xs
xsm
sm
md
lg

เลี่ยงบาดเจ็บจากการ “ซ้อม” สิ่งที่ “นักดนตรี” พึงตระหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องดนตรีหลากหลายประเภทที่มีการใช้ท่าทาง
ดนตรี...ถือเป็นศาสตร์ชั้นสูงรูปแบบหนึ่งของโลก อันเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นอีกหนึ่งแห่งยอดสุนทรียศาสตร์ ซึ่งทักษะทางดนตรีไม่ได้เกิดขึ้นเองได้ ดังนั้น นักดนตรีทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หัดเล่นหรือเก่งกาจสักเพียงใดก็จำเป็นจะต้องฝึกฝนและฝึกซ้อม แต่สิ่งที่ผู้ซ้อมดนตรีหลายคนไม่ค่อยได้ใส่ใจคือ อาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการซ้อมดนตรี หรือผลกระทบที่อาจเกิดแก่ร่างกายเมื่อฝึกซ้อมมากเกินไปนั่นเอง

ดังนั้น อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากการฝึกซ้อมดนตรีเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก
** ซ้อมนาน ร่างกายไม่ไหวทน
รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก
ประธานโครงการแขนงวิชาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า หากมองดูแล้วการใช้ร่างกายในการฝึกซ้อมและเล่นดนตรีนั้นไม่น่าจะก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บ ไม่มีใครคาดคิดว่าการเล่นดนตรีจะเกิดผลกระทบที่รุนแรง เพราะหากเทียบกับกิจกรรมรูปแบบอื่นเช่น การเล่นกีฬา จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันมากในเรื่องของอาการบาดเจ็บ

แต่สาเหตุของอาการบาดเจ็บโดยการซ้อมดนตรีนั้นเป็นอาการที่เกิดจากการทำอะไรซ้ำๆ เป็นเวลานาน เช่น การซ้อมดนตรีอย่างหักโหมเป็นเวลานานหลายชั่วโมงโดยไม่พัก เพราะโดยธรรมชาติแล้วเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ข้อต่อต่างๆ จะถูกสร้างมาให้ใช้เพียงแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่นักดนตรีจะใช้มากกว่าที่ธรรมชาติให้มา ซึ่งร่างกายก็ยากที่จะทนไหว

“เมื่อนักดนตรีมีความอยากที่จะซ้อม หรือมีความต้องการที่ได้อยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก ฮอร์โมนเอ็นโดรฟินจะหลั่งออกมา คลื่นสมองจะมีการปรับตัวให้เข้ากับความรู้สึกที่มีความสุข ความพึงพอใจ นี่เองจะเป็นตัวกระตุ้นให้นักดนตรีสามารถอยู่กับการซ้อมได้โดยไม่มีเบื่อเวลานานหลายชั่วโมง และไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย หรือรู้สึกเจ็บปวดกับอาการบาดเจ็บ แต่เมื่อเลิกซ้อมอาการปวดต่างๆ ก็จะกำเริบขึ้นซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียแก่นักดนตรีหากปล่อยทิ้งไว้” รศ.นพ.ปัญญา ให้ข้อมูล

** ไม่หักโหม-ผ่อนคลาย ลดอาการเจ็บปวด
สำหรับอาการที่เกิดขึ้นนั้น รศ.นพ.ปัญญา อธิบายว่า จากผลการวิจัยของต่างประเทศพบผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการซ้อมดนตรีนั้นมีมากถึงร้อยละ 20 โดยอาการจะเกิดขึ้นบริเวณส่วนบนของร่างกายตั้งแต่หัวไหล่ ต้นคอ สะบัก ข้อศอก ข้อมือ และข้อนิ้ว ซึ่งเครื่องดนตรีประเภทที่เล่นด้วยสาย เช่น กีตาร์ ไวโอลิน จะเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณนิ้ว และข้อมือ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีตาร์คลาสสิก จะเห็นว่าการวางตำแหน่งของกีตาร์จะตั้งขึ้นกว่าปกติ เป็นผลให้ข้อศอกเกร็ง และตรงข้อศอกนี้เองเป็นที่รวมของเส้นประสาท ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อนิ้วนาง และนิ้วก้อย ทำให้มีอาการชา เหมือนมีไฟช็อตลอดเวลา โดยเกิดจากภาวะของเส้นประสาทถูกพับงอ ถูกใช้งานมากเกินไป

การแก้ไขคือ ต้องมีการจัดท่าในการนั่งที่มีการคลายข้อศอกให้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่นักดนตรีเองจะไม่ทราบมาก่อนเลยว่าท่าทางที่พวกเขาใช้อยู่อย่างประจำนั้นจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายได้ ซึ่งหากเป็น เปียโน เบส จะเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณหัวไหล่ และลำตัว

ประธานโครงการแขนงวิชาดนตรีบำบัด อธิบายต่อว่า หากอาการเกิดขึ้นที่ข้อมือ ข้อนิ้ว อาการบาดเจ็บส่วนนี้จะทำให้นักดนตรีเกิดความลำบากในการซ้อมมากกว่าการบาดเจ็บที่จุดอื่นๆ กล่าวคือถ้าหากปวดไหล่ ก็อาจจะหนีบด้วยข้อพับและฝืนเล่นได้ แต่หากเป็นที่ข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อศอกจะไม่สามารถทดแทนด้วยส่วนอื่นได้ ทำให้คุณภาพในการซ้อมและเพลงที่เล่นออกมาก็จะต่ำลงไป บางคนเป็นนักดนตรีระดับสูงแต่เมื่อได้รับอาการบาดเจ็บก็ทำให้ไม่สามารถเล่นดนตรีได้อีกต่อไป และจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของนักดนตรีด้วยเช่นกัน

