ผู้จัดการรายสัปดาห์ - * ผ่ายุทธศาสตร์รพ.เอกชนไทย
* ปั้นแบรนด์ให้ร้อนแรงในมุมมองใหม่ที่น่าสนใจกว่าเดิม
* จับตา “แบรนด์”แต่ละค่าย จะเปลี่ยนไปแบบไหน และอย่างไร
* เผยแผนปฏิบัติการเหนือชั้นดึงเทรนด์ไอทีเข้ามาสร้างจุดขาย
ด้วยความที่โรงพยาบาลเอกชนไทยเป็นธุรกิจที่สร้างเม็ดเงิน สร้างงานให้กับประเทศในแต่ละปีไม่น้อยควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว และกำลังจะเป็นธุรกิจที่มีอัตราก้าวหน้าเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายประเทศในแถบเอเชียพยายามจะแข่งขันเพื่อแย่งชิงกลุ่มเป้าหมายให้มาประเทศของตนให้มากที่สุด โดยเฉพาะในย่านอาเซียนที่นับวันการแข่งขันยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ละประเทศพยายาม Position และนิยามมุมมองประเทศของตนให้เป็นที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็น ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจึงถูกปฏิวัติเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ยากจะคาดเดาในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
ชื่อเสียงของธุรกิจโรงพยาบาลไทยโด่งดังกระฉ่อนไปทั่วโลกหลังจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเร่งปรับปรุงบริการและนำนวัตกรรมการรักษาพยาบาลแนวใหม่มาใช้พร้อมโชว์ศักยภาพเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดตัวเลขยอดการเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงสิ้นปี 2550 ที่ผ่านมาพบว่ามีลูกค้าต่างประเทศเข้าใช้บริการกว่า 1.54 ล้านราย คิดเป็นรายได้เข้าประเทศกว่า 41,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนแต่ละค่ายต่างพัฒนาอาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงเพิ่มงบประมาณด้านบุคลากรและอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อรองรับธุรกิจที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น นี่ไม่รวมถึงชื่อเสียงของทีมแพทย์ไทยในด้านการรักษาเฉพาะทางและเอกลักษณ์ของการให้บริการแบบไทยๆได้สร้างความเชื่อมั่นอย่างสูงในหมู่ผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาดที่เข้มข้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่ายผู้ให้บริการด้านรักษาพยาบาลภายในประเทศไทยต่างตระหนักดีว่าจะต้องสร้างรูปแบบแนวทางการตลาดใหม่ๆขึ้นมา หวังที่จะรองรับการแข่งขันในสมรภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปโรงพยาบาลเอกชนไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่งขันทั่วโลกกับธุรกิจให้บริการรักษาพยาบาล
ขณะที่ประเทศในแถบภูมิภาคเดียวกันก็พยายามสร้างจุดขายในด้านนี้กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จึงมีหลากหลายทางเลือกที่ผู้ต้องการรับการรักษาจะเข้าไปใช้บริการประเทศใด ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่แล้วจะต้องรักษามาตรฐานให้สม่ำเสมอและพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองให้ทันต่อเทคโนโลยีทันสมัยตลอดเวลา ซึ่งในปัจจุบันถือได้ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยเห็นได้จากมีจำนวนตัวเลขชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับการรักษาเพิ่มขึ้นทุกปี
