ดัชนีภาคบ่ายรูดลงหนักกว่า 8% ตามทิศทางตลาดหุ้นเอเชีย หลังสัญญาณ ศก.สหรัฐฯ ชะลอตัวอย่างชัดเจน โบรกฯ แนะจับตาตัวเลข “จีดีพี” อังกฤษ-สหรัฐฯ ต่ำกว่าคาดการณ์ อาจทำให้มีแรงเทขายหนัก พร้อมระบุ หลายปัจจัยต้องจับตาสัปดาห์หน้า
ภาวะตลาดหุ้นไทย วันนี้ (24 ต.ค.) ดัชนีภาคบ่ายยังคงร่วงลงต่อเนื่องจากภาคเช้า โดยเมื่อเวลา 14.35 น.ดัชนีอยู่ที่ระดับ 432.54 จุด ลดลง 32.70 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -7.03% เป็นไปตามทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาค สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ที่กำลังลุกลามเริ่มเข้าสู่ส่วนอื่น จนนำไปสู่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
นายวีระชัย ครองสามสี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเช้าที่ผ่านมาปรับตัวแรง ทั้งนี้ มองว่า เป็นผลมาจากวานนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลงแรงและหลายตลาด ทำจุดต่ำสุดใหม่จากความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยจากวิกฤตภาคการเงินในสหรัฐฯ จะทำให้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทรุดลงมาก ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ย่ำแย่ได้สะท้อนความตกต่ำของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยจากการรายงานตัวเลขว่างงานในอเมริกาล่าสุดเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดมาที่ระดับ 15,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 478,000 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ ยังมีการประกาศลดพนักงานของบริษัทต่างๆ ลง เช่น สถาบันการเงินชั้นนำ Goldman Sachs ประกาศลดพนักงาน 3,260 ตำแหน่ง และ GM วางแผนลดคนเพิ่มเติมอีก ด้าน Microsoft รายงานผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาด และยังเตือนว่ายอดขายและกำไรของทั้งปีจะต่ำกว่าคาดการณ์ด้วย เนื่องมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนของตลาดหุ้นไทยวานนี้ปิดทำการจึงไม่รับรู้ข่าว ในช่วงเปิดทำการวันนี้จึงมีแรงเทขายออกมาอย่างหนัก โดยเฉพาะแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่อัดอั้นจากวานนี้
ส่วนในช่วงบ่ายวันนี้ การที่ดัชนีหุ้นไทยร่วงหนักกว่า 7% เป็นเพราะสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน ผ่านทางตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้จะมีการประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของอังกฤษ ซึ่งนักเศรษศาสตร์คาดว่าจะออกมาลดลงในรอบหลายปี อันจะทำให้ตลาดหุ้นยุโรปเปิดมาปรับลงแรงต่อ ประกอบกับสัปดาห์หน้าจะมีการเปิดเผยตัวเลขจีดีพีของสหรัฐฯ ในไตรมาส3 ที่มีคาดการร์ว่าจะออกมาติดลบ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อทิศทางการลงทุนอย่างมาก และจะกระตุ้นให้เกิดแรงขายออกมาหนัก และดัชนีดาวโจนส์อาจหลุดแนวรับสำคัญที่ 8,000 จุด
นอกจากนี้ ปัจจัยการเมืองในประเทศ ช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งจะมีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) อาจนำไปสู่การปะทะที่รุนแรง และการส่งจดหมายถึงสื่อทั่วโลกของ พ.ต.ท.ทักษิ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อโต้แย้งคำสั่งศาลในคดีที่ดินรัชดาอาจจุดประเด็นความขัดแย้งในรุนแรงขึ้นอีกรอบ จึงมีความเป็นไปได้ที่ดัชนีจะปรับลงทำจุดต่ำสุดใหม่ แต่ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าการปรับลงจะไปถึงระดับใด เพราะปัจัยลบที่รุมเร้าอยู่ อาจมีความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ทุกขณะ
