ตลาดหุ้นไทย ลุ้นทางการสหรัฐฯ อนุมัติแผนแก้วิกฤตสถาบันการเงิน มูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่โบรกเกอร์ ชี้ หากทางการไฟเขียวจะช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นทั่วโลก พร้อมแนะนำให้ชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจนก่อน หรือขายทิ้งหากราคาหุ้นขึ้น ด้านบล.บัวหลวง ระบุ การเมืองไม่นิ่งกดดันนักลงทุนไทยขนเงินหนีไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น พร้อมประเดิมล็อตแรก 500 ล้านบาท
บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ นักลงทุนยังคงต้องติดตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นเอเชียว่าจะทางไหน โดยมีปัจจัยหลักๆ คือ เรื่องของมาตรการแก้วิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาคองเกรส หลังจากมีการเจรจากับเกือบตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และส่งผลให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคผันผวนในตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน
นางจิตติมา อังสุวรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟาร์อีสท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ คาดว่า จะไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวมากนัก โดยนักลงทุนจะให้ความสำคัญกับมาตรการแก้วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ว่า จะผ่านการพิจารณาจากสภาคองเกรสหรือไม่ หากผ่านการอนุมัติจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นเอเชีย ซึ่งจะต่อเนื่องถึงหุ้นไทย แต่หากแผนดังกล่าวไม่ผ่านการอนุมัติจะส่งผลด้านลบต่อภาพรวมการลงทุน
“ขณะนี้นักลงทุนควรชะลอการลงทุน เพื่อรอดูความชัดเจนก่อน โดยให้แนวรับที่ 603-610 จุด และแนวต้านที่ 620 จุด”
นางสาวจิตรา อมรธรรม ผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ SYRUS เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยค่อนข้างเงียบเหงา จากข่าวการที่สภาคอมเกรสของสหรัฐฯ ยังไม่อนุมัติมาตรการแก้ไขปัญหาทางการเงิน กดดันให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมา เพื่อรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนก่อน
ขณะที่สัปดาห์นี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยคงจะปรับตัวในกรอบแคบๆ ท่ามกลางแนวรับที่ 603-610 จุด และแนวต้านที่ 620 จุด โดยปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ ผลการพิจารณามาตรการแก้ปัญหาทางการเงินของสหรัฐฯ ส่วนหุ้นที่น่าลงทุนจะเป็นหุ้นกลุ่มส่งออกและสินค้าทางเกษตร เนื่องจากยังมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี
ด้านนักวิเคราะห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดัชนีอาจแกว่งตัวในกรอบแคบในสัปดาห์นี้ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ยังติดตามประเด็นที่สภาคองเกรสจะผ่านความเห็นชอบ เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินช่วยเหลือภาคการเงินของสหรัฐฯ หรือไม่ ขณะเดียวกันยังต้องติดตามปัจจัยภายในประเทศร่วมด้วย โดยเฉพาะการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่
“กลยุทธ์การลงทุนนักลงทุนควรขายหุ้นออกมา เมื่อราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือซื้อเมื่อราคาปรับตัวลดลง ประเมินแนวรับที่ 610-600 จุด แนวต้าน 624-628 จุด”
ขณะที่บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับฐานต่อเนื่องจากสัปดาห์ทีผ่านมา โดยมีปัจจัยหลักคือ การพิจารณาแผนฟื้นฟูภาคการเงินสหรัฐฯ มูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนกันยายนของกระทรวงพาณิชย์ และตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การปรับตัวของตลาดหุ้นในภูมิภาค และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ทั้งนี้ได้ประเมินแนวรับที่ 614 และ 600 จุด และแนวต้านที่ 626 และ 666 จุด ตามลำดับ
