เตือนผู้ใช้ก๊าซหุงต้มในรถยนต์ หลังเดือน ก.ค. รัฐเตรียมปรับโครงสร้างราคาใหม่ขายปลีกจะสูงขึ้นแน่นอน ทำใจราคาอิงนำเข้าเจอเต็มๆ อย่างน้อย 7-8 บาท ต่อ กก. แต่ต้องรอเคาะอีกรอบ ลดภาระนำเข้าจากต่างประเทศสร้างส่วนต่างราคาให้สูงกว่า NGV เท่าตัว
นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความชัดเจนว่าจะใช้ระบบราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) 2 ราคาแน่นอน โดยจะกำหนดเป็นราคาภาคขนส่งและภาคครัวเรือน ซึ่งส่วนของภาคขนส่งรัฐจะกำหนดราคาจำเป็นต้องปรับขึ้นทันทีหลัง ก.ค. โดยจะใช้สูตรอิงส่วนต่างราคานำเข้าจากต่างประเทศกับราคาคงที่ในประเทศ ซึ่งหากประเมินเบื้องต้นในเดือนเม.ย. ราคานำเข้าก๊าซหุงต้มอยู่ที่ 700 กว่าเหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ราคาในประเทศถูกกำหนดเป็นอัตราคงที่ 320 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้มีส่วนต่างอยู่ที่ 400 เหรียญสหรัญเทียบเป็นราคาขายปลีกทำให้ต้องปรับราคาภาคขนส่งเฉลี่ย 7-8/กก.
"คงจะต้องติดตามราคาตลาดโลกและการนำเข้า ณ ขณะนั้นเป็นหลักว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งปกติแล้วราคาช่วงกลางปีจะลดต่ำลง ซึ่งการที่รัฐจำเป็นต้องขึ้นราคาให้สะท้อนกลไกตลาดโลกส่วนรถยนต์เพราะเวลานี้การใช้ก๊าซหุงต้มสูงมากจากเดือนละ 3 แสนตัน เพิ่มเป็น 3.4 แสนตันทำให้ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอและไม่เกิดปัญหาขาดแคลน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไทยต้องนำเข้าจากเดิมที่เป็นผู้ส่งออก" นายเมตตากล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันปตท.เป็นผู้นำเข้าล็อตแรกในเดือน เม.ย. จำนวน 2 หมื่นตัน พร้อมกับรับภาระส่วนต่างราคานำเข้าที่สูงกว่าราคาที่จะมาจำหน่ายจริงในประเทศโดยรัฐมีเงื่อนไขว่าจะจ่ายเงินส่วนต่างคืนภายหลังเมื่อมีการปรับราคาขายปลีกสำหรับภาคขนส่งแล้วโดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลและสะสมเงินคืนปตท.แต่จะครบเมื่อใดคงจะตอบไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นยังจะสร้างส่วนต่างราคาก๊าซหุงต้มให้ต่างจาก NGV เพื่อดึงดูดการใช้ NGV แทน ซึ่งหากต้องปรับขั้นต้น 7-8 บาทต่อกก.ก็จะทำให้ก๊าซหุงต้มขยับเป็น 18-19 บาทต่อกก. ขณะที่ราคา NGV จะอยู่ที่ 8.50 บาท ต่อกก. แต่การปรับคงอาจจะไม่ได้ ทำทีเดียวแต่จะค่อยๆ สะท้อนราคานำเข้า เพื่อไม่ให้กระทบมากเกินไป
สำหรับการปรับขึ้นราคาภาคขนส่งจะเป็นช่วงที่ปตท.รับปากไว้ว่าการบริการระบบเอ็นจีวีทั้งหมดจะมีความพร้อมรองรับความต้องการทั้งจำนวนปั๊มที่เพิ่มขึ้น การจัดส่งก๊าซฯ จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.นี้ แน่นอน ดังนั้นน่าจะเป็นเงื่อนไขให้คนใช้รถยนต์หันมาเติม NGV มากขึ้นเพราะปัจจุบันผู้ใช้ส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิเสธ NGV โดยเฉพาะรถแท็กซี่นั้นระบุชัดเจนว่าเหลือเงินมากกว่าก๊าซหุงต้มแต่มีปัญหาตรงที่ปั๊มน้อยต้องรอคิวยาวจึงทำให้ยังมองก๊าซหุงต้มมากกว่า ส่วนก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนนั้น รมว.พลังงานให้ความสำคัญมากเพราะไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากเกินไป ซึ่งจะมีการประเมินสถานการณ์กันอีกครั้งในเดือน ก.ค.นี้ ว่าควรมีการบริหารจัดการในเรื่องนี้อย่างไร