อย่างไรก็ตาม ไทยยังถือเป็นผู้นำของธุรกิจนี้ในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญกอปรกับคนไทยมีใจรักบริการ และมีนิสัยเอื้ออาทร นอกจากนี้ไทยยังมีข้อได้เปรียบในด้านการเป็นเมืองท่องเที่ยว โดยผู้ที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยนอกจากจะพักรักษาตัวแล้วยังสามารถท่องเที่ยวได้ต่อเนื่อง โดยไทยมีบริการ สปา และบำบัดสุขภาพที่ได้มาตรฐานรองรับ ซึ่งสามารถนำเสนอควบคู่ไปกับแพกเกจการรักษาพยาบาลได้
ดังนั้นการใช้ยุทธวิธีแนวรุกที่จะบุกเข้าจับตลาดด้านต่างๆจึงมีเกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง และนับวันจะทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
ปรากฏการณ์ของวงการโรงพยาบาลไทย ในรอบปีที่ผ่านมา ผู้บริหารแต่ละแห่งพยายามอย่างยิ่งที่จะเดินหน้าจัดแคมเปญในรูปแบบต่างๆอยู่ตลอดเวลาและต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านั้นมีการใช้เรื่องของการนำเทคโนโลยีใหม่ๆพร้อมกับการเปิดบริการศูนย์รักษาเฉพาะทางมาเป็นกลยุทธ์กรุยทางสร้างความตื่นเต้นทางการตลาดได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นการค้นหา เครื่องมือทางการตลาดใหม่ๆมากระตุ้นถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจแบบนี้
ก่อนหน้านั้นโรงพยาบาลในระดับเกรดเอบวกอย่างบำรุงราษฎร์ที่เน้นกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการโฆษณาออกสื่อทางทีวีที่ใช้ความรับผิดชอบต่อหน้าที่มาเป็นจุดขาย ขณะที่โรงพยาบาลพญาไทก็ยิงสปอตตามสื่อต่างๆไม่เว้นแม้แต่บนรถไฟฟ้าที่มีผู้โดยสารใช้บริการต่อวันเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าแสนคน
ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนอย่าง สมิติเวช สุขุมวิท อดรนทนไม่ไหวถึงกับลงทุนลงเนรมิตสื่อโฆษณาสร้างอิมเมจของตัวเองออกมาแจกจ่ายทั้งในรูปแบบแมกกาซีนหรือวารสารเพื่อหวังกระตุ้นให้ลูกค้าได้รู้จัก แถมยังมีโฆษณาชุดใหม่ที่นับวันกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้จะหยิบนำวิธีการเหล่านี้มาใช้กันมากขึ้นซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งของการกระตุ้นตลาดและสร้างภาพที่ได้ผลในระดับหนึ่ง
ทั้งหมดทั้งปวงเป็นความชาญฉลาดของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละค่ายที่ถูกงัดออกมาต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง หวังแย่งชิงตลาดที่มีกำลังซื้อบนการแข่งขันทางธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีทันสมัยผสมผสานกับงานบริการมาเป็นจุดขาย
สอดคล้องกับที่ แพทย์หญิงสมสิริ สกลสัตยาทร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิท เปิดเผย “ผู้จัดการรายสัปดาห์”ว่า ในอนาคตอันใกล้ไอทีจะเป็นระบบที่ถูกนำมาสร้างเป็นเทรนด์ใหม่ให้กับโรงพยาบาลในเครือสมิติเวช โดยเน้นในรูปแบบที่เรียกว่า ไฮเทค+ไฮทัช ภายในโรงพยาบาล ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะทำให้สมิติเวชเป็น connected hospital เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนให้เห็นถึงจุดแข็งของโรงพยาบาลในด้านความเป็นผู้นำทางคุณภาพและนวัตกรรมทางการแพทย์และบริการ ไปพร้อมกับสร้างความรู้สึกว่าที่นี่เป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง จึงพัฒนาระบบต่างๆ ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนกรุงเทพฯ
“หลังจากได้นำระบบนี้มาใช้ก็ได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะต้องยอมรับว่าความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายและจิตใจส่งผลต่อการรักษาเท่ากัน ดังนั้น ถ้าได้มีการบำบัดทางจิตใจไปพร้อมๆ กับร่างกาย ก็จะทำให้คนไข้หายป่วยเร็วขึ้น”พญ.สมสิริ กล่าว
ขยายฐานรุกตลาด!...
