 29 ต.ค.เป็นวันสุดท้าย โดยไม่ได้แจ้งให้รู้ล่วงหน้ามาก่อน ที่สำคัญการเลิกจ้างครั้งนี้นายจ้างไม่ได้พูดถึงค่าชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมาย ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะได้ค่าชดเชยหรือไม่ จึงพากันมาปักหลักประท้วงจนกว่าจะได้รับค่าชดเชยครบตามกฎหมาย

**ป้าอุ ว๊าก เลิกจ้างล้านคนเกินจริง

ขณะที่ นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ไม่ได้ลงมาพบปะกับกลุ่มพนักงานแต่อย่างใด แต่กลับให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเลิกจ้างว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะแสดงถึงการเลิกจ้างงานนับล้านคนตามที่หลายฝ่ายออกมาคาดการณ์ จึงไม่อยากให้เกิดความวิตกกังวลเกินเหตุ

นายอุไรวรรณ กล่วว่า กระทรวงฯ ได้เตรียมมาตรการรับมือไว้แล้ว เช่น การเตรียมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างให้ตรงกับที่ตลาดต้องการ จัดหาตำแหน่งงานรองรับซึ่งขณะนี้ยังขาดแคลนมากถึง 1.2 แสนตำแหน่ง รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายลูกจ้างและนายจ้าง โดยลดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม

ทั้งนี้ อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เลิกสร้างความตระหนกเรื่องตัวเลขการเลิกจ้างมากจนเกินเหตุ และขอให้ทุกสถานประกอบการว่าจ้างแรงงานไทยเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ผู้ใช้แรงงานไม่ควรเลือกงาน เพื่อรับมือกับปัญหาที่เป็นวิกฤตของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น