รถร่วม บขส.-ขสมก.ยันขอปรับขึ้นค่าโดยสาร เพราะรับภาระราคาน้ำมันแพงไม่ไหว ขู่หากไม่มีความชัดเจนว่าจะได้ขึ้นค่าโดยสารเมื่อใด อาจไม่ยอมวิ่งรถเปล่ากลับมารับประชาชนช่วงสงกรานต์ เพราะไม่คุ้มต้นทุน ประชาชนอาจมีปัญหาเรื่องการเดินทาง
วันนี้ (18 มี.ค.) มีรายข่าวความคืบหน้านโยบายการตรึงค่าโดยสารของรัฐบาล หลังจากที่กรมการขนส่งทางบก เชิญผู้ประกอบการรถร่วมบริการ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มาหารือถึงภาระต้นทุนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบการจัดเก็บค่าโดยสาร เมื่อเวลา 14.00 น.บ่ายวันนี้ โดยผู้บรหารของกรมฯ ระบุว่า จะรับข้อมูลจากผู้ประกอบการเสนอมา ก่อนเสนอให้คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางพิจารณาในสัปดาห์หน้า
โดยภายหลังการประชุม นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถร่วมบริการ บขส.กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการเรียกร้องจากภาครัฐวันนี้ คือ ความชัดเจนว่าจะให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นค่าโดยสารหรือไม่ และจะให้มีผลเมื่อใด โดยผู้ประกอบการไม่ขัดข้องหากให้ขึ้นค่าโดยสารหลังเทศกาลสงกรานต์ เพราะจากภาระราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการต้องรับภาระหนัก ในส่วนสมาคมได้ขอปรับขึ้นค่าโดยสาร 3-8 สตางค์ต่อกิโลเมตร ตามประเภทของรถ
“หากภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการปรับขึ้นค่าโดยสาร อาจเกิดปัญหาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะหากผู้ประกอบการเดินรถจากสถานีขนส่ง เพื่อไปส่งผู้โดยสารปลายทาง และเห็นว่า การวิ่งรถเปล่ากลับมารับผู้โดยสารไม่คุ้มกับต้นทุนน้ำมัน และไม่วิ่งรถกลับมา จะทำให้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีปริมาณรถไม่เพียงพอที่จะรองรับการเดินทางของประชาชน และทำให้เกิดปัญหารุนแรงขึ้นได้” นายพิเชษฐ์ กล่าว
ด้าน นายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมบริการ ขสมก. กล่าวว่า ในส่วนรถร่วมบริการ ขสมก.ยืนยันจะขอปรับค่าโดยสารประเภทรถธรรมดาจาก 8.50 บาท เป็น 10 บาท รถโดยสารปรับอากาศจากราคาเริ่มต้น 12 บาท เป็น 14 บาท และปรับขึ้นระยะละ 2 บาท เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนผู้ประกอบการได้ปรับขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ประเด็นสำคัญ คือ ขอให้ภาครัฐสร้างความชัดเจนว่า จะอนุมัติให้ปรับค่าโดยสารมีผลเมื่อใด
นายรณยุทธ์ ตั้งรวมทรัพย์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ในการหารือกับผู้ประกอบการรถร่วมบริการวันนี้ กรมการขนส่งทางบก ยอมรับว่า ต้นทุนของผู้ประกอบการรถโดยสารปรับตัวสูงขึ้นมาก และสัปดาห์หน้าจะนำข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง แต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะมีมติอย่างไร
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการปรับขึ้นค่าโดยสารครั้งที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม 3 สตางค์ต่อกิโลเมตร ตามคำสั่งศาลปกครอง ดังนั้น แนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ จึงยังไม่พิจารณาปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเช่นกัน โดยจะรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองก่อน จึงจะพิจารณาปรับค่าธรรมเนียมอีกครั้ง