xs
xsm
sm
md
lg

"มิ่ง"บ้อท่าลดราคาสินค้า ผู้ผลิตยอมแค่ตรึง "หมัก"เฉ่งปากไว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรียลิตี้โชว์ "มิ่งขวัญ"เหลว บีบสินค้าลดราคาไม่ได้ แต่ยังดีได้ มาม่า ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน แชมพู ช่วยกู้หน้า ยอมตรึงราคาขาย แต่ไม่รับปากจะตรึงถึงเมื่อใด ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่บอกจะลดราคา ไม่ใช่ฝีมือ แต่เป็นเพราะผู้ผลิตต้องแข่งกันเองอยู่แล้ว อ้อมแอ้มบอก 6 มี.ค.นี้ จะมีข่าวดีให้ สินค้าใดลดราคาได้ ไม่ได้ ด้าน"หมัก"เฉ่ง"มิ่ง"ปากไว เรื่องลดราคาสินค้า เผย ภาวะราคาน้ำมันพ่นพิษ ยอดนำเข้าพุ่ง เดือน ม.ค.ขาดดุลการค้า 653 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้านพลังงานเตรียมถก กพช. สัปดาห์หน้ารับมือน้ำมัน

วานนี้ (22 ก.พ.) เวลา 14.00 น. ที่กระทรวงพาณิชย์ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เชิญผู้ผลิตกว่า 300 รายใน12 กลุ่มสินค้า เช่น อาหารและเครื่องดื่ม ข้าว ของใช้ประจำวัน กระดาษและผลิตภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเลียม ปัจจัยการเกษตร ผลิตภัณฑ์ขนส่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่นๆ มาประชุมหารือในเรื่องนโยบายดูแลราคาสินค้า เพื่อหาทางช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชน

นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า ผลการหารือได้ข้อสรุปว่า มีสินค้าที่มีคำตอบให้ทันทีว่าจะไม่มีการปรับขึ้นราคา ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยืนยันว่าราคาจะคงเดิม และมีแนวโน้มว่าราคาจะปรับลดลง รวมไปถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อมาม่า ที่ระบุว่า จะไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าอีก และสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ผงซักฟอก ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน และแชมพู และน้ำพริกยี่ห้อพันท้ายนรสิงห์ ก็รับว่าจะไม่มีการปรับราคา

"ผู้ประกอบการเหล่านี้ ยืนยันที่จะไม่ปรับขึ้นราคาสินค้า โดยกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า มีแนวโน้มที่ราคาลดลง ตามกลไกตลาดจากการแข่งขันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ส่วน มาม่า จะไม่ขึ้นหลังจากได้รับการปรับราคาซองละ 1 บาท ขณะที่กลุ่มซักล้าง ก็ยังไม่ปรับ แม้ต้นทุนวัตถุดิบจะสูงขึ้นก็ตาม"นายมิ่งขวัญ กล่าว

สำหรับสินค้าที่เหลืออีกหลายร้อยรายการ ได้ขอให้ไปหาวิธีการที่จะลดต้นทุนการผลิตสินค้า โดยกระทรวงพาณิชย์จะมีการเรียกกลุ่มเหล่านี้มาหารือเป็นหมวดๆ คาดว่าจะได้ข้อสรุปสุดท้าย ภายในวันที่ 6 มี.ค. ว่ามีสินค้าใดที่ปรับลดราคาได้บ้าง ยกเว้นกลุ่มหมู และค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ที่จะได้ข้อสรุปการปรับลดราคาก่อนระยะเวลาที่กำหนด 6 มี.ค. โดยในสัปดาห์หน้า จะหารือกับกลุ่มเนื้อหมู เพื่อขอให้ปรับลดราคาลงมา

"สินค้าบางกลุ่ม ยอมรับว่าต้นทุนสูงขึ้นจริง เช่น น้ำมันพืช ได้ขอให้กลับไปทำการบ้าน เพื่อมาหารือกันอีกรอบ โดยมองว่าสินค้าใดที่ผลิตจำนวนมาก ใช้หลักอีโคโนมี่ ออฟ สเกล และแมส โปรดักชั่น น่าจะลดต้นทุนได้ เพราะเมื่อผลิตออกมามาก ต้นทุนก็น่าจะถูกลง" นายมิ่งขวัญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าออกมาจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนโดยจะให้กรมส่งเสริมการส่งออกไปหาตลาดส่งออกให้ โดยเบื้องต้นจะเน้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า สปป.ลาว และกัมพูชา เพราะประเทศเหล่านี้ต้องการสินค้าไทยอยู่แล้ว

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ในที่ประชุม ส่วนใหญ่นายมิ่งขวัญ จะชี้แจงถึงนโยบายของรัฐบาลมากกว่า ว่าจะหารายได้เข้าประเทศอย่างไร เช่น การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยว การผลักดันการส่งออก และการดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและพันธบัตรรัฐบาล และยังได้พูดถึงความสำเร็จของตัวเองในการบริหารงานที่ อ.ส.ม.ท. ขณะที่แนวทางในการดูแลราคาสินค้า หรือการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ พูดไม่ค่อยชัดเจน เพียงแต่บอกว่าจะมีการหารือเป็นรายกลุ่มอีกครั้ง

ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในที่ประชุม ได้ยืนยันว่าไม่สามารถปรับลดราคาสินค้าลงได้ เพราะต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้นจริง เช่น น้ำมันพืช แป้งสาลี และไม่มีผู้ประกอบการรายใดยืนยันว่าจะตรึงราคา หรือลดราคาลง จนนายมิ่งขวัญ ต้องพูดกับผู้ประกอบการว่าถ้าไม่มีอะไรออกไปบอกผู้สื่อข่าว ทั้งๆ ที่รับปากว่าจะมีข่าวดี คงโดนเล่นงานแน่ จนในที่สุดได้บีบคอให้สินค้าข้างต้นรับปากว่าจะตรึงราคาต่อไป แต่จะตรึงถึงเมื่อใดนั้น ค่อยหารือกันอีกที ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ใช่เป็นเพราะฝีมือที่ทำให้ตรึงราคา หรือลดราคาได้ แต่เป็นเพราะสินค้ากลุ่มนี้มีการแข่งขันกันรุนแรงอยู่แล้ว เมื่อเทคโนโลยีใหม่เข้ามา ราคาก็ต้องลดลง และลดเร็ว

นายสันติ ตันติเวชวุฒิกุล นายกสมาคมน้ำปลาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยให้มีการปรับลด ราคาสินค้าน้ำปลา เพราะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากวัตถุดิบปลาเพื่อใช้การผลิต ภาชนะพลาสติก และอื่นๆ แม้เพิ่งได้ปรับการอนุมัติปรับขึ้นราคาเมื่อปลายปี 50 ประมาณ 14% อีกทั้งน้ำปลาไม่ใช่สินค้าผูกขาด มีการแข่งขันสูง และมีผู้ผลิตมากรายมากยี่ห้อ หลากหลายราคาตั้งแต่ราคาขวดละ 5-10 บาท ขึ้นไป หากจะให้ปรับลดลงอีกจะเป็นการซ้ำเติมผู้ผลิตให้การดำเนินธุรกิจแย่ลงอีก

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรแก้ปัญหาผลกระทบจากต้นทุนแอบแฝงก่อนที่จะขอให้ผู้ผลิตสินค้าปรับลดราคา เพราะต้นทุนแฝง เช่น ค่าธรรมแรกเข้าในการนำสินค้าเข้าห้างค้าปลีก ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีต้นทุนที่มากกว่าต้นทุนจากวัตถุดิบนำเข้าที่ปรับเพิ่มราคาเสียอีก หากลดช่องว่างตรงนี้ได้ จะทำให้ราคาสินค้าที่จำหน่ายลดลงมาเอง เพราะขณะนี้ผู้ผลิตผลักภาระต้นทุนแฝงให้กับผู้ซื้อ

แหล่งข่าวจากกลุ่มแบตเตอรี่รถยนต์ กล่าวว่า ในวันที่ 1 มี.ค. ทางกลุ่มฯจะยื่นต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ให้กรมการค้าภายในพิจารณา หลังจากที่ถูกบรรจุเป็นสินค้าควบคุม เบื้องต้นมีแนวโน้มที่จะขอปรับราคาขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ คือ ตะกั่ว ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 3 ปีก่อนราคาตะกั่วอยู่ที่ 500 เหรียญสหรัฐ/ ตัน ปัจจุบันอยู่ที่ 3 พันเหรียญสหรัฐ/ตัน และคาดว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอีก ซึ่งหากตะกั่วทะลุ 3 พันเหรียญสหรัฐเมื่อไร จะขอปรับขึ้นราคาสินค้าแบตเตอรี่อีกประมาณ 10-15%

น้ำมันพ่นพิษม.ค.ขาดดุล 653 ล้าน US$

นายมิ่งขวัญ กล่าวถึงการส่งออกสินค้าไทยในเดือนม.ค.51 มีมูลค่า 13,959.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 33.3% ซึ่งเป็นการส่งออกที่ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง จากช่วงปลายปี 50 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 14,613.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 49.1% เป็นการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมาเช่นเดียวกัน ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 653.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

สาเหตุที่ไทยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมา เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงสูงมากเป็นมูลค่า 2,710.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 73.5% โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบปริมาณ 25 ล้านบาร์เรล มูลค่า 2,381.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.3% มูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 99.99% ขณะที่เดือนเดียวกันของปีก่อน มีการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงแค่มูลค่า 1,562.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ ไทยยังมีการการชำระค่าเครื่องบิน 239 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการนำเข้าแท่นขุดเจาะน้ำมัน 532 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่สำคัญยังมีการนำเข้าสินค้าทุน ซึ่งได้แก่ เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกในอนาคต ขณะที่สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ทองคำ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ก็ล้วนแต่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในเดือน ก.พ. คาดว่าจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในด้านการลงทุน และโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งจะทำให้มีการนำเข้าสินค้ากลุ่มทุนและสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น

"การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เป็นเหตุผลไม่ปกติ เพราะน้ำมันนำเข้ามามาก และมีราคาแพง แต่การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบเข้ามามาก จะเป็นผลดีทำให้การส่งออกในเดือนต่อๆ ไปขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยยังคงมั่นใจว่าการส่งออกของปีนี้จะมีอัตราการขยายตัวในเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 10-12.5% อย่างแน่นอน"นายมิ่งขวัญกล่าว

ส่วนตลาดส่งออก ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 50 ทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่ โดยตลาดใหม่ขยายตัวสูงถึง 48.3% ตลาดหลักขยายตัว 21% โดยตลาดหลักสำคัญที่เพิ่มขึ้น คือ อาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ขยายตัว 32.9% 21.5% 11.4% ส่วนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 16.6% ตลาดใหม่สำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น อินโดจีนและพม่า 77.9% แอฟริกา 75.6% ลาตินอเมริกา 73.2% ยุโรปตะวันออก 60.8% ฮ่องกง 57.7% ออสเตรเลีย 49% ตะวันออกกลาง 45.6% จีน 45.5% อินเดีย 37.7% เกาหลีใต้ 27.2% และแคนาดา 6.4% ยกเว้นไต้หวันที่ส่งออกลดลง 17.5%

"หมัก"ฉะ"มิ่ง"ปากไวแก้ของแพง

นายสมัคร สนุทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว. กลาโหม กล่าวถึง การขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการไม่ให้ปรับขึ้นราคาสินค้านั้น เรื่องนี้นายมิ่งขวัญ อาจจะกล่าวเร็วเกินไป เนื่องจากไม่ได้เป็นการบังคับให้ผู้ประกอบการไม่ให้ขึ้นราคาสินค้า แต่เป็นการขอความร่วมมือว่า หากจะมีการปรับขึ้นราคาสินค้า ควรให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างเป็นธรรม

ถก กพช.สัปดาห์หน้ารับมือน้ำมัน

พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปพัลลภ รมว.พลังงานกล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสัปดาห์ที่ผ่านมาจนทะลุระดับ 100 เหรียญฯต่อบาร์เรล ล่าสุดเริ่มมีการอ่อนค่าลงมาเล็กน้อยแล้ว อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันถือเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือประชาชนดังนั้นจะมีการนัดหารือในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในสัปดาห์หน้าในการลดผลกระทบจากภาวะน้ำมันแพง

"คงต้องดูว่าจะช่วยเหลือประชาชนอย่างไรแนวทางเรื่องของปัจจัยภายในคงต้องมาดูเรื่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนอนุรักษ์พลังงานว่าจะนำมาใช้ได้หรือไม่ คงยังไม่ขอสรุปว่าท้ายสุดจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับที่ประชุมที่จะมีหลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้อง" พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้กำชับ ปตท.ให้ดูแลค่าการตลาดที่เหมาะสมไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งจากการหารือกับปตท. ก็ระบุว่าค่าการตลาดที่เป็นอยู่ขณะนี้ถือว่าได้รับต่ำมากอยู่แล้ว โดยล่าสุด ค่าการตลาดดีเซลติดลบ ส่วนเบนซิน 95 นั้นค่าการตลาดอยู่ที่ 37 สตางค์ต่อลิตร หากคุ้มทุนจริงควรจะอยู่ที่ 1.50 บาทต่อลิตร

ยังไม่เคาะราคาก๊าซหุงต้ม

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปแนวทางการพิจารณาราคาก๊าซหุงต้มได้ โดยจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสัปดาห์หน้า โดยยอมรับว่าแนวทางการแยกราคาระหว่างภาคขนส่งและภาคครัวเรือน เป็นสิ่งที่ต้องการจะดำเนินการ เพราะไม่ต้องการให้กระทบกับภาคครัวเรือนแต่ในส่วนของภาคขนส่งนั้น คงจะต้องมาพิจารณาถึงทางเลือกให้ด้วยโดยเฉพาะความพร้อมในการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ เอ็นจีวี

"มีหลายแนวทางที่ดูเบื้องต้น การขึ้นราคาเฉพาะภาคขนส่งก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งคงจะต้องดูความเหมาะสมก่อนที่จะประกาศคิดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งราคาก๊าซหุงต้มที่พิจารณาเบื้องต้นของแผนเดิมนั้นในไตรมาสแรกปี 2552 นั้นจะต้องมีการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มถึง 7 บาทต่อกิโลกรัมก็ค่อนข้างมากเราก็จะต้องดูผลกระทบ ความพร้อมเอ็นจีวีและผู้ผลิตด้วย"รมว.พลังงาน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น