xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด...บ้านนี้มีกำลังใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“...คำว่าเพื่อน คำว่ามิตรภาพนี่สำคัญ คนจะมีความสุขเมื่อมีมิตร ที่จริงคำว่า “มิตร” หรือ “มิตตะ” กับคำว่า “เมตตา” มาจากรากศัพท์เดียวกัน ไมตรีด้วยเป็นเรื่องเดียวกัน...คนเราหากมีความเป็นไมตรีต่อกัน มีเมตตาต่อกันเป็นมิตรกันความรู้สึกจะดีมาก มันจะมีความสุข โรคภัยไข้เจ็บบางทีมันจะหายไปเลย...”

นั่นคือ ข้อเขียนของ “ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส” ที่บันทึกเอาไว้ในหนังสือถอดบทเรียนและประเมินโครงการศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย ด้วยสายใยแห่งมิตรภาพ

หาก ศ.นพ.ประเวศ วะสีเป็นผู้จุดประกายความคิดให้ทิศทาง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช.ก็เป็นผู้ให้กำเนิด “ศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด” ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น

  • “มิตรภาพบำบัด” ยาขนานวิเศษ

    นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถือเป็นอีกผู้หนึ่งที่เป็นกำลัง เป็นเบื้องหลังการทำงานของนพ.สงวน ที่มุ่งมั่นสืบสานเจตนารมณ์ บอกเล่าที่มาของศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดว่า จากการพบปะกันครั้งแรกๆ ของเครือข่ายเพื่อนมะเร็ง ผู้ป่วยโรคเรื้องรัง ซึ่งเริ่มมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเจ็บป่วยตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

    จากจุดเริ่มต้น กลุ่มเล็กๆ ได้มีการขยายแนวความคิดออกไป โดยมีการทำกิจกรรมมิตรภาพบำบัดกระจัดกระจายในพื้นที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเพียงผู้ที่สนับสนุนให้กิจกรรมนี้มีความชัดเจน มีระบบมากขึ้น โดยให้การสนับสนุนงบประมาณตั้งต้นในการก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดขึ้นในหน่วยบริการที่พร้อม

    “ขณะนี้เวลาผ่านมาถึง 2 ปี แล้ว ในการก่อตั้งศูนย์ เราได้ความรู้ ความสุข มิตรภาพถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าบนเส้นการเดินทางของมิตรภาพบำบัดที่เราฝันหาและทุ่มเททำงาน แต่หนทางข้างหน้าถือว่ายังอีกยาวไกล เรามีงานที่ต้องทำร่วมกันอีกหลายๆ เรื่อง ทั้งการขยายกิจกรรมมิตรภาพบำบัดในหน่วยบริการโรงพยาบาลให้มีมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 17 แห่งแล้ว ในอนาคตอาจจะมีพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่ในสถานบริการเท่านั้น รวมทั้งขยายกิจกรรมศูนย์เดิมที่มีความเข้มแข็ง สร้างจิตอาสาในผู้คนด้วยหัวใจและมิตรภาพที่เหนือกว่าการรักษาทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว ซึ่งการที่แพทย์ พยาบาล ญาติ อาสาสมัครมีใจ มีไมตรี ต้องการทุกข์สุขร่วมกัน จะช่วยการบรรเทาเยียวยาความทุกข์ ที่สำคัญ ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันจะกลับคืนมา ช่วยแก้ปัญหาการฟ้องร้องแพทย์อีกทางหนึ่ง”

    นพ.ประทีป บอกต่อว่า สำหรับก้าวต่อไปของศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดฯ จะนำคำแนะนำที่นพ.สงวน ทิ้งไว้ คือ การจับคู่คำปรึกษา การรับอาสาสมัครขึ้นทะเบียน ดูแลอบรมอาสาสมัครให้มีความพร้อมและมีศักยภาพ โดยเปิดการอบรมมีความเข้าใจ เทคนิควิธีการช่วยเหลือที่มีศักยภาพ การอยู่ร่วมกับมะเร็งและผู้ป่วยรายใหม่ มีการจัดทำข้อมูลอาสาสมัคร จัดระบบในการจับคู่และเชื่อมโยงข้อมูลให้เหมาะกับอาสาสมัครและผู้ป่วยแต่ละคน

