รมว.พลังงาน เตรียมเคาะสรุปราคาก๊าซหุงต้ม วันนี้ เตรียมผ่า 2 ตลาด เปิดทางผู้ค้าปรับขึ้นราคาในส่วนก๊าซแอลพีจีใช้เติมรถยนต์ ยื่นหมูยื่นแมว นโยบายให้ตรึงราคาก๊าซหุงต้มในครัวเรือน ผู้บริหาร ปตท.ขู่ภาวะขาดแคลน อาจต้องนำเข้าราคาแพง แย้มสูตรใหม่ ก๊าซเติมรถยนต์ปรับขึ้นทันที 1.50 บาท/ลิตร
วันนี้ (26 ก.พ.) พลโท (หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยก่อนเข้าร่วมประชุมหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซหุงต้ม 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.), บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เพื่อหาคำตอบว่าการดูแลราคาก๊าซหุงต้ม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้มใหม่ หรือการแยกราคาออกเป็น 2 ตลาด โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในวันนี้
“จะหารือกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวง เพื่อหาแนวทางลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้มอยู่บนพื้นฐานที่ให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด และเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนต่อไปได้ ซึ่งต้องได้คำตอบที่ชัดเจน”
ส่วนเรื่องการเก็บภาษีหัวจ่าย พลโท (หญิง) พูนภิรมย์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำหนังสือ เพื่อนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
ก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.กล่าวว่า หากกระทรวงพลังงานไม่ตัดสินใจการใช้ก๊าซหุงต้มให้ชัดเจน อนาคตจะทำให้ปริมาณการใช้ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้อาจจะต้องนำเข้าก๊าซหุงต้ม และแน่นอนว่า ราคาก๊าซหุงต้มจะต้องแพงกว่าราคาที่กำหนดขายภายในประเทศมาก ทำให้เกรงว่าจะกลายเป็นภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะต้องเข้ามาดูแล
“วันนี้ถึงเวลาที่จะต้องพิจารณากันแล้ว ซึ่งคงจะต้องดูผลกระทบใน 3 ภาคส่วน คือ ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยหากใช้กลไกการปรับราคาให้ต่างกันตั้งแต่โรงแยกก๊าซ และหัวจ่ายก็จะต้องดูให้รอบคอบ ซึ่ง ปตท.ยินดีที่จะทำตามนโยบายของรัฐในฐานะที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ และหากแยกราคาก๊าซหุงต้มออกเป็น 2 ราคา คือ ราคาก๊าซหุงต้มสำหรับภาคครัวเรือนกับภาคขนส่ง ก็สามารถทำได้ แต่จะต้องมีมาตรการมารองรับ” นายประเสริฐ กล่าว
ทั้งนี้ ปริมาณการใช้น้ำมันในภาคขนส่งปรับขึ้น 20-30% ภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น 10-20% โดยสาเหตุที่ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาก๊าซหุงต้มถูกกว่าราคาน้ำมันเตา ซึ่งในอนาคตก็จะทำให้ปริมาณก๊าซหุงต้มไม่พอใช้ และจะมีการลักลอบส่งขายประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพราะปัจจุบันราคาก๊าซหุงต้มในไทยถูกกำหนดเพดาน อยู่ที่ 330 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ในขณะที่ราคาก๊าซ ในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ ราคาอยู่ที่ 800 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน