xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ชี้ ดีเซลทะลุ 45 บ.เอกชนตายเกลี้ยง แนะรัฐปล่อยราคาสินค้าสะท้อนต้นทุนจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.จี้พาณิชย์ ปล่อยสินค้าขึ้นราคาตามต้นทุนที่แท้จริง ระบุดีเซลขึ้น 1 บาท ส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่งให้เพิ่มขึ้น 4.34% ชี้ ปมดีเซลทะลุ 45 บาทต่อลิตร ผู้ผลิตสินค้าคงต้องปิดกิจการทิ้งหมดแน่

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุน และผลักดันให้วัตถุดิบการผลิตสินค้าบางรายการสูงขึ้นด้วย เช่น สินค้าประมง เม็ดพลาสติก เหล็ก น้ำตาล และค่าขนส่ง กลายเป็นต้นทุนการผลิตหลายชนิดปรับตัวขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ และรายขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะเอสเอ็มอียังประสบกับปัญหาขาดแรงงานและการปรับขึ้นค่าแรง จึงต้องหาทางเจรจาขอปรับราคาสินค้า

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สินค้าบางรายการไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ เนื่องจากถูกกระทรวงพาณิชย์ควบคุมไว้ ทำให้ผู้ประกอบการใช้วิธีลดขนาดสินค้า หรือลดการผลิตสินค้าบางรายการลง เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ซึ่ง ส.อ.ท.เห็นว่า การพิจารณาปรับราคาสินค้าของกรมการค้าภายใน ควรดูต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทุกรายการ เพราะที่ผ่านมามักจะพิจารณาต้นทุนทีละรายการ โดยไม่พิจารณาว่ามีต้นทุนอื่นสูงขึ้นด้วย และเห็นว่า ควรพิจารณาปรับราคาให้ผู้ประกอบการตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจริง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ค่าขนส่งเป็นต้นทุนสำคัญของสินค้าทุกประเภท และน้ำมันถือเป็นปัจจัยหลักของการขนส่งสินค้า ซึ่งราคาดีเซลที่ปรับสูงขึ้น 1 บาท จะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 4.34% โดยขณะนี้ต้นทุนราคาน้ำมันคิดเป็น 59.1% ของต้นทุนค่าขนส่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ซึ่งมีสัดส่วน 39.3% ส่วนที่เหลือเป็นค่าเสื่อมราคาและค่าบริหารจัดการของผู้ขนส่งสินค้า และหากพิจารณาตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2551 ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวขึ้นไปแล้ว 50.1% เฉพาะในปีนี้ปรับตัวขึ้นไปถึง 24%

โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบก่อนจะเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักน้อยและใช้พื้นที่บรรทุกมาก หรือมีน้ำหนักมากและมีมูลค่าน้อย เช่น เครื่องนุ่งห่ม สินค้าอุปโภค สินค้าเกษตร อาหารกระป๋อง

“ถ้าราคาดีเซลขึ้นไปถึงลิตรละ 45 บาท อาจทำให้ผู้ผลิตบางรายต้องหยุดกิจการ เพราะต้นทุนสูงขึ้นมาก และไม่สามารถกระจายผลกระทบลงไปในราคาสินค้าได้ หรือปรับราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ซึ่งการผลิตสินค้าออกมาแล้วประสบผลขาดทุนก็คงไม่มีใครแบกรับภาระดังกล่าวทำต่อไป” นายธนิต กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น