xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตลามคนไทยหนี้นอกระบบปูด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนี้นอกระบบปูด คนไทยชักหน้าไม่ถึงหลัง แห่กู้ รูดบัตร จำนำของ เพิ่มขึ้น ชี้ปีหน้าเสี่ยงหนักกว่านี้ เหตุคนจะหันกู้ใต้ดินเพิ่มขึ้น หลังแบงก์เข้มปล่อยกู้ เผยล่าสุดหนี้ใต้ดินมีสัดส่วน 20% แล้ว หากขยับเพิ่มเป็น 30% เมื่อไร ปัญหาสังคมเกิดตามแน่ แนะรัฐจัดโครงการสินเชื่อช่วยรากหญ้าด่วน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการก่อหนี้นอกระบบของประชาชนกำลังปรับเพิ่มขึ้น โดยผลสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส.ค.-ต.ค.2551 มีประชาชนถึง 64.2% ประสบปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย และมีถึง 47% ต้องดึงเงินออมมาใช้ อีก 35.8% ต้องกู้ยืม และ 17% ขอความช่วยเหลือจากญาติหรือขายทรัพย์สิน เนื่องจากขณะนี้มีค่าครองชีพ อัตราดอกเบี้ยสูง ราคาน้ำมันแพงแต่รายได้ลดลง ทำให้คาดว่าต่อจากนี้แนวโน้มประชาชนจะหันไปกู้เงินนอกระบบมาใช้จ่ายมีมากขึ้น เพราะการกู้เงินจากสถาบันการเงินจะทำได้ยากหลังจากสภาพคล่องในระบบการเงินกำลังตรึงตัว

“คนส่วนมากเริ่มเกิดปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำให้คนต้องหันไปกู้เงิน ก่อหนี้บัตรเครดิต หรือนำสินค้าเข้าโรงจำนำเพิ่ม ถ้าปีหน้าเศรษฐกิจไม่ดี มีการปลดคนงาน อาจทำให้ประชาชนมีเงินไม่พอผ่อนชำระ และต้องหันไปกู้เงินนอกระบบมาใช้หนี้แทน หากเป็นเช่นนี้จะกลายเป็นสัญญาณอันตรายต่อการบริโภคภาคประชาชนทันที ดังนั้น รัฐบาลต้องหาเงินอัดฉีดเงินเข้าระบบ ช่วยเหลือสินเชื่อภาคประชาชนด้วย เพราะเวลานี้จะหวังพึ่งการกู้ผ่านสถาบันการเงินทำได้ยาก และแต่ละธนาคารก็เพิ่มเข้มงวดปล่อยสินเชื่อบุคคลมากขึ้น”

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัจจุบันหนี้นอกระบบจะเป็นสัดส่วน 20% ของหนี้ทั้งระบบประมาณ 8 ล้านล้านบาท หากอัตราเพิ่มรวดเร็วถึง 30% ถือว่าน่าวิตก อาจเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมและภัยสังคมตามมา และที่สำคัญประชาชน 68% ยังเห็นว่าประเทศไทยมีบรรยากาศมืดมนแต่หาทางออกได้ แต่อีก 22.9% เห็นว่ามืดมนไม่มีทางออก อีก 8.7% เห็นว่าสับสนหาทิศทางไม่ได้ และมี 0.4% ที่เห็นว่ามีอนาคตสดใส

นอกจากนี้ เห็นด้วยที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาสภาพคล่องด้วยการให้ธนาคารเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือธนาคารออมสิน มาปล่อยกู้ช่วยดูแลสภาพคล่องในระบบ เพราะตอนนี้เงินในระบบตรึงตัวมากและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และประชาชน ขณะที่การกู้เงินทำโครงการเมกกะโปรเจกต์ ควรหาแหล่งเงินทุนนอกประเทศมากกว่าในประเทศ เพื่อไม่ให้ดูดเงินในระบบมากเกินไป และรัฐไม่ควรออกพันธบัตรเพราะจะทำให้การดูแลอัตราดอกเบี้ยในระบบทำได้ยาก
กำลังโหลดความคิดเห็น