ตลาดหุ้นโตเกียวทรุดต่ำสุดรอบ 5 ปี ดัชนีนิกเกอิปิดร่วง 881.06 จุด หลังดาวโจนส์ร่วงหลุดระดับ 9,000 จุด คาดวิกฤตสินเชื่อลาม บริษัทรถยนต์-ประกัน-พลังงาน นักลงทุนตื่น "เอสแอนด์พี" ลั่นหั่นเครดิต "จีเอ็ม" ขณะที่กองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาฯ ของญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ประสบภาวะล้มทั้งยืน "ยามาโตะ ไลฟ์ อินชัวรันซ์" ยื่นล้มละลาย ล่าสุด ไอเอ็มเอฟ-ธนาคารกลางทั่วโลก-กลุ่มจี 7 ถกด่วนรับมือ
วันนี้ (10 ต.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวในญีปุ่นปิดตลาดร่วงลงหนักกว่า 800 จุดในการซื้อขายวันนี้ โดยดัชนีดิ่งลงกว่า 9% และแตะที่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์การเงินที่ลุกลามไปทั่วโลก รวมทั้งดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ดิ่งลงกว่า 600 จุดเมื่อคืนนี้ และค่าเงินดอลลาร์ที่ร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยน
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเกอิร่วงลง 881.06 จุด หรือ 9.62% ปิดที่ 8,276.43 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดรอบ 5 ปี ( 28 พ.ค. 2536) ถือเป็นการดิ่งลงมากที่สุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แบล็คมันเดย์ในปี 1987 ขณะที่ตลาดวิตกมากขึ้นว่า วิกฤตการเงินครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย
บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นโตเกียวเต็มไปด้วยความตื่นตระหนกตั้งแต่ หลังจากดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงต่ำกว่าระดับ 9,000 จุดและปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี เมื่อคืนนี้ เนื่องจากกระแสความวิตกกังวลที่ว่าบริษัทผลิตรถยนต์ บริษัทประกัน และบริษัทพลังงาน อาจเป็นเหยื่อวิกฤตสินเชื่อรายต่อไป
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กของยังได้รับปัจจัยลบจากการที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ขู่ว่าจะปรับลดอันดับเครดิตบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดดิ่งลง 678.91 จุด หรือ 7.33% แตะที่ 8,579.19 จุดเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนกระหน่ำขายหุ้นหลังจากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ระบุว่า เอสแอนด์พี กำลังทบทวนอันดับเครดิตของจีเอ็ม และบริษัทในเครือคือ จีเอ็มเอซี แอลแอลซี เพื่อพิจารณาว่าสมควรจะปรับลดอันดับเครดิตหรือไม่ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่ามีโอกาสถึง 50% ที่จีเอ็มและจีเอ็มเอซีจะถูกลดอันดับเครดิตภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้ หลังจากยอดขายรถยนต์ของจีเอ็มตกต่ำมากในแถบอเมริกาเหนือ
นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า กองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่นแห่งหนึ่งประสบภาวะล้มละลาย และต่อมาภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก ก็ยิ่งมืดมนมากขึ้น หลังจากบริษัทยามาโตะ ไลฟ์ อินชัวรันซ์ยื่นล้มละลาย
ทั้งนี้ "ยามาโตะ ไลฟ์ อินชัวรันซ์" ต้านทานแรงกดดันจากปัญหาวิกฤตการเงินไม่ไหว ต้องยื่นเรื่องต่อศาลกรุงโตเกียว ขอประกาศภาวะล้มละลาย โดยนับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกในรอบ 7 ปีของญี่ปุ่น ที่ขอให้ศาลพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลาย
นายทาเคโอะ นากาโซโนะ ประธานบริษัท ยามาโตะฯ ซึ่งออกมากล่าวแสดงความเสียใจต่อบรรดาลูกค้า เผยว่า ราคาหุ้นทั่วโลกดำดิ่งอย่างหนัก เพราะวิกฤติหนี้เน่าในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ ทำให้บริษัทของเขา ซึ่งมีพนักงานราว 1,000 คน ต้องประสบภาวะขาดทุนรวมสูงถึง 269,000 ล้านเยน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นการขาดทุนจากมูลค่าหุ้นที่ตกต่ำมากถึง 11,000 ล้านเยน หรือประมาณ 3,663 ล้านบาท
**ปิดตลาดหุ้นอินโดฯ ตลาดหุ้นเอเชียร่วงระนาว
เจ้าหน้าที่กำกับตลาดหลักทรัพย์ของอินโดนีเซีย กล่าวในวันนี้ โดยระบุว่า ตลาดหุ้นอินโดนีเซียจะปิดทำการซื้อขายในช่วงบ่ายวันนี้ หลังจากระงับการซื้อขายเช้านี้ ขณะที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทร่วงลงอย่างหนักอีกครั้งเมื่อคืนนี้ และตลาดหุ้นเอเชียดิ่งลงอีกในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นอินโดนีเซียร่วงลงกว่า 20 % ในสัปดาห์นี้ส่งผลให้ตลาดต้องสั่งพักการซื้อขายเมื่อวันพุธ และพฤหัสบดี
นายยูซุฟ คัลลา รองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าตลาดหุ้นจะสามารถเปิดทำการซื้อขายได้ในสัปดาห์หน้า โดยโบรกเกอร์เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ตลาดหุ้นจะร่วงลงอย่างหนักหากมีการเปิดทำการซื้อขายในช่วงเช้าวันนี้ นายจอห์น เทจา หัวหน้าฝ่ายขายหุ้นจาก บล.ซิปทาดานา กล่าวว่า ตลาดอาจเปิดตลาดร่วงลงถึง 10 %
ดัชนีคอมโพสิตฟิลิปปินส์ ปิดตลาดวันศุกร์ (10 ต.ค.51) ที่ระดับ 2,097.80 จุด ปรับลดลง -190.64 จุด เปลี่ยนแปลง -8.3%
ดัชนีหุ้น VNI ตลาดเวียดนาม ปิดตลาดวันศุกร์ (10 ต.ค.51) ที่ระดับ 379.06 จุด ปรับลดลง -18.62 จุด เปลี่ยนแปลง -4.91%
ดัชนี BSE SENSEX 30 ตลาดหุ้นอินเดีย เปิดตลาดวันศุกร์ (10 ต.ค.51) ที่ระดับ 10,632.27 ปรับลดลง -696.09 จุด เปลี่ยนแปลง -6.55%
**คลัง-ธ.กลางทั่วโลก ถกด่านรับมือวิกฤต
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีคลังและเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางจากทั่วโลก ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกในระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค.นี้ ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 (จี-7) ก็จะประชุมถกวิกฤติเศรษฐกิจในวันนี้ด้วย
โดยรายงานของ ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ธนาคารกลาง , กระทรวงการคลัง และเจ้าหน้าที่ด้านกฎระเบียบจาก 26 ประเทศ นัดประชุมกันในวันนี้ เพื่อหารือถึงหนทางในการรับมือกับภาวะวิกฤตสินเชื่อ ซึ่งไอเอ็มเอฟระบุในแถลงการณ์ว่า การประชุมครั้งนี้ดำเนินการโดยไอเอ็มเอฟ และที่ประชุมเสถียรภาพการเงิน (เอฟเอสเอฟ) โดยเอสเอฟเอสเป็นกลุ่มผู้นำธนาคารกลางและเจ้าหน้าที่ควบคุมกฎระเบียบการเงินจากทั่วโลก ขณะที่นายเฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุมฯ
นายจอห์น ลิปสกี รองผู้อำนวยการอันดับหนึ่งของ ไอเอ็มเอฟ ระบุในแถลงการณ์ว่า การประชุมในครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมกระบวนการในปัจจุบันในการศึกษาบทเรียนจากภาวะปั่นป่วนวุ่นวายในขณะนี้ และส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างประเทศ รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานควบคุมตลาดของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่
ขณะที่นายมาริโอ ดราจี ประธาน เอฟเอสเอฟ และผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลี กล่าวว่า ความร่วมมือกับประเทศตลาดเกิดใหม่นับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาแนวทางจัดการอย่างเข้มแข็งในการรับมือกับภาวะตึงเครียดในระบบการเงิน โดยเราจะกระชับความร่วมมือกับไอเอ็มเอฟ และกลุ่มประเทศจี 20 ในการสร้างแนวทางแบบพหุภาคีในการปฏิรูประบบ
ทั้งนี้ กลุ่มจี 20 ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศตลาดเกิดใหม่ มีกำหนดจะประชุมกันในวันเสาร์นี้ที่กรุงวอชิงตัน โดยจะเริ่มประชุมณ เวลา 05.00 น.ของวันอาทิตย์ตามเวลาประเทศไทย โดยกระทรวงการคลังบราซิลซึ่งเป็นประธานกลุ่มจี-20 ในปัจจุบันเป็นผู้แจ้งเรื่องนี้เมื่อวานนี้
แหล่งข่าวจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 ประเทศ (จี 7) กล่าวว่า เอฟเอสเอฟ มีกำหนดจะยื่นเสนอข้อแนะนำชุดหนึ่งต่อกลุ่มจี 7 ในวันนี้ เกี่ยวกับหนทางในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดที่กำลังผันผวนในปัจจุบัน โดยรายงานนี้มีแนวโน้มว่าจะพิจารณาถึงเหตุการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายทางการเงินในตลาดโลกครั้งล่าสุดด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เอฟเอสเอฟ เคยยื่นข้อเสนอแนะหลายประการในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ในเรื่องวิธีการปรับปรุงระบบการเงิน
**ญี่ปุ่นแนะ "ไอเอ็มเอฟ" ตั้งกองทุนฉุกเฉิน
นายโซอิชิ นาคากาวา รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นพร้อมช่วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในการเข้าช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสินเชื่อโลก
นายโซอิชิ ระบุว่า ถ้ามีอะไรที่ไอเอ็มเอฟสามารถทำได้ ผมก็อยากให้พวกเขาทำด้วยความยืดหยุ่น โดยญี่ปุ่นจะให้ความร่วมมือกับไอเอ็มเอฟ ซึ่งรวมถึงการจัดสรรเงินทุนให้ พร้อมระบุว่า ผลกระทบจากวิกฤตสินเชื่อกำลังลุกลามไปทั่วโลก และเพื่อบรรเทาผลกระทบลูกโซ่ให้เหลือน้อยที่สุด ญี่ปุ่นก็พร้อมจะเป็นผู้นำในการช่วยสนับสนุนประเทศต่างๆด้วยการจัดสรรเงินทุนให้ และผมก็อยากจะขอความร่วมมือจากประเทศอื่นในการประชุมจี 7 ในวันนี้ด้วย ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ 9.95 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนมีทุนสำรอง 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นจำนวนมากที่สุดในโลก
หนังสือพิมพ์นิกเกอิรายงานก่อนหน้านี้ว่า ญี่ปุ่นจะเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนใหม่ภายใต้การสนับสนุนของไอเอ็มเอฟ ซึ่งจะระดมทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของประเทศต่างๆเพื่อช่วยสนับสนุนเงินกู้ฉุกเฉินให้แก่ประเทศเกิดใหม่ที่กำลังประสบวิกฤติการเงิน โดยญี่ปุ่นจะยื่นข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมของรมว.คลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจากกลุ่มจี 7 ที่กรุงวอชิงตัน ในวันนี้ ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่ประเทศเกิดใหม่ขนาดกลางและขนาดเล็กไม่ใช่สมาชิกในกลุ่มจี-7 หรือประเทศใหญ่
ภายใต้โครงการนี้ ไอเอ็มเอฟจะขอให้ประเทศที่จะได้รับเงินทุนให้ร่างแผนเพื่อกระตุ้นภาคการเงินครั้งใหม่ ซึ่งรวมถึงการตัดบัญชีหนี้เสีย พร้อมเชื่อว่า เงินกู้ฉุกเฉินครั้งใหม่นี้จะได้รับการสนับสนุนเงินทุนราว 2 แสนล้านเยน หรือประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ ที่สมาชิกไอเอ็มเอฟสมทบให้ รวมทั้งเงินกู้จากทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น , จีน และตะวันออกกลาง