xs
xsm
sm
md
lg

สบน.ปรับแผนสนองสุชาติ คนไทยแบกหนี้เพิ่มแสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สบน.ปรับแผนก่อหนี้รับนโยบาย "สุชาติ" ขาดดุลเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ระบุสามารถทำได้ตามกรอบกฎหมายสูงสุด 3.5% ของจีดีพี ไม่ส่งผลกระทบตามกรอบความยั่งยืนด้านการคลัง เผยสภาพคล่องในตลาดเหลือเฟือ รองรับแผนกู้เงินของรัฐได้อีกมาก แจงตลาดปัจจุบันเป็นตลาดของรัฐที่มีหน้าที่ออกพันธบัตร เหตุเอกชนไม่กู้และนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น

จากการที่นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง เตรียมขยายกรอบการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 ลงในงบกลางปีเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาทจากเดิมที่ตั้งไว้ 2.45 แสนล้านบาท นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.จะต้องปรับแผนการก่อหนี้ใหม่อีกครั้งเพื่อรองรับกับการกู้เงินเพิ่มตามนโยบายดังกล่าว เนื่องจากแผนก่อหนี้เดิม 2.45 แสนล้านบาทนั้น ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เมื่อมีการเพิ่มวงเงินอีก 1 แสนล้านจึงต้องพิจารณาแผนการก่อหนี้ใหม่อีกครั้ง โดยในเบื้องต้นพบว่าการทำงบประมาณขาดดุลจาก 2.5% ของจีดีพี เพิ่มเป็น 3.5% ของจีดีพีสามารถทำได้ตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งการเพิ่มงบประมาณขาดดุลในสัดส่วนเท่าใดของจีดีพีนั้นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบเป็นส่วนสำคัญคือ ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของรัฐบาลต่องบประมาณโดยในแต่ละปีซึ่งต้องไม่เกิน 15% ของงบประมาณในปีนั้นๆ ตามกรองความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งในปัจจุบันภาระการชำระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ระดับ 10% เท่านั้นจึงสามารถเพิ่มงบประมาณขาดดุลได้ที่ 3.5% ตามเพดานที่กำหนดไว้

“การขาดดุลงบประมาณสามารถทำได้สูงสุดตามเพดานที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ที่ 3.5% ซึ่งหากการขาดดุลงบประมาณนั้นสามารถทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในอัตราที่น่าพอใจ แต่หากอัดเม็ดเงินงบประมาณผ่านการขาดดุลไปแล้วผลออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจจะต้องมีการลดเพดานการขาดดุลลง” นายจักรกฤศฎิ์กล่าว

นายจักรกฤศฎิ์กล่าวต่อว่า สำหรับช่องทางในการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อนำมาใช้จำนวน 1 แสนล้านบาทนี้ สบน.คาดว่าไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด เนื่องจากสภาพตลาดในปัจจุบันทั้งระดับอัตราดอกเบี้ยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนส่งผลให้การระดมทุนเป็นตลาดของพันธบัตรรัฐบาลที่มีความมั่นคงมากที่สุด ซึ่งจากการขายพันธบัตรรัฐบาลล็อตแรกของปีงบประมาณ 2552 นั้นมียอดจองเข้ามาสูงถึง 3.5 เท่าของยอดขายทั้งหมดจึงไม่น่าจะมีปัญหาด้านการระดมทุนแต่อย่างใด

ซึ่งจากงบประมาณขาดดุลในปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 2.45 แสนล้านนั้นมีการออกตราสารที่กระทรวงการคลังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกู้เงินทุกประเภททั้ง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรออมทรัพย์และตั๋วเงินคลังให้สอดคล้องตามระยะเวลาของการใช้เงิน โดยวงเงินก่อหนี้อีก 1 แสนบาทที่รัฐบาลเพิ่มขึ้นนั้นก็สามารถนำไประดมทุนได้ทุกประเภทเช่นกัน ตามความต้องการและระยะเวลาทีรัฐบาลต้องการใช้เงิน

“ตลาดมีสภาพคล่องที่สูงมากและมีความต้องการนำเงินมาลงที่พันธบัตรรัฐบาลที่มีความปลอดภัยสูงตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะใช้เงินเมื่อใดและครั้งละเท่าใดเราก็พร้อมที่จะเป็นผู้กู้เงินให้ตามที่ต้องการได้ ซึ่งสัดส่วนในการกู้ยืมในรูปแบบใดบ้างนั้นอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาว่าเหมาะสมจะออกในรูปแบบใดบ้าง ถ้าหากรัฐบาลต้องการเงินเร็วก็สามารถแบ่งลงในตารางการออกพันธบัตรประจำปีได้ทันทีแต่เชื่อว่าเงินก้อนนี้เป็นงบกลางปีก็น่าจะใช้ในช่วงกลางปีเป็นต้นไป ดังนั้นในระยะนี้จึงยังไม่ต้องเร่งออกมากนัก” นายจักรกฤศฎิ์กล่าว

นายจักรกฤศฎิ์กล่าวว่า สำหรับการกู้เงินของรัฐบาลเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาทในปีนี้คงไม่ส่งผลต่อตลาดโดยรวมโดยมีนัยมากนัก เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยทั้งโลกอยู่ในทิศทางปรับลดลง รัฐบาลในฐานะผู้ออกพันธบัตรก็สามารถดึงต้นทุนให้ถูกลงได้และแม้ว่าทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐ แต่รัฐบาลไทยเองก็ยังสามารถออกพันธบัตรได้เนื่องจากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ค่อนข้างน้อย

โดยสาเหตุที่ไทยรับผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้เกิดจากหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ประเทศไทยได้เร่งพัฒนาตลาดพันธบัตรในประเทศจนเข้าขั้นมาตรฐานและสัดส่วนการกู้เงินจากต่างประเทศของทั้งภาครัฐและเอกชนก็เหลือเพียง 11% เท่านั้น เมื่อผลกระทบจากกฤตลุกลามไปทั่วโลกจึงทำให้เงินที่ลงทุนในประทศต่างๆ ถูกถอนกลับไปหมดจะเกิดปัญหาการชำระเงินคืนเจ้าหนี้ต่างชาติจนประเทศขาดสภาพคล่อง

“ตอนนี้เอกชนก็ไม่กู้เงินในตลาดส่วนรายที่กู้ได้ก็ไม่ยอมกู้ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกโรงทำเพื่อให้ระบบมันเดินไปได้ และสภาพในตอนนี้ก็เหมาะสมที่รัฐบาลจะทำได้เพื่อนำสภาพคล่องในระบบที่มีอยู่นี้ไปใส่ให้กับเอสเอ็มแอลเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเคลื่อนไปได้จากเงินงบประมาณในส่วนนี้” นายจักรกฤศฎิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น