    ส่วนกองทุน นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เพื่องานมิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อนนั้น จะเปลี่ยนเป็นมูลนิธิมิตรภาพบำบัด โดยใช้วิธีระดมทุนจากแรงศรัทธาไม่ใช่งบประมาณของรัฐ ความศรัทธาจะช่วยทำให้เกิดความยั่งยืนของมูลนิธิฯ ขณะเดียวกันในอีก 2-4 ปี ข้างหน้าจะทำงานด้านสุขภาพร่วมกับท้องถิ่น โดยชักชวนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้เข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพมากขึ้น

  • บ้านนิตยารัมภ์พงศ์...บ้านนี้มีกำลังใจ
    ณ คลินิกบ้านฟัน ซ.วิภาวดี 16 โชคชัยร่วมมิตร ของ ร.ท.ทพญ. อพภิวันท์ นิตยารัมภ์พงศ์ ภรรยาและเพื่อนคู่คิด นพ.สงวน ซึ่งมีเจตนารมณ์สุดท้ายปรารถนาจะสร้างชุมชนมิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อช่วยผู้ป่วยทุกโรคและญาติมิตรให้ได้รับการดูแลรักษาจิตใจยามป่วยไข้ ครอบครัวนิตยารัมภ์พงศ์และกัลยาณมิตรซึ่งได้เปิดบ้านนิตยรัมภ์พงศ์นันทวันประชาชื่นขึ้น ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดของคำว่า “มิตรภาพบำบัด”

    ร.ท.ทพญ.อพภิวันท์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของงานมิตรภาพบำบัดเพื่อปัดเป่าความทุกข์ ความเจ็บปวดของคนไข้ มาจาก นพ.สงวน ในฐานะที่เป็นคนไข้ ทำให้หมอเข้าใจในอีกมิติ นอกจากการต้องทนทุกข์เพราะเจ็บป่วยแล้ว ในอีกแง่หนึ่งคนไข้รู้สึกโดดเดี่ยว ว้าเหว่ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป แม้จะได้รับความเมตตาจากคุณหมอมีการดูแลที่ดี ตลอดระยะเวลา 4 ปี 6 เดือน สิ่งที่ช่วยจิตใจของนพ.สงวนอย่างดียิ่ง คือการเริ่มปฏิบัติธรรมจนจิตใจเกิดสันติสุข ช่วงเวลาที่ นพ.สงวนป่วยจึงเป็นช่วงที่มีค่ามาก ที่ยิ่งกว่านั้น คือ หากไม่ได้รับมิตรภาพจากเพื่อนร่วมงาน ความทุกข์คงจะมีมากเหลือเกิน จากนั้นจึงมีการสานต่อเจตนารมณ์สุดท้ายของ นพ.สงวน
     เจิมจิตต์ วาสนศิริวรรณ
    ทั้งนี้ งานกิจกรรมมิตรภาพบำบัด ถือเป็นการงานหลัก เป็นงานของชีวิตไปแล้ว การเปิดบ้านจัดกิจกรรมเยียวยาจิตใจผู้ป่วย ญาติมิตร ถือเป็นการเยียวยาจิตใจตัวเองไปด้วย เพราะก่อนหน้านี้แทบที่จะอยู่บ้านไม่ได้ ก็กลายเป็นบ้านมีประโยชน์มาก กลายเป็นสวรรค์ เป็นที่พึ่งให้กับผู้ป่วยทุกคน เมื่อมาที่บ้านนี้ก็มีแต่กำลังใจ ทำให้บ้านมีค่ามากกว่าเดิมมาก

    “บ้านเป็นสวรรค์ของพี่ เก้าอี้ โซฟา สนาม สวน ได้ใช้ประโยชน์ ทำให้มันมีค่ามากกว่าเดิมมาก เพราะเวลาที่เราสูญเสีย หากเราได้ให้ความช่วยเหลือคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำทุกข์มาเป็นบทเรียน คนที่ทุกข์มากในสังคมจะคิดเข้าไปมาก ไม่คิดออก เปลี่ยนประสบการณ์ความทุกข์ที่เจ็บป่วยเยียวยาผู้อื่นที่ทุกข์เหมือนกัน ทำให้แผลในใจหายอย่างถาวร”
    ร.ท.ทพญ.อพภิวันท์ เล่าถึงกิจกรรมที่บ้านนิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งจัดขึ้นทุกวันพฤหัสบดีด้วยว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นจะเน้นกิจกรรมธรรมชาติบำบัด ดนตรีบำบัด ธรรมะ การสนทนาพูดคุยกับผู้ป่วย ญาติ โดยรับทั้งคนไข้ ผู้ดูแล รวมถึงผู้สนใจที่ร่างกายแข็งแรงเพื่อเตรียมความพร้อมด้านจิตใจ เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะป่วยเมื่อไหร่ พอป่วยก็ไม่ทันแล้ว

    สำหรับกองทุน นพ.สงวน ไม่ได้ตั้งเป้าหมาย ไม่ได้หวังว่า สิ่งที่ทำจะคงอยู่ตลอดไป จะ 5 ปี 10 ปีหรือตลอดชีวิต แค่ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทำทีละวัน ให้มีคุณภาพ ช่วยคนไข้ให้ได้มากที่สุด

    “มีคนเคยถามว่าตั้งเป้าว่ากองทุนจะมีเงินอยู่เท่าไหร่ ตรงนี้ไม่มีเป้าเรื่องนี้เลย เพราะถ้าเราทำงานดี เรื่องพวกนี้จะตามมาเอง เพียงมีความสุขทุกนาทีที่ก้าวไปข้างหน้าก็พอแล้ว ทุกวันนี้ถ้าถามว่าเหนื่อยหรือเปล่าก็ต้องบอกว่าเหนื่อย แต่เหนื่อยบนความรู้สึกดีๆ และมีกองเชียร์ที่ให้กำลังใจตลอด”

    “เราไม่ได้ต้องการอะไร จากสิ่งที่เราทำ พอใจเพียงได้จุดไฟให้คนอื่นๆ ที่เห็นด้วยกันกับเรา มีจิตอาสาเพิ่มขึ้น ขยายงานไปในพื้นที่อื่นๆ เชื่อว่า ทุกวันนี้พี่ไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง และไม่เคยรู้สึกโดดเดี่ยว และแม้ว่าเราไม่ได้ต้องการอะไรตอบแทน แต่สิ่งที่ได้กลับมานั้นมากมาย โดยเฉพาะลูกๆ เขาเห็นสิ่งพ่อทำ เกิดความภาคภูมิใจ” ร.ท.ทพญ.อพภิวันท์ ทิ้งท้าย
     ร.ท.ทพญ. อพภิวันท์ นิตยารัมภ์พงศ์
  • เสียงผู้ป่วย...เสียงอาสาสมัคร

    “กำลังใจที่ได้รับจากทุกคนมีเต็มเปี่ยม วันที่ทุกคนให้เราเป็นขวัญใจมิตรภาพ เพราะเขาอยากให้กำลังใจ แต่ก็เป็นปลื้ม ไม่รู้ว่าปีหน้าเราจะมีโอกาสได้มอบตำแหน่งนี้ให้กับคนต่อไปหรือเปล่า”เจิมจิตต์ วาสนศิริวรรณ ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย และขวัญใจมิตรภาพ บอกเล่าความรู้สึกเมื่อขึ้นเวทีปะกวดเป็นครั้งแรกในชีวิต เมื่อวัยล่วง 50 ปี ด้วยรอยยิ้มแจ่มใส

    เจิมจิตต์ เล่าย้อนเมื่อครั้งรู้ตัวว่า เป็นมะเร็งเต้านมว่า ตอนนั้นปี 2542 รู้สึกตกใจมาก ช็อก นั่งร้องไห้ ไม่เชื่อว่าตัวเองเป็นมะเร็ง กำลังจะตาย เครียดจนอยากตาย แต่ก็ไม่ได้ตายได้ง่ายๆ วันหนึ่งเดินขึ้นดาดฟ้าเตรียมฆ่าตัวตาย แต่เมื่อมองลงมาเห็นคนที่ลำบากกว่า ซึ่งเป็นคนพิการไม่มีขาทั้ง 2 ข้าง แต่ก็พยายามข้ามทางม้าลาย แต่ตัวเองมีขาแขนครบ เลยตัดสินใจที่จะต่อสู้ต่อไป อย่างไรก็ตามด้วยค่ารักษาทั้งฉายแสงให้คีโมเป็นภาระค่าใช้จ่ายสูง มีการแพ้ยาบ่อย จึงขาดการรักษา ทำให้มะเร็งลุกลาม จนกระทั่งเกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ตอนนั้นทำให้ชีวิตมีความหวังมากขึ้น

