“ลูกกรอก” เตรียมใช้ พ.ร.บ.รถยนต์ ปี 2522 เล่นงานรถติดก๊าซ ขีดเส้นตาย 15 วัน ต้องแจ้งเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิง ดีเดย์ 1 ส.ค.นี้ ขณะที่ ผู้บริหาร ปตท.ชี้เป้ารถติดก๊าซแอลพีจี ทะลุ 1 ล้านคันแล้ว
นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเจ้าของรถจำนวนมากที่นำรถไปติดตั้งอุปกรณ์เพื่อใช้ก๊าซเอ็นจีวี และก๊าซแอลพีจีแทนน้ำมัน โดยไม่ได้มาแจ้งเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงกับกรมการขนส่ง ทางบก ทำให้ทางราชการไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้อง และควบคุมดูแลความปลอดภัยได้อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ ปัจจุบันความต้องการใช้ก๊าซในรถยนต์มีเพิ่มขึ้นมาก จึงอาจทำให้การติดตั้งก๊าซ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซแอลพีจีของศูนย์บริการบางแห่งไม่ได้มาตรฐาน กรมการขนส่งทางบก จึงออกประกาศนายทะเบียนให้เจ้าของรถที่เปลี่ยนมาใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมัน ต้องนำรถเข้ารับการตรวจสภาพเพื่อแจ้งเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผ่านการตรวจและทดสอบ โดยจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2551 นี้เป็นต้นไป
นายชัยรัตน์ กล่าวว่า หากฝ่าฝืนทางกรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 36 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
สำหรับสถิติจำนวนรถที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงทั่วประเทศมีเพียง 309,064 คัน เป็นรถที่ใช้ก๊าซ แอลพีจีจำนวน 256,083 คัน และใช้ก๊าซเอ็นจีวีจำนวน 52,981 คัน (ณ วันที่ 30 มิ.ย.2551) แต่จากการตรวจสอบข้อมูลจากผู้ติดตั้ง และรายงานการตรวจและทดสอบอุปกรณ์ พบว่า มีปริมาณสูงกว่าจำนวนผู้มาแจ้งเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงมากขึ้น ซึ่งตามกระแสข่าวมีกว่า 1 ล้านคัน
นายชัยรัตน์ กล่าวถึงการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ โดยระบุว่า เจ้าของรถต้องศึกษาวิธีการใช้และดำเนินการตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยของทางราชการอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน และไม่เกิดปัญหาต่อเจ้าของรถและผู้ใช้รถใช้ถนน
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์และพัฒนาองค์กร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสถานการณ์การใช้เชื้อเพลิงในประเทศขณะนี้ พบว่า ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมันเป็นก๊าซธรรมชาติมากขึ้น อย่างเช่น รถยนต์ที่ใช้ก๊าซแอลพีจีมีกว่า 1,000,000 คัน ส่งผลให้การใช้น้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลลดจำนวนลง
อย่างไรก็ตาม สำหรับก๊าซเอ็นจีวีนั้น แม้ประชาชนจะใช้เพิ่มขึ้นแต่น้อยกว่าแอลพีจี เนื่องจากความไม่พร้อมของสถานีบริการก๊าซที่ยังไม่ทั่วถึง รวมถึงความไม่พร้อมของระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ภายในประเทศ ซึ่งหากมีการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าตามแผนของรัฐบาล จะช่วยให้ประชาชนเลิกใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้น แล้วหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนในประเทศแทน ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศ จะลดลงได้มากกว่านี้หลายเท่าตัว