xs
xsm
sm
md
lg

“พุทธิพงษ์” ตอกกลับ “สมัคร” เด็ก กทม.อ่านหนังสือออกทุกคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พุทธิพงษ์” ตอก “สมัคร” เด็ก กทม.อ่านออกทุกคน แค่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 2,800 คนหรือ 2% จากเด็กกว่า 3 แสนคน ชี้ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ป.1-3 ที่มาจากสภาพแวดล้อมต่างกัน สติปัญญาไม่เท่ากัน และไม่มีการคัดเด็กเข้าเรียนเหมือนที่อื่น แต่ยันโรงเรียน กทม.มีการพัฒนามากกว่าสมัยที่นายกฯ เป็นผู้ว่าฯ กทม.แน่นอน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) พร้อมด้วยนายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ รองปลัด กทม.ร่วมแถลงถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามของประชาชนที่ว่ามีเด็กนักเรียนในสังกัด กทม.ที่ยังอ่านหนังสือไม่ออกว่า ตนอยากชี้แจงให้สื่อมวลชนและผู้ปกครองเข้าใจอย่างถูกต้องซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา กทม.ได้ให้ความสำคัญที่จะพัฒนาการศึกษา-การอ่านของเด็กนักเรียนในสังกัดกทม.มากเป็นพิเศษ โดยได้มีการส่ง กทม.เข้าประกวด เข้าแข่งขันกับมหานครทั่วโลกเพื่อให้ได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลกเพราะต้องการให้กทม.เป็นเมืองแห่งการอ่าน ซึ่งการที่เราจะส่งเข้าประกวดได้นั้นได้มีการรณรงค์การรักการอ่านโดยได้เปิดบ้านหนังสือที่มีมากกว่าในอดีตกว่า 2-3 เท่า ซึ่งปีนี้มีบ้านหนังสือแล้วจำนวน 91 แห่ง และไม่เกินปลายปีก็ครบ 100 แห่ง
 
ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีออกมาพูดอย่างนั้นอาจทำให้ผู้ปกครองเข้าใจผิด ทั้งนี้ตัวเลขที่ได้มีการเผยแพร่ออกไปนั้นก็ล้วนมาจากกทม.ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการอ่านจึงได้มอบหมายให้สำนักการศึกษา กทม.สำรวจว่าเด็กนักเรียนในสังกัด กทม.จำนวน 345,000 คน มีทักษะการอ่านเป็นอย่างไร โดยแบ่งเป็นระดับชั้นใช้ 3 เกณฑ์ วัดคือ 1.อ่านคล่อง 2.อ่านได้แต่ไม่คล่อง และ3. ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งพบว่าเด็กกว่า 3 แสนคน อ่านได้คล่อง เด็ก 16,000 คนคิดเป็น 9% อยู่ในเกณฑ์ที่ 2 และอีก 3,600 คนหรือคิดเป็น 2% อยู่ในเกณฑ์ที่ 3 และในจำนวนนี้เป็นเด็กชั้นป.1-3 ถึง 2,800 คน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่อยู่ในกลุ่มนี้จะอ่านหนังสือไม่ออกแต่เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ แล้วยังไม่ถึงเกณฑ์ ทั้งนี้ตนเห็นว่าการอ่านของเด็กจำนวนนี้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานมาจากหลายปัจจัยทั้งสภาพแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดู สังคม

“โรงเรียน กทม.เป็นเพียงแห่งเดียวในประเทศที่ไม่เคยเลือกปฏิบัติ ในการรับเด็กไม่ว่าเขาจะมาจากไหน สิ่งแวดล้อม สังคมอย่างไร มีความรู้มากน้อยแค่ไหน โรงเรียน กทม.เราไม่เคยเลือกเด็กเก่ง หรือเขาจะมีสติปัญญาช้าหน่อยแต่เราก็ต้องรับ ไม่เหมือนโรงเรียนอื่นที่มีการสอบคัดเลือกเอาแต่หัวกะทิ จึงเป็นที่มาทั้ง 3 เกณฑ์ ทั้งนี้ที่ผ่านมาโรงเรียนในสังกัด กทม.ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจาก สมศ.ถึง 2 ครั้งซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานระดับประเทศ ที่สำคัญช่วงนี้อยู่ระหว่างการรับเด็กนักเรียนใหม่ ก็ไม่อยากให้ผู้ปกครองเกิดความเข้าใจผิดทำให้ไม่กล้าพาลูกหลานมาเรียนโรงเรียนสังกัด กทม.เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมาโรงเรียนสังกัด กทม.ได้พัฒนามากกว่า 4 ปีที่แล้วซึ่งได้รับคำชมเชยจากหน่วยงานอื่น” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น