xs
xsm
sm
md
lg

“เมียสุวัจน์” ถกด่วน สนพ.แก้ปัญหาก๊าซหุงต้มแพง บ่ายนี้ คาดไม่กล้ารื้อแผน “ปิยสวัสดิ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.พลังงาน โร่ถกด่วน สนพ.บ่ายวันนี้ เร่งแก้ไขปัญหาก๊าซหุงต้มราคาแพง หลังการประกาศลอยตัว LPG เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา สั่ง ประเมินผลกระทบแผน “ปิยสวัสดิ์” ทั้งภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม และขนส่ง หลังครบรอบ 1 เดือน ของการลอยตัวเต็มเพดาน

มีรายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงบ่ายวันนี้ (15 ก.พ.) พลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางเข้ามาหารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้ ในการดูแลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หลังจากเมื่อช่วงเช้าได้หารือกับกรมธุรกิจพลังงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะเป็นการประเมินผลการลอยตัวก๊าซหุงต้ม ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จากการปรับสูตรการคำนวณโครงสร้างราคาก๊าซของรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งจะต้องดูว่ามีผลกระทบต่อภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง ไปจนถึงสิ้นปีนี้มากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หน้า กระทรวงพลังงาน จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ทั้ง สนพ.และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งคาดว่าจะได้แนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซหุงต้มในสัปดาห์หน้า โดยแหล่งข่าวภายใน ระบุว่า รัฐบาลคงยังไม่กล้ารื้อแผนลอยตัวก๊าซ LPG ของรัฐบาลชุดก่อน เพราะยังไม่มั่นใจผลกระทบต่อโครงสร้างทั้งหมด และคงต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้งานอีกหลายเดือน

ทั้งนี้ สนพ.ได้ประกาศลอยตัวราคาก๊าซ LPG และให้มีผลทันทีในวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับราคาขายส่ง ณ โรงกลั่น ที่ราคา 1.20 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาจำหน่ายปลีกก๊าซหุงต้มจะอยู่ที่ 18.01 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) โดยราคาก๊าซหุงต้มถัง 15 กก.เพิ่มขึ้น 18 บาท/ถัง เป็น 270 บาท/ถัง จากเดิมอยู่ที่ระดับ 16.81 บาท/กก.หรือ 252 บาท/ถัง 15 กก.

ส่วนสาเหตุที่ต้องปรับราคาก๊าซหุงต้มครั้งนี้ นายวีระพล จิระประดิษฐกุล ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวให้เหตุผลในตอนนั้น ว่า เพื่อลดภาระการชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯที่ต้องจ่ายให้กองทุนก๊าซเดือนละ 279 ล้านบาท ส่วนการลอยตัวแอลพีจีเต็มรูปแบบนั้นจะดำเนินการในปี 2551 อีกทั้งป้องกันการใช้ก๊าซหุงต้มผิดประเภท โดยเฉพาะการใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ รวมถึงการดัดแปลงไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอาจเกิดความไม่ปลอดภัยด้วย

“ที่ผ่านมา รัฐบาลใช้นโยบายตรึงราคาก๊าซหุงต้มมาตลอด โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาจ่ายชดเชย จนมีผลให้ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มต่ำกว่าน้ำมันชนิดอื่น ทำให้เกิดการใช้ก๊าซหุงต้มแทนน้ำมัน โดยเฉพาะภาคขนส่ง ผู้ใช้รถยนต์เปลี่ยนมาใช้ก๊าซหุงต้มแทนน้ำมันเบนซิน โดยในปี 2550 เพิ่มขึ้นถึง 29.7% และภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนมาใช้แทนน้ำมันเตา ขณะที่การผลิตก๊าซหุงต้มปี 2550 มีเพียง 6.8% ถ้าปล่อยให้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เกิดการขาดแคลนก๊าซหุงต้มในอนาคตอันใกล้นี้”

นอกจากนี้ ราคาก๊าซหุงต้มในประเทศที่จำหน่ายต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีการลักลอบส่งออก เป็นการสูญเสียเงินจากกองทุนน้ำมันฯที่ไปชดเชย

สำหรับการปรับราคาก๊าซหุงต้ม เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2550 สนพ.คาดว่า จะส่งผลกระทบต่อค่าก๊าซหุงต้มครัวเรือนเดือนละ 9 บาท หากใช้ก๊าซหุงต้ม 2 เดือนต่อ 1 ถัง ขนาด 15 กก.มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของรถแท็กซี่เพิ่มขึ้นกะละประมาณ 24 บาท มีผลกระทบต่ออาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 4 สตางค์/1 จานเท่านั้น ถือเป็นการปรับราคาไม่มาก และไม่ใช้ข้ออ้างที่จะปรับราคาสินค้า ซึ่งในส่วนนี้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้ดูแล ไม่ให้มีการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค

นายวีระพล ยังกล่าวถึงการลอยตัวก๊าซหุงต้มเต็มรูปแบบในปีนี้ โดยระบุว่า ช่วงไตรมาส 1 ปี 2551 รัฐบาลเตรียมปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ทั้งในส่วนของราคาขายส่งหน้าโรงแยกก๊าซ และโรงกลั่น ต่อเนื่องจากการที่ภาครัฐได้ประกาศยกเลิกชดเชยราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นในวันเดียวกันนี้ โดยการปรับราคาในส่วนโรงแยกก๊าซ จะปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 95% ของราคาตลาดในประเทศ ขณะที่ในส่วนของโรงกลั่น จะปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 5% ของราคาตลาดโลก ซึ่งจะทยอยปรับขึ้นราคาทุกๆ ไตรมาสในปีหน้า โดยจะขยับสัดส่วนการปรับขึ้นราคาเป็น 90 ต่อ 10, 80 ต่อ 20, 70 ต่อ 30 และครั้งสุดท้าย 60 ต่อ 40 ภายในต้นปี 2552 ซึ่งถือเป็นการประกาศลอยตัวก๊าซหุงต้มได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายแห่งชาติ (กบง.) แต่ถ้ารัฐบาลชุดใหม่ไม่เห็นด้วยกับแผนปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม สามารถเสนอแก้ไขได้
กำลังโหลดความคิดเห็น