การเปิดศูนย์รักษาเฉพาะทางของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดพร้อมที่จะต่อยอดทางธุรกิจให้สัมฤทธิ์ผล ปัจจุบันจึงเห็นโครงการใหญ่ๆของธุรกิจโรงพยาบาลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รวมไปถึงการปรับกลยุทธ์ด้านการตลาดควบคู่ไปพร้อมๆกับการขยายแตกไลน์ธุรกิจไปตามชุมชนต่างๆเพิ่มขึ้น
ขณะที่เครือข่ายที่มีอยู่ในมือทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดก็เป็นแขนเป็นขาที่จะคอยช่วยเสริมทัพรองรับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง
ปัจจุบันการจับมือเป็นพันธมิตรหรือเทกโอเวอร์ให้เป็นของตัวเองกำลังเป็นที่นิยมของเหล่าบรรดาหลายค่ายธุรกิจโรงพยาบาล ส่งผลให้เห็นว่าการขยายเครือข่ายหลายสาขาในหัวเมืองหลักยังคงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าแผนส่งเสริมการตลาด
ด้านโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในระดับเกรดเอคือมีโครงการลงทุนไม่เกิน 1 พันล้านบาทนั้นกลับมองว่าแผนส่งเสริมการตลาดจะเป็นตัวช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มและภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลได้ดีกว่าที่จะไปทุ่มทุนมหาศาลเพื่อกว้านซื้อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
สอดคล้องกับ นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ บมจ.โรงพยาบาลเจ้าพระยา ที่บอกว่า กลุ่มโรงพยาบาลเจ้าพระยามีแนวคิดที่จะสร้างโมเดลการตลาดใหม่ๆออกมาเพื่อรองรับกลุ่มตลาดโดยล่าสุดมีการเปิดศูนย์เฉพาะทางเที่ยงคืนเป็นจ้าวแรกของธุรกิจโรงพยาบาลในระดับเดียวกัน
“ศักยภาพความพร้อมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีใหม่ๆจะถูกนำมาให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง”นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวพร้อมกับเสริมว่า
การเข้าโรงพยาบาลเพื่อเช็กสุขภาพหรือตรวจรักษาโรคของลูกค้ามักไม่ค่อยมีเวลาในช่วงกลางวันกว่าจะถึงบ้านก็ค่ำ ส่งผลให้คณะผู้บริหารของโรงพยาบาลเจ้าพระยามองเห็นช่องว่างทางการตลาดที่จะสามารถนำมาปรับใช้เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายตรงนี้และเป็นทางเลือกใหม่ที่จะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยให้เข้าใจว่าโรงพยาบาลเจ้าพระยาก็มีศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางเปิดให้บริการตลอดเวลาคล้ายๆกับว่าเป็นคลินิกในโรงพยาบาลนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายค่ายธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเปิดให้บริการเชกเช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกันการจับมือร่วมพันธมิตรของโรงพยาบาลเกรดเอ ถูกมองว่าจะเป็นเพียงแค่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้เท่านั้น สังเกตได้จากกลุ่มโรงพยาบาลในระดับนี้จะมีสาขาเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น
ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ได้เร่งขยายเครือข่ายสาขาทั้งในรูปของการซื้อกิจการและการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ ตลอดจนการเปิดศูนย์บริการเฉพาะทางเพื่อรองรับลูกค้าเฉพาะกลุ่มและบริการลูกค้าชาวต่างชาติ อาทิ ศูนย์โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคกระดูก ศูนย์ศัลยกรรม และศูนย์ดูแลสุขภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าในการให้บริการ โดยมุ่งทำตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม พร้อมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจให้กับลูกค้า ผ่านการโฆษณาเผยแพร่ภาพลักษณ์ด้านความเชี่ยวชาญในการให้บริการและรักษาเฉพาะทาง
