xs
xsm
sm
md
lg

"โกร่ง" ชี้วิกฤตการเงินสหรัฐฯ ซีเรียส! ความเสียหายยังซุกซ่อนอีกเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดร.โกร่ง ชี้วิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ซีเรียส! ไม่อยากบอกข่าวร้าย หวั่นผลกระทบขึ้น ดบ.สกัดเงินเฟ้อ ทำตลาดเงินปั่นป่วน "ดร.ซุป" คาดกระทบการค้าโลก ชี้มาตรการ 7 แสนล้านดอลลาร์ แค่จิตวิทยาระยะสั้น โบรกฯ ฟันธงวิกฤตครั้งนี้ ไม่ดับได้ในเร็ววัน ชี้ความเสียหายซุกซ่อนอยู่อีกเพียบหวั่นเม็ดเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ เอาไม่อยู่

วันนี้ ( 4 ก.ย.) ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช กล่าวถึงวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ โดยระบุว่า ตนเองไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ในขณะนี้ เนื่องจาก สถานการณ์ซีเรียส และไม่อยากนำข่าวร้ายมาบอก

ดร.วีรพงษ์ ยังกล่าวให้เหตุผลถึง สาเหตุที่ไม่ต้องการออกมาเตือนว่า เนื่องจาก การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะก่อนหน้านี้ นายวีรพงษ์ มีความเห็นไม่ตรงกันกับ ธปท. โดยเห็นต่างว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ควรปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

**ดร.ซุป เชื่อวิกฤตยังไม่จบ กระทบการค้าโลก

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) มองว่า แผนกอบกู้วิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐ น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ที่อยู่ในภาคธุรกิจสถาบันการเงินดีขึ้น และสัปดาห์หน้าตลาดหุ้นสหรัฐและทั่วโลกจะขานรับกับแผนนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าแผนดังกล่าวจะยุติวิกฤตการณ์ได้ทันที

"ผมมองว่า วิกฤตครั้งนี้จะยังไม่หยุด แม้จะมีแผนกอบกู้วิกฤติสถาบันการเงินแล้ว ไม่แน่ว่าปัญหาจะจบที่ตรงไหน เพราะปัญหาไม่อยู่ที่อสังหาริมทรัพย์อย่างเดียว แต่กำลังลุกลามไปสู่ภาคสินเชื่อผู้บริโภคอื่นๆ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ต่างๆ และสินเชื่อเพื่อการบริโภค ซึ่งวันนี้สินเชื่อบัตรเครดิตสหรัฐกำลังมีปัญหา และลุกลามไปถึงภาคอื่น น่าจะยาวนานถึงปีหน้า"

ดร.ศุภชัย กล่าวว่า วิกฤติดังกล่าวกระทบต่อการค้าของโลกพอสมควร เพราะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินแพงขึ้น ซึ่งจะทำให้ใช้เงินเพื่อทำการค้าแพงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการซ้ำเติมการค้าโลกที่ชะลอตัวอยู่แล้วก่อนหน้านี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่คงไม่ถึงขั้นที่ทำให้การค้าโลกหดตัวเหมือนเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียเมื่อ 11 ปีที่แล้วที่การค้าโลกหดตัว 10%

"ผมมองว่า การค้าโลกคงชะลอลงบ้าง แต่คงไม่หดตัวเหมือนวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ครั้งนี้คงไม่ร้ายแรงเท่าตอนนั้น เพราะการค้าเอเชียยังเดินตามปกติ และการปกป้องตลาดก็น้อยลงมาก"

ดร.ศุภชัย ยอมรับว่า ผลกระทบต่อไทยโดยตรงเป็นภาคการส่งออก เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกคิดเป็นเกือบครึ่งของการขยายตัวของรายได้ประชาชาติ แต่ไทยโชคดีที่มีการกระจายตลาดมาหลายปีแล้ว ทำให้เราไม่ได้พึ่งพาตลาดสหรัฐเหมือนสมัยก่อน เรามีการกระจายตลาดไปยุโรปและเอเชีย ส่วนประเภทสินค้าที่จะกระทบน่าจะเป็น สินค้าพวกสิ่งทอ เครื่องหนัง และอาหารกระป๋อง ที่ไปสหรัฐและยุโรปค่อนข้างมาก

**โบรกฯ คาดปัญหายังถูกซุกไว้อีกเพียบ

นายกมลชัย พลอินทวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกยังไม่พ้นวิกฤต โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ นักลงทุนวิตกกังวลกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลงต่อเนื่อง สะท้อนผ่านทางตัวเลขยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี และยอดสั่งซื้อโรงงานปรับลดลงมากกว่าคาด 4% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี ทำให้ตลาดมีความกังวลว่าถึงแม้แผนกู้วิกฤติภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ จะได้รับการอนุมัติให้นำมาใช้ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีแรงขายลดความเสี่ยงออกมา

