xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ประเมินเศรษฐกิจหดตัว ส่งออก-ลงทุนซบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุภาพรวมเศรษฐกิจ 7 เดือนยังขยายตัวได้ตามแรงขับเคลื่อนของการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่ยังขยายตัวได้สูง แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงภาคการลงทุนเอกชนที่ยังซบเซาเนื่องจากขาดความเชื่อมั่น ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของธปท.ล่าสุดเดือนก.ค.ภาคการลงทุนยังชะลอลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในช่วง 7 เดือนแรกของปีว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจของไทยล่าสุดเดือนกรกฎาคมที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)นั้น พบว่าการบริโภคภาคเอกชนมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.3 ในเดือนก.ค. เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.1 ในเดือนมิ.ย. นำโดย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ ยอดขายรถจักรยานยนต์ยังคงได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ภาคเกษตรกร ส่วนการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภคและปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงก็ตาม สำหรับปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ยังคงหดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน แม้ว่าราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศจะปรับลดลงมากในเดือนก.ค. ก็ตาม ในทางกลับกัน ปริมาณจำหน่ายพลังงานทดแทน อาทิ ก๊าซ LPG และ NGV ขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 27.8 และร้อยละ 270.5 ในเดือนก.ค. หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 18.7 และร้อยละ 234.8 ในเดือนก่อนหน้าตามลำดับ

ด้านการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยการลงทุนขยายตัวเพียงร้อยละ 3.9 ในเดือนก.ค. เทียบกับร้อยละ 4.2 ในเดือนมิ.ย. โดยยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ 29.3 ในเดือนก.ค. ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 20.9 ในเดือนมิ.ย. เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากราคาดีเซลที่เป็นเชื้อเพลิงหลักยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง ขณะที่ ยอดขายปูนซีเมนต์ยังคงหดตัวลง หดตัวร้อยละ 15.0 ในเดือนก.ค. ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 16.7 ในเดือนมิ.ย.ตามภาวะหมวดก่อสร้างที่ยังคงซบเซา อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าทุน ยังคงขยายตัวในระดับสูงได้ต่อเนื่องในเดือนก.ค.โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 ในเดือนก.ค. จากร้อยละ 21.0 ในเดือนมิ.ย.

สำหรับการส่งออกมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 43.9 ในเดือนก.ค. เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.5 ในเดือนมิ.ย. โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวทางด้านปริมาณสินค้าส่งออกเป็นสำคัญ โดยปริมาณการส่งออกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 24.2 ในเดือนก.ค. เร่งขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 12.4 ในเดือนมิ.ย. ทั้งนี้ การส่งออกในหมวดสินค้าเกษตร ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง

ขณะที่การนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 53.4 ในเดือนก.ค. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 31.5 ในเดือนมิ.ย. โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าเป็นสำคัญ โดยปริมาณการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 28.8 ในเดือนก.ค. เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 ในเดือนมิ.ย. ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในเดือนก.ค.ขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด โดยในหมวดเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 97.3 ในเดือนก.ค. เร่งขึ้นจากร้อยละ 67.8 ในเดือนมิ.ย. ส่วนการนำเข้าในหมวดสินค้าทุน และวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นเช่นกัน โดยขยายตัวร้อยละ 40.0 และร้อยละ 56.7 ในเดือนก.ค. เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.5 และร้อยละ 28.7 ในเดือนมิ.ย. ตามลำดับ

ทั้งนี้ ภาพรวมในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 ได้สะท้อนการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในภาพรวม โดยมีแกนหลักอยู่ที่การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2550 และการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 26.1 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 17.2 ในปี 2550 สำหรับการลงทุน แม้ว่าจะสามารถขยายตัวร้อยละ 5.1 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 แต่ก็เป็นไปในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนล่าสุด (เม.ย.-ก.ค.)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา แต่หากประเมินภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2551 จะพบว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอาจมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.8 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยปัจจัยที่ควรจับตา ได้แก่ ประเด็นทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนในระยะถัดไป ขณะที่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ก็อาจเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นสำหรับภาคส่งออกของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น