ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ขสมก.-บขส.เร่งหาข้อสรุปผลกระทบน้ำมันแพง วันนี้ หลังแนวโน้มดีเซลทะลุ 35 บ./ลิตร ลั่นปรับขึ้นราคารถแอร์ 2 บ. และรถธรรมดา 1.50 บ.เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนจริง ชี้การลดภาษีสรรพสามิตร ลดภาระได้แค่ 15 วัน ส่วนรถ บขส.ของปรับ 9 สต./กม.
วันนี้ (24 เม.ย.) นายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการรถโดยสารร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถโดยสารร่วมบริการบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้นัดประชุมกันในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำมันแพง และผลกระทบต้นทุน หากน้ำมันดีเซลพุ่งขึ้นเกินลิตรละ 35 บาท โดยจะหาข้อสรุปเพื่อเสนอต่อ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อไป
นายฉัตรชัย ระบุว่า ตอนนี้ราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปกว่า 6 บาทแล้ว จากเกณฑ์ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นครั้งหลังสุด ซึ่งไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะไม่ปรับขึ้นให้ โดยรถร่วมฯ ขสมก.ขอขึ้น 1.50 บาท สำหรับรถร้อน และเพิ่มขึ้น 2 บาท สำหรับรถปรับอากาศ รวมทั้งขอให้รัฐบาลช่วยเหลือน้ำมันและยกเลิกส่วนแบ่งรายได้ที่รถร่วมฯ ต้องเสียให้กับรัฐบาล
ส่วนมาตรการระยะยาวที่จะให้ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใช้เอ็นจีวีนั้น ผู้ประกอบการพร้อมปฏิบัติตาม แต่ขั้นตอนการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ต้องใช้เวลา ไม่สามารถดำเนินการได้ในทันที ดังนั้น ระหว่างนี้คงต้องขอให้ภาครัฐปรับเพิ่มค่าโดยสารก่อน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะไม่ใช้วิธีหยุดให้บริการเดินรถเพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐปรับค่าโดยสาร โดยจะใช้วิธีดังกล่าวเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะดำเนินการ แต่หากผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดทุนจนไม่สามารถให้บริการได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเริ่มพบว่ามีผู้ประกอบการรถหมวด 4 ที่ให้บริการระหว่างอำเภอกับอำเภอ หยุดให้บริการแล้วกว่าหนึ่งพันคัน
**ชี้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตร แค่สร้างภาพหลอก ปชช.
ส่วนมาตรการที่จะลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการได้เพียงเวลาสั้นๆ 15-30 วันเท่านั้น หลังจากนั้น ราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นอีก จนเกินจุดที่ผู้ประกอบการจะแบกรับไว้ได้ ส่วนมาตรการที่จะให้ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใช้เอ็นจีวีนั้น ผู้ประกอบการพร้อมปฏิบัติตาม แต่ขั้นตอนการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำได้ในทันที ดังนั้น ระหว่างนี้ต้องขอปรับเพิ่มค่าโดยสารก่อน
“หากภาครัฐจะลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล คงจะลดได้ลิตรละ 0.50-1 บาทเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก และไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงลิตรละประมาณ 5 บาทแล้ว ขณะเดียวกันราคาน้ำมันดีเซลที่ผู้ประกอบการซื้อก็ต่ำกว่าราคาหน้าปั้มประมาณลิตรละ 0.50-0.75 บาทอยู่แล้ว หากรัฐลดราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 0.50 บาท ก็เท่ากับว่าผู้ประกอบการไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเลย และยืนยันว่าภาครัฐจะต้องปรับขึ้นค่าโดยสารให้กับผู้ประกอบการ โดยเราเสนอขอปรับเพิ่มค่าโดยสารสำหรับรถปรับอากาศอีกระยะละ 2 บาท รถโดยสารธรรมดาเพิ่มอีก 1 บาท เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนราคาน้ำมัน” นายฉัตรชัย กล่าวรุปทิ้งท้าย
นายพิเชษฐ เจียมบุรเศรษฐ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย เปิดเผยว่า สำหรับรถร่วมฯ บขส.คงขอขึ้น 9 สตางค์ต่อกิโลเมตร เท่าเดิมที่เคยขอไป และยืนยันว่าจะไม่มีการหยุดเดินรถ