นอกจากนี้ความเสียหายของสถาบันการเงินจำนวนมาก ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐอาจจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนักและเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นต่อเนื่องเพื่อสำรองเงินสดรักษาสภาพคล่อง

โดยสถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลก เมื่อวันศุกร์ ดัชนี สเตรทไทม์: ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ปิดตลาดที่ระดับ 2,297.12 จุด ลดลง 66.48 จุด หรือ -2.81 % ส่วน ดัชนี ฮั่งเส็ง: ตลาดหุ้นฮ่องกง ปิดตลาดที่ระดับ 17,682.40 จุด ลดลง 528.71 จุด หรือ -2.90 % ดัชนี นิกเกอิ: ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดตลาดที่ระดับ 10,938.14 จุด ลดลง 216.62 จุด หรือ -1.94 % ดัชนี CAC-40: ตลาดหุ้นฝรั่งเศส เวลา 16:38 น. (ตามเวลาประเทศไทย) อยู่ที่ระดับ 3,949.74 จุด ลดลง 13.54 จุด

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์หน้า คงต้องจับตาดูความเชื่อมั่นแผนการอนุมัติวงเงิน7 แสนล้านดอลลาร์ น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่กระตุ้นจิตวิทยาการลงทุนทั่วโลกได้ในช่วงสั้นๆ โดยอาจส่งเสริมให้มีแรงซื้อเก็งกำไรเข้ามาผลักดันให้ดัชนีฯ ปรับขึ้นไปถึงแนวต้านที่ 610 จุด อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกยังไม่หมดไปในทันที เพราะยังไม่แน่ชัดว่าความเสียหานที่แท้จริงจากวิกฤตสถาบันการเงินเป็นจำนวนเท่าใดและแผนวงเงิน 7 แสนล้านจะเพียงพอต่อการยับยั้งความเสียหายอันใหญ่หลวงหรือไม่

**ดาวโจนส์เมินแผนฯ ปิดดิ่งลง 157.47 จุด

โดยเมื่อคืนนี้ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ปิดร่วงลง 157.47 จุด หรือ 1.50% แตะที่ 10,325.38 จุด ขณะที่ดัชนี &P 500 ปิดลบ 15.05 จุด หรือ 1.35% แตะที่ 1,099.23 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดร่วง 29.33 จุด หรือ 1.48% แตะที่ 1,947.39จุด ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 6.5 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตรา 2 ต่อ 1

ทั้งนี้ นักลงทุนได้เทขายหุ้นในช่วงท้ายของวัน หลังจากที่เข้าซื้อขายกันอย่างคึกคักจนดัชนีไต่ขึ้นไปกว่า 300 จุด เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบต่อมาตรการดังกล่าวและประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ได้รีบลงนามบังคับใช้เป็นกฏหมายทันที แต่หลังจากนั้นนักลงทุนต่างส่งแรงซื้อขายหุ้นกลุ่มบลูชิพจนแกว่งตัวผันผวนขึ้นลงอย่างรุนแรง

โดยร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่ได้รับการแก้ไขแล้วนั้น ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มค้ำประกันวงเงินฝากธนาคารที่ได้รับการค้ำประกันโดยบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) จากเดิมที่ 100,000 ดอลลาร์ เป็น 250,000 ดอลลาร์ มีเป้าหมายเพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้ฝากเงินว่าเงินฝากของประชาชนจะได้รับความคุ้มครองและเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการถอนเงินออกไปเป็นจำนวนมาก และจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในมาตรการลดหย่อนภาษีมูลค่า 1.49 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไป

นายแฮงค์ สมิธ นักวิเคราะห์จากฮาเวอร์ฟอร์ด อินเวสเม้นท์กล่าวว่า สหรัฐเผชิญกับวิกฤตสินเชื่อที่เลวร้ายมานาน ซึ่งนักลงทุนมองว่ามาตรการฟื้นฟูภาคการเงินนี้อาจช่วยบรรเทาสถานการณ์ตึงเครียดในตลาดสินเชื่อได้บ้าง แต่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จึงจะเห็นผล และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบหลังจากที่ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขจ้างงานเดือนก.ย.ที่ร่วงลงอย่างหนักถึง 159,000 ตำแหน่ง ซึ่งรุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 100,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานย่ำฐานทรงตัวที่ระดับ 6.1% ตามคาด

ทั้งนี้ หุ้นเวลล์ส ฟาร์โกตกลง 1.7% ขณะที่หุ้นซิตี้กรุ๊ปดิ่งลงอย่างหนัก 18%
กำลังโหลดความคิดเห็น