“สรุปแล้วคือ ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บในการซ้อมดนตรีนั้นอยู่ที่การใช้ร่างกายเป็นระยะเวลาติด ต่อกันนานเกินไป หรือใช้ร่างกายในตำแหน่งที่ซ้ำๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ ซึ่งการซ้อมที่ควรจะเป็นคือซ้อม 20 นาที พัก 10 โดยใน 1 ชั่วโมงจะสามารถทำได้ 2 ช่วง อันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมทำให้กล้ามเนื้อมีการผ่อนคลายมากขึ้น อีกทั้งวิธีการปฏิบัติเช่นการนั่ง หรือยืน ในขณะซ้อมนั้นต้องทำในท่าทางที่ถูกวิธี อยู่ในท่าที่เหมาะสม และเมื่อมีอาการปวดเกิดขึ้นก็ให้พยายามผ่อนคลาย และลดการซ้อมให้น้อยลงเพื่อที่อาการเจ็บจะได้ไม่ทวีความรุนแรงมากขึ้น” ปธ.แขนงวิชาดนตรีบำบัด ให้ภาพ

** “แกว่งแขน” ท่าง่ายๆ ก่อนการซ้อม
ในด้านของการป้องกัน หรือการเตรียมความพร้อมก่อนซ้อมดนตรีเพื่อไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บนั้น รศ.นพ.ปัญญา แนะนำว่า ก่อนการฝึกซ้อมควรมีการวอร์มทั้งร่างกายและเครื่องดนตรี แต่นักดนตรีส่วนใหญ่จะเลือกวอร์มเครื่องดนตรีมากกว่า โดยไม่ให้ความสำคัญกับการวอร์มร่างกาย
เพื่อป้องกันการบาดเจ็บควรซ้อมดนตรีในระยะเวลาที่เหมาะสม
สำหรับท่าที่ใช้วอร์มเป็นท่าที่สามารถทำได้ง่ายและให้ประโยชน์คือ “ท่าแกว่งแขน” ที่จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อไหล่ กล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อหน้าอก โดยการปล่อยแขนทั้ง 2 ข้างไว้ข้างลำตัวให้ผ่ามือหันไปด้านหลัง และหลังมืออยู่ด้านหน้า แล้วใช้กำลังยกแขนไปด้านหลังให้มีความรู้สึกว่ากล้ามเนื้อมีการออกแรงยก 70% จากนั้นปล่อยมือลงมาตามสบายให้เหมือนกับลูกตุ้มนาฬิกา โดยใช้แรงที่เหลืออีก 30% ทำเช่นนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ ให้ได้ประมาณ 100-200 ครั้ง โดยที่ให้ได้ 40-50 ครั้งต่อนาที

นอกจากนี้ การฝึกออกกำลังกายในน้ำก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้ปอด หลอดลม แข็งแรง ซึ่งเป็นผลดีกับนักดนตรีที่เล่นเครื่องเป่า และนักร้องเช่นกัน

มาถึงตรงนี้ รศ.นพ.ปัญญา ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า เพื่อลดอาการบาดเจ็บของนักดนตรี ครูผู้สอนต้องมีการเข้าใจในท่าทางการวอร์ม การนั่ง ต่างๆ ที่จะให้นักดนตรีผ่อนคลาย บางครั้งครูผู้สอนไม่ได้การเน้น อย่างเช่นนักกีตาร์หลายคนจะใช้ข้างนิ้วในการจับคอร์ดกีตาร์ ซึ่งจริงๆ แล้วต้องใช้ตรงส่วนหน้าของนิ้วถึงจะถูกต้อง แต่เมื่อเขาเล่นได้ดี แต่ผิดท่าทางที่ควรจะเป็นครูผู้สอนก็เกิดการละเลยทำให้เกิดความเคยชินและส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บในที่สุด ในส่วนผู้ปกครอง ที่บ้านก็ต้องคอยดูแล และช่วยให้กำลังใจ
ความสำเร็จของวงดนตรีต้องมาพร้อมกับร่างกายที่แข็งแรงเช่นกัน
ที่สำคัญคือ เครื่องดนตรีนั้นต้องเลือกขนาดที่เหมาะสมกับตนเอง อีกทั้งการมีสมาธิ มีจิตใจที่นิ่งสงบ จะช่วยให้มีการจดจำในการซ้อมและช่วยลดระยะเวลาในการซ้อมลงได้ เพราะหากขาดสมาธิก็ทำให้ต้องซ้อมอย่างซ้ำซาก เป็นเหตุให้เกิดอาการบาดเจ็บตามมาในที่สุด

-------------------------------------------------
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล (สาขาศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์) จัดโครงการ “Guest Speaker” การบรรยายพิเศษของผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ด้านดนตรี ซึ่งแต่ละเดือนจะมีหัวข้อการบรรยายที่แตกต่างกันออกไป ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ และต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร.0-2746-0202-5
กำลังโหลดความคิดเห็น