xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดการลงทุนจาก ตปท.ปีนี้ ชะลอตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด การลงทุนจาก ตปท.ปีนี้ ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน คาดแรงกดดันทางการเมือง วิกฤตสถาบันการเงิน เป็นตัวแปรที่สำคัญ

วันนี้ (22 ก.ย.) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า จากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และคาดว่า ผลกระทบจากการเมืองอาจทำให้การลงทุนรวมในปีนี้ชะลอตัวลง เนื่องจากนักลงทุนอาจยังมีความไม่แน่ใจต่อทิศทางการเมืองตลอดจนเสถียรภาพและนโยบายของรัฐบาลในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่ารวม 294,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 26.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในด้านจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนยังมีระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยโครงการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่าการลงทุนปรับลดลงกว่าร้อยละ 43.7 ส่วนการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน พบว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุนมีการลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก ประมาณร้อยละ 21.3 และร้อยละ 45.8 ตามลำดับ การปรับลดของการอนุมัติให้การส่งเสริม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหยุดชะงักของกระบวนการอนุมัติในช่วงที่ตำแหน่งประธานกรรมการบีโอไอว่างเว้น

สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศที่ชะลอตัวลง และยังคงเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปี อาจส่งผลให้การขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยรวมของปีนี้ มีโอกาสสูงที่จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการตั้งไว้ 600,000 ล้านบาท โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนในระยะข้างหน้านอกเหนือจากปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งกระทบต่อความน่าลงทุนของไทยในระยะสั้นแล้ว การลงทุนจากต่างประเทศในไทยยังอาจได้รับปัจจัยลบจากปัญหาวิกฤตการเงินระลอกใหม่ของสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินทั่วโลก อีกทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลกอาจส่งผลต่อสถานะผลประกอบการของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการชะลอตัวของการลงทุนจากต่างประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การเมืองของไทยมีความชัดเจนมากขึ้น โดยสามารถมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศ ก็คาดว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะมีแรงขับเคลื่อนจากภายในประเทศที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของประเทศยังเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุน ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในระยะต่อๆ ไป น่าจะยังคงมุ่งเน้นการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย ส่วนปัจจัยที่จะมีผลต่อการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว ได้แก่ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง นโยบายของรัฐบาล ทิศทางของนโยบายอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาพลังงานทางเลือก ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร พลังงาน ปิโตรเคมี และยานยนต์ จึงควรมีการวางเป้าหมายนโยบายของอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศและแผนการส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว นอกจากนี้ รัฐควรให้ความสำคัญกับการเร่งการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ รถไฟรางคู่และการลงทุนในโครงการอื่นๆ เพื่อพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ การลงทุนด้านการเกษตรและการปรับปรุงระบบชลประทาน ซึ่งการลงทุนของรัฐเหล่านี้จะมีผลช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งจากในและต่างประเทศในระยะต่อไปให้กลับมาฟื้นตัวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น