“ไอที”เทรนด์ใหม่หัวใจของธุรกิจ
วงการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในยุคปัจจุบันที่จะต้องสรรหาโซลูชั่นหรือแนวทางจัดการบริการด้านต่างๆที่ให้ความพร้อมที่สุดสำหรับลูกค้า เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว อันเป็นหลักคิดที่สำคัญในยุคปัจจุบันของวงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ภาพการเกิดศูนย์ให้บริการลูกค้าเฉพาะทางจึงมีให้เห็นในปัจจุบัน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทยถือว่ามีความสำคัญสำหรับธุรกิจด้านบริการรักษาพยาบาล เพื่อตอบสนองและให้ความสะดวกในทุกด้าน
ขณะเดียวกันทีมงานแพทย์ พยาบาล และพนักงานทุกแผนกในโรงพยาบาล นับว่าเป็นบันไดขั้นแรกและขั้นสุดท้ายของธุรกิจ จึงไม่แปลกที่ขั้นตอนกระบวนการรักษาและให้บริการจะกลายเป็นยุทธศาสตร์ของการทำธุรกิจ ส่งผลให้การพัฒนานำเทคโนโลยีใหม่ๆออกมาให้บริการเพื่อให้เกิดความเที่ยงตรงและมีมาตรฐานเดียวกันจึงถูกหยิบนำมาใช้ ปัจจุบันจึงเห็นภาพตามสื่อต่างๆที่โรงพยาบาลเอกชนหลายค่ายพยายามโชว์ศักยภาพความพร้อมของเครื่องไม้เครื่องมือในการให้บริการรักษาพยาบาล
ไม่เว้นแม้แต่การเปิดศูนย์รักษาเฉพาะทางที่กำลังจะกลายเป็นที่นิยมในธุรกิจของโรงพยาบาลเอกชนไปแล้ว
อย่างไรก็ดี พญ.สมสิริ มองว่าการหยิบไอทีมาปรับเป็นกลยุทธ์แนวใหม่ภายใต้ ไฮเทค+ไฮทัช น่าจะส่งผลให้พฤติกรรมของลูกค้ามีมุมมองใหม่สำหรับโรงพยาบาลเอกชนไทย โดยสมิติเวช สุขุมวิท ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างแกรมมี่ซื้อลิขสิทธิ์เพลงมาเพื่อใช้เป็นศาสตร์ของการรักษาผู้ป่วยด้วยดนตรีบำบัดภายใต้ชื่อ Music on Demand
ขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจาก เอ็นซี ทรู นำเสนอบริการเกมออนไลน์ที่ครอบคลุมเกมทุกประเภทได้มากที่สุด
“สิ่งสำคัญได้รับความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ให้บริการ Patient Service ซึ่งมีทั้งข้อมูลการท่องเที่ยวและกิจกรรมต่างๆสำหรับนักท่องเที่ยวได้ค้นหาสะดวกรวดเร็ว”พญ.สมสิริ กล่าว
ไม่เว้นแม้แต่โรงพยาบาลรัฐบางแห่งอาทิ ศิริราชพยาบาล ก็เปิดให้บริการศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางเช่นกัน ปัจจุบันการเปิดศูนย์เฉพาะทางด้วยเทคโนโลยีทันสมัยจึงกลายเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ทั้งโรงพยาบาลเอกชนและรัฐต่างแห่งเปิดให้บริการ เหตุผลง่ายๆก็คือสร้างความสบายใจในมาตรฐานของการให้บริการกับลูกค้านั่นเอง
ด้วยเหตุผลปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้โรงพยาบาลภาครัฐที่มีชื่อเสียงต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่เช่นกัน ล่าสุด โรงพยาบาลศิริราชได้ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานราชการออกโชว์ศักยภาพความพร้อมในเรื่องของการให้บริการเพื่อหวังดึงกลุ่มลูกค้าเฉพาะทางให้เข้าไปใช้บริการ
จากการเปิดเผยของ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์ หัวหน้างานโรคความเสื่อมระบบประสาทและพฤติกรรมประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ว่ากิจกรรม “สูงวัย หัวใจแกร่ง”เป็นการจำลองรูปแบบ ศูนย์บริการผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาในในชุมชน(สชช.)เสมือนจริงให้ประชาชนได้มาใช้บริการ และเห็นความสำคัญของศูนย์ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม ศกนี้
“ศูนย์แรกเปิดจะเปิดที่ทำการ(ศูนย์บริการสาธารณสุขหนองแขม)ซ.เพชรเกษม 69”ร.ศ.พญ.วรพรรณ กล่าวในที่สุด
การตื่นตัวและต่อเนื่องของธุรกิจโรงพยาบาลทั้งภาคเอกชนและภาครัฐได้สร้างสีสันกิจกรรมต่างๆขึ้นจะพบได้ว่าในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงพยาบาลถูกปรับเปลี่ยนแปลงโฉมใหม่พร้อมกับดึงระบบไอทีเข้ามาเสริมเพื่อช่วยสร้างความคล่องตัวให้เกิดขึ้นทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
