xs
xsm
sm
md
lg

“เลี้ยบ” เปรียบ ศก.ไทยต้องเข้าห้องไอซียู ยันขึ้นเงินเดือน ขรก.ไม่เร่งเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หมอเลี้ยบ” เทียบ ศก.ไทยเข้าขั้นผู้ป่วยไอซียู จำเป็นต้องใช้ยาแรงหลายขนานพร้อมๆ กัน เพราะไม่มีเวลาทดลองยาอีกแล้ว พร้อมระบุ ชี้การปรับขึ้นเงินเดือน ขรก.ไม่ใช่ตัวเร่งภาวะเงินเฟ้อ ลั่นเดินหน้า งบเอสเอ็มแอล-กองทุนหมู่บ้าน และโครงการพักหนี้ ชงเข้า ครม.พรุ่งนี้

วันนี้ (24 มี.ค.) นายแพทย์ (นพ.) สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจในภาวะปัจจุบันในงานสัมมนา “โรดแมปฟื้นเศรษฐกิจชาติ” โดยระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่มีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อให้ได้ผลทันต่อเวลา เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้ไม่มีเวลาเหลือพอที่จะนำมาตรการใดมาทดลองใช้ หรือทำแบบลองผิดลองถูก

“การดูแลผู้ป่วยที่เพิ่งเข้าไอซียูใหม่ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และต้องเบ็ดเสร็จชัดเจนแข่งกับเวลา เราไม่มีเวลาเหลือมากพอที่จะทดลองยาแล้ว”

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ช่วงที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีปัจจัยเสี่ยงทั้งที่เป็นเรื่องมาจากต่างประเทศและภายในประเทศ รัฐบาลจึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าต่อไป

“เครื่องยนต์ 3 ตัวที่ไม่ทำงานมาจากปัญหาขาดความเชื่อมั่น ไม่มั่นใจรายได้ในอนาคต คนมองภาพในอนาคตไม่ชัดเจน โจทย์ของรัฐบาลคือทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าบ้านเมืองเดินไปได้”

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ต้องใช้มาตรการหลายส่วน และครอบคลุมทั่วประเทศ โดยรัฐบาลพยายามทยอยนำมาตรการต่างๆ ออกมาใช้ ซึ่งในวันพรุ่งนี้ตนเองจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าเข้าที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.)

“การรักษาโรคไม่มีหมอคนไหนให้ยารักษาโรคขนานเดียวแล้วโรคจะหาย ถ้ายังอยู่ในไอซียูต้องใช้ยาหลายขนาน”

สำหรับแนวทางการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ คาดว่า จะมีข้อสรุปเร็วๆ นี้ โดยยืนยันจะไม่เป็นส่วนสำคัญผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นไปอีก เพราะที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อเป็นผลมาจากราคาสินค้าสูงขึ้นจากต้นทุนราคาน้ำมันแพง แต่ไม่ใช่เป็นผลจากค่าแรงที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลเป็นห่วง เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อสูงแต่คนยังตกงาน

นพ.สุรพงษ์ มองว่า การออกนโยบายต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา และการจัดสรรเงินโครงการกองทุนเอสเอ็มแอล จะกระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่จะไม่เป็นส่วนสำคัญให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงเกินไป

“ผมยืนยันว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่น่าที่จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว หรือ Stagflation เพราะภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้ เป็นผลมาจากราคาน้ำมันเป็นหลักจึงยังสามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้อย่างเต็มที่”

นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในวันพรุ่งนี้จะนำเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. มีวงเงินรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยจะเร่งรัดการกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) จำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท , กองทุนหมู่บ้าน 1,600 หมู่บ้าน หรือประมาณ 1.6 พันล้านบาท และโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ด้วย เพื่อให้ทันใช้ในเดือน เม.ย.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น