ธปท.ขอคุมสถาบันการเงินแบบเบ็ดเสร็จ ยันความเหมาะสมกับ ศก.ไทย เพราะมีสถาบันการเงินน้อยราย ทำให้เข้าไปตรวจสอบได้รวดเร็ว หากเกิดวิกฤตการเงิน ส่วนกรณีของสหรัฐฯที่แยกอำนาจกำกับและการตรวจสอบ เพราะมีสถาบันการเงินจำนวนมาก และมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งขนาด และท้องถิ่น สามารถสั่งปิดได้ง่าย ต่างกับของไทย
นายพงศ์อดุลย์ กฤษกฤษณะราช ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์และติดตามฐานะ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงแนวทางในการรวมอำนาจการกำกับดูแลและตรวจสอบฐานะสถาบันการเงินไว้ที่ ธปท.โดยไม่ต้องแยกกำกับเหมือนที่สหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นไปตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทย เพราะสถาบันการเงินไทยมีจำนวนน้อยราย และปัจจุบันมีโครงสร้างการทำงานที่เปิดให้คนนอกมาทำงานกำกับดูแลสถาบันการเงินมากขึ้น
“ต่อไปนี้ ผู้ว่าการ ธปท.ก็จะเป็นประธานคณะกรรมการ ธปท.ไม่ได้ แต่ให้เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ ทำให้โครงสร้างใหม่โปร่งใส และตรวจสอบได้มากขึ้นแล้ว ภาวะดังกล่าวช่วยให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ซึ่งมีคนนอกเข้ามามีส่วนในการกำกับดูแลสถาบันการเงินได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน การรวมกำกับและตรวจสอบก็มีข้อดี คือ ช่วยให้การรับรู้ข้อมูลที่ช่วยให้ ธปท.ทำงานตรวจสอบและกำหนดนโยบายการเงินสอดคล้องกันได้มากขึ้นเมื่ออยู่ภายใต้หมวกใบเดียวกัน
นายพงศ์อดุลย์ กล่าวว่า การจะรวมหรือแยกไม่ใช่ประเด็น แต่อยู่ที่ระบบแบงก์มีปัญหาแล้ว มีการเข้าดูแลทันสถานการณ์ และโปร่งใสหรือไม่ สุดท้ายอยู่ที่หัวเรือใหญ่หรือผู้เข้ามาใช้อำนาจ เพราะการตรวจสอบ
ตอนนี้ ธปท.ก็เน้นมองไปในอนาคต ไม่ได้มุ่งสอบย้อนหลังในอดีตมากเหมือนก่อน และการตรวจสอบยังปรับให้ใช้เวลาสั้นลง แต่ได้ข้อมูลตรงจุดกระชับรัดกุมขึ้น ทำให้มีข้อมูลมาใช้ตัดสินใจเข้าแก้ไขสถานการณ์เร็วขึ้น มีมาตรฐานสากลขึ้น ตอนนี้ไม่มีแบงก์ไหนน่าห่วง ฉะนั้นในยามที่แบงก์ไม่มีปัญหาจะคุมรวมหรือแยกก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว นายพงศ์อดุลย์ กล่าว
ทั้งนี้ ระบบสถาบันการเงินไทยต่างจากสหรัฐอเมริกา ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แยกดูแล เพราะสถาบันการเงินไทยมีน้อยราย และเป็นระบบเชื่อมโยง (Sytem Bank) แต่ธนาคารในสหรัฐเป็นสถาบันการเงินแบบแยก (Unit Bank) และมีจำนวนมาก แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น และขนาด ซึ่งมีการแยกกำกับตามค่าเฉลี่ยของมาตรฐานตลาด หากสถาบันการเงินใดมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ก็สามารถสั่งปิดหรือยุติการดำเนินงานได้ โดยไม่กระทบทั้งระบบ ทำให้การปิดธนาคารในสหรัฐไม่เป็นปัญหาใหญ่เหมือนในไทย
ตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่มีธนาคารพาณิชย์ไทย 17 แห่ง และสาขาธนาคารต่างชาติ 17 แห่ง รวม 34 แห่ง เหมาะสมกับเศรษฐกิจปัจจุบัน ดังนั้น การดูสภาพธนาคารและดูนโยบายการเงินช่วยให้การจัดการปัญหาง่าย มีความน่าเชื่อถือตามมาตรฐานสากล เพราะการตรวจสอบจะดูทั้งความเสี่ยง เงินกองทุน ผลประกอบการ แผนการดำเนินงาน และรายละเอียดอื่นๆ ที่ครอบคลุมอยู่แล้ว