ว่ากันว่าการเทรนด์ของไอที กำลังมีบทบาทและกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญและยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า...โดยเฉพาะสินค้าที่นอกเหนือจากเทคโนโลยีใหม่ๆแล้ว ความสามารถในการรักษาของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบวกกับงานบริการที่ประทับใจอันจะนำไปสู่ความแข็งแกร่งของธุรกิจ
ดังนั้นนอกจากการเพิ่มเครื่องมือที่ทันสมัยแล้ว การพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างอาคารด้านบริการไว้รองรับกลุ่มเป้าหมายที่นับวันจะมีจำนวนมาก กอปรกับประสิทธิภาพในการให้บริการจะเป็นตัวช่วยส่งผลทางธุรกิจเติบโตขึ้น และแน่นอนทุกค่ายธุรกิจโรงพยาบาลทั้งภาคเอกชนและภาครัฐก็กำลังพยายามใช้ยุทธวิธีนี้สร้างความแข็งแกร่งธุรกิจให้กับตัวเอง แม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาและงบประมาณที่แตกต่างกันก็ตาม
*****************************
“ไฮเทค+ไฮทัช”คิดนอกกรอบกับ สมิติเวช สุขุมวิท
ช่วงปีที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของโรงพยาบาลสมิติเวช ตั้งแต่เปิดตัวให้บริการ infotainment ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนางานบริการของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ และเพลิดเพลินกับความบันเทิงผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย ผ่านจอแอลซีดี คีย์บอร์ดไร้สาย และรีโมตคอนโทรล หวังทำให้ผู้ป่วยสามารถรับข้อมูลเกี่ยวกับบริการของโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการรักษา รายการทางเคเบิลทีวี ไปจนถึงการสั่งอาหาร และแพทย์ยังสามารถเรียกดูประวัติผู้ป่วย รายละเอียดการรักษา ฟิล์มเอกซเรย์ ประกอบการวินิจฉัยโรค เพื่อความสะดวกในการรักษา และการอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจ ได้สร้างปรากฎการณ์ให้บริการรูปแบบใหม่ที่ส่งผลดีทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการได้ไม่น้อยทีเดียว
ความสำเร็จในครั้งที่ผ่านมาส่งผลให้ปัจจุบันสมิติเวชได้ต่อยอดโครงการพัฒนาระบบเป็นปีที่ 2 ภายใต้งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี โดยการร่วมมือกับ 3 พันธมิตร แกรมมี่ให้บริการ Music on demand, เอ็นซี ทรู ให้บริการเกมกว่า 100 เกมต่อเดือน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้บริการข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยว
โดยที่ผู้ป่วยสามารถรับชมรายการต่างๆ ฟังเพลง ร้องคาราโอเกะ รวมทั้งเรียกดูข่าวสารกิจกรรมจากบนเตียงในห้องพัก
แม้ว่าจะมีปัจจัยลบทางเศรษฐกิจเข้ามากระทบมาโดยตลอด แต่จำนวนคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการที่สมิติเวชก็มีอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และในจำนวนนี้ก็เป็นลูกค้าเก่า 95% และเป็นคนไทยเพิ่มขึ้น 8% ขณะที่ชาวต่างชาติตัวเลขก็เพิ่มเป็นตัวเลข 2 หลัก โดยลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการเป็น คนไทย 80% และ 20% เป็นต่างชาติ
นอกจากการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้ามาให้บริการแล้ว สมิติเวช สุขุมวิทยังเน้นเรื่องคุณภาพและความสุขของคนไข้เป็นหลัก และภายในสิ้นปีนี้ สมิติเวชจะเปิดคลินิกสมิติเวชเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง หลังจากที่เปิดไปแล้วที่ รัตนาธิเบศร์ ใกล้ๆ กับเซ็นทรัลทาวน์ และในโครงการคอมมิวนิตี้มอลล์ ดิ โอเอซิส (ของเทสโก้ โลตัส) ซอยสามัคคี เพื่อขยายการบริการออกไปยังพื้นที่ต่างๆ และอำนวยความสะดวก และเป็นทางเลือกของผู้บริโภค