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ตลาดหุ้นยุโรปร่วงลงกว่า 5% ในช่วงแรกของการซื้อขายวันนี้ ในขณะที่นักลงทุนรู้สึกวิตกกับผลประกอบการที่ซบเซา ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารและน้ำมันดิ่งลงจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดเกิดใหม่ โดยเมื่อเวลา 14.15 น.ตามเวลาไทย ดัชนี FTSE Euro first 300 ร่วงลงถึง 5.4% มาอยู่ที่ระดับ 825.41 จุด หลังจากแตะจุดต่ำสุดที่ 824.79 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางปี 2003
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น.(ตามเวลาของไทย) ตลาดหุ้นยุโรปและดัชนีล่วงหน้าสหรัฐปรับตัวลดลงอย่างหนัก ดัชนี Dow Jones Stoxx 600 ของยุโรป ร่วง 6.1% ส่วนดัชนีล่วงหน้า Standard & Poor's 500 ร่วง 6.2% ราคาหุ้นพีเอสเอ เปอร์โยต์ ซีตรอง ร่วง 11% , หุ้นเจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป ลดลง 7.4% ส่วนหุ้นแอร์ฟรานซ์ เคแอลเอ็ม กรุ๊ป ลดลง 6%
นายคริสเตียน แกททิเกอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์จาก Bank Julius Baer & Co.กล่าวว่า การเทขายอย่างหนักในระดับดังกล่าวเห็นได้ไม่บ่อยนัก เรายังไม่สามารถบอกอะไรได้มากในตอนนี้ โดยเชื่อว่า การที่ตลาดหุ้นยุโรปและสัญญาล่วงหน้าสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังมีรายงานว่าเศรษฐกิจอังกฤษ หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 16 ปีในไตรมาส 3 และได้คาดการณ์ว่าผลประกอบการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นยุโรปอาจลดลง 4.4% ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีว่าจะขยายตัวได้กว่า 11%
ส่วนในย่านเอเชีย ตลาดหุ้นญี่ปุ่นทรุดตัวลงถึง 9.6% ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดในรอบกว่า 5 ปี เนื่องจากนักลงทุนกระหน่ำขายหุ้นอย่างตื่นตระหนก อันเป็นผลมาจากความวิตกกังวลที่ว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินที่มีจุดเริ่มต้นในสหรัฐฯ จะฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้ถดถอยลง สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีนิกเคอิทรุดฮวบลง 952.58 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -9.38% ปิดที่ 9,203.32 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.2546
ตลาดหุ้นฮ่องกงทรุดตัวลงกว่า 8% สู่ระดับปิดต่ำสุดในรอบ 4 ปีวันนี้ ขณะที่หุ้นเอชเอสบีซี ซึ่งเป็นธนาคารชั้นนำของยุโรป ร่วงลงจากความกังวลเกี่ยวกับสัญญาณที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ทั้งนี้ ดัชนีฮั่งเส็งปิดดิ่ง 1,142.11 จุด หรือ 8.30 % สู่ระดับ 12,618.38 ซึ่งพบว่าดัชนีฮั่งเส็งได้ร่วงลง 40% ในช่วง 8 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยปรับตัวลง 12.8% ในสัปดาห์นี้ และทรุดลง 54% แล้วในปีนี้
สำหรับตลาดหุ้นไทย เมื่อเวลา 16.06 น.ดัชนีอยู่ที่ระดับ 427.74 จุด ลดลง 37.50 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -8.06% มูลค่าการซื้อขายกว่า 10,000 ล้านบาท
ล่าสุด ดัชนีปิดตลาดช่วงบ่ายที่ระดับ 432.87 จุด ลดลง 32.37 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -6.96% มูลค่าการซื้อขาย 12,614.50 ล้านบาท โดยพบว่ามีแรงซื้อเข้ามาในช่วงท้ายการซื้อขาย เพื่อพยุงดัชนี