    “ช่วงที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลภูมิพล ก็ได้รู้จักกับชมรมผู้พิชิตมะเร็งโรงพยาบาลภูมิพลเดช ซึ่งเขาให้กำลังใจกันน่ารักมาก จึงสนใจที่จะเข้าร่วมกลุ่ม ตอนเข้าไปร่วมกิจกรรมครั้งแรก เราอยากได้กำลังใจมาก และรู้สึกมีความสุขมากที่ได้รับการดูแลจากเพื่อนๆ พี่ๆ ซึ่งเขาดูแลเราอย่างดี ทำให้เราไม่ค่อยเครียด ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเป็นคนขี้โมโห หงุดหงิดง่าย เราใจเย็น สงบ แต่พอไปร่วมกิจกรรมหลายครั้งก็จากผู้รับก็อยากเป็นผู้ให้ จึงได้เป็นอาสาสมัครและช่วยเหลือเพื่อนที่เป็นมะเร็งด้วยกันด้วยการเยียวยาจิตใจ”

    “สิ่งสำคัญที่แม้จะป่วยแต่ก็สามารถมีชีวิตอยู่ด้วยความสุข คือ กำลังใจ เราต้องให้กำลังใจตัวเอง อย่าคิดทำร้ายตัวเอง มองคนอื่นที่เขาป่วยยิ่งกว่าเรา และเมื่อให้กำลังใจตัวเองแล้ว ก็สามารถให้กำลังใจคนอื่นด้วย” เจิมจิตต์ บอกเล่า
    นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ
    ด้าน อ.บุญมา และ อ.เบญจวรรณ ทวิภักดิ์ ประธานและอาสาสมัครเครือข่ายสายใยเพื่อสุขภาพหัวใจดี ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.ขอนแก่น สองสามี-ภรรยา ที่ผันตัวจากข้าราชการบำนาญ ซึ่งป่วยด้วยโรคหัวใจมาเป็นอาสาสมัคร บอกถึงจุดเริ่มต้นของเครือข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจฯ ว่า จากเพื่อนๆ เพียงไม่กี่คน ช่วยกันขยายเครือข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกมากกว่า 20,000 คนแล้ว ทั้งผู้ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ ญาติมิตร หรือผู้ที่สนใจศึกษา เราเข้ามาทำงานร่วมกัน สร้างกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ แต่ละคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ เป็นมิติใหม่ๆ ที่นุ่มอ่อนละมุน ที่อบอวลไปด้วยมิตรภาพความเป็นเพื่อน

    ขณะที่อาสาสมัครอย่าง เพ็ญจันทร์ บุรณะโรจน์ วัย 55 ปี สมาชิกอาสาสมัครเพื่อนช่วยเพื่อน จ.อ่างทอง เล่าว่า เดิมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) อยู่แล้ว จะทำหน้าที่ค้นหาคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งในพื้นที่ พร้อมกับป้องกันส่งเสริมให้ความรู้กับชาวบ้าน ทั้งอาหาหารกิน ความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการประเมินติดตามผลเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้าน แต่ยังไม่เคยมีการจัดกิจกรรมกลุ่มสันทนาการมาก่อน ดังนั้นการที่ได้รับรู้ ความเข้าใจ ถือเป็นการจุดประกาย ให้นำกลับไปใช้ในการทำกิจกรรมกับผู้ป่วยในพื้นที่ ซึ่งไม่เฉพาะโรคมะเร็งเท่านั้น แต่อาจขยายไปสู้โรคเรื้องรังอื่นๆ เช่น มะเร็ง เอดส์ และโรคไต ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อย

    “ในต่างจังหวัดผู้ป่วยมักจะไม่รับการดูแลจากญาติ ถูกทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว บางคนวิตกกังวลอยากตาย กำลังใจไม่เหลือไม่เพียงมีโรคเรื้อรังเท่านั้น แต่ยังเป็นโรคซึมเศร้าด้วย การที่อาสาสมัครให้คำปรึกษา พูดคุย ให้กำลังใจให้เขายังสู้กับโรคร้ายและมีความหวังในชีวิตมากขึ้น”

    อนึ่ง สามารถร่วมสนับสนุนกองทุนนายแพทย์สงวน ได้ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาแจ้งวัฒนะ ชื่อบัญชี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุน นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เพื่องานมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน) เลขที่บัญชี 096-0-09547-0 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วน สปสช.1330
     

  • กำลังโหลดความคิดเห็น