นายวิวัฒน์ วิชิตบุญญเศรษฐ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล) บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศผ่านบริษัทหลักทรัพย์ และกองทุนส่วนบุคคล ว่า ขณะนี้บริษัทมีลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลจำนวน 10 ราย มูลค่ากองทุนประมาณ 500 ล้านบาท สนใจที่จะออกไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมที่จะไปลงทุนต่างประเทศได้ทันที่ แต่ต้องขึ้นอยู่กับจังหวะและราคาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ บริษัทมีลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลทั้งหมดจำนวน 150 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 6,000 ล้านบาท กองทุนส่วนบุคคล 6,000 ล้านบาท
“กองทุนส่วนบุคคลของบริษัทขณะนี้มีขนาด 12,000 ล้านบาท ขณะนี้นักลงทุนสนใจไปลงทุนต่างประเทศมูลค่า 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือนั้นเป็นการลงทุนในประเทศ โดยลงทุนในตราสารหนี้สัดส่วน 80% และลงทุนในตราสารทุน 20%”
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า การลงทุนในต่างประเทศถือเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยจะได้กระจายความเสี่ยงในการลงทุนจากที่มีสินค้าที่ให้ลงทุนได้มากขึ้น เนื่องจากตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อย เพราะมีขนาดเล็ก และหุ้นขนาดใหญ่ที่จดทะเบียน เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับหุ้นในต่างประเทศ ขณะเดียวกันประเทศไทยมีปัญหาทางด้านการเมือง ทำให้การลงทุนต่างประเทศมีความน่าสนใจในการลงทุนมากกว่าการลงทุนในประเทศ
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า การลงทุนในต่างประเทศในช่วงเริ่มต้นนี้บริษัทแนะนำให้ลูกค้ามีการลงทุนในสินค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ จากภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกที่มีความผันผวนสูง โดยสินค้าที่น่าสนใจลงทุนจะเป็นหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ซื้อขายในต่างประเทศ และมีผลตอบแทนสูง เช่น หุ้นกู้ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง มีผลตอบแทน 8% เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และไม่ต้องเสียภาษีเมื่อรวมกับดอกเบี้ยแล้วจะให้ผลตอบแทน 10% ซึ่งจะมีความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งบริษัทก็จะแนะนำทำประกันความเสี่ยง
นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ เองก็ยังน่าสนใจ อาทิ หุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น ที่มีอัตราผลตอบแทนค่อนข้างสูง พันธบัตรรัฐบาลออสเตรเลีย ที่มีผลตอบแทนสูงถึง 5-6% รวมถึงตลาดหุ้นจีน หลังจากดัชนีปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 2,000 จุด หรือปรับตัวลดจากปลายปี 2550 ถึง 68% PE แค่ 11 เท่า ขณะที่เศรษฐกิจของจีนยังมีแนวโน้มเติบโตถึง 8% เป็นต้น
“การแนะนำลงทุนต่างประเทศของบริษัทนั้นไม่จำเป็นที่จะลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ของบริษัทไทยที่ไปเสนอขายในต่างประเทศ แต่ที่แนะนำให้ลงทุนเพราะ มีผลตอบแทนที่สูง ซึ่งถือว่าเป็นโอกาส แม้เครดิตเรทติ้งของหุ้นกู้ไทยจะไม่สูง แต่ มีความมั่นคงสูงกว่าแบงก์ในอเมริกา และสินค้าที่น่าสนใจลงทุนเช่นหุ้นกู้ของบริษัทญี่ปุ่น และพันธบัตรรัฐบาลออสเตรเลีย ทองคำ และหุ้นต่างประเทศสนใจจากที่มีการปรับตัวลดลงมาก แต่จะต้องระมัดระวังจากที่ปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯยังไม่จบ” นายวิวัฒน์ กล่าวว่า
สำหรับในปี 2552 บริษัทตั้งเป้าจะมีลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลไปการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มจาก 500 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาท เพราะยังมีหุ้นที่สามารถลงทุนได้อีกกว่า 100 บริษัท ดังนั้นหากปัจจัยการเมืองในประเทศยังไม่คลี่คลายจะทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
“ผลตอบแทนการลงทุนต่างประเทศคาดว่าจะเฉลี่ยปีละ 15% ซึ่งถือเป็นอัตราผลตอบแทนที่ดี แต่ถ้าหากผลตอบแทนไม่ถึง 15% ก็ไม่น่าสนใจที่จะไปลงทุนต่างประเทศ”