xs
xsm
sm
md
lg

"ซิตี้กรุ๊ป" ส่อล้ม! ประกาศปลด พนง.ทันที 2 พันคน หลังเจ๊งซับไพรม์หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ซิตี้กรุ๊ป" ธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐ เตรีบมลอยแพพนักงานวาณิชธนกิจอีก 2 พันคน หลังไตรมาส 4 ขาดทุนในตลาดสินเชื่อและซับไพรม์สูงถึง 9.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 196 ปี

วันนี้(21 มี.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ซิตี้กรุ๊ป อิงก์ ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ได้ประกาศปลดพนักงานฝ่ายวาณิชธนกิจและฝ่ายเทรดดิ้งอีกประมาณ 2,000 ตำแหน่ง ในขณะที่ทางธนาคารดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่าย หลังจากที่ประสบภาวะขาดทุนรายไตรมาสสูงเป็นประวัติการณ์ จากปัญหาซับไพรม์และสินเชื่อด้อนคุณภาพ

การลดพนักงานดังกล่าว เพิ่มเติมจากการปลดพนักงาน 4,200 คนที่นายวิกรม บัณฑิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประกาศไปเมื่อเดือน ม.ค. โดยการลดพนักงานส่วนใหญ่ในเดือน ม.ค.อยู่ในฝ่ายวาณิชธนกิจและเทรดดิ้งเช่นกัน ขณะที่ทางธนาคารมีพนักงานประมาณ 60,000 คน ในธุรกิจหลักทรัพย์และมีพนักงานรวมทั้งหมด ราว 375,000 คน เมื่อสิ้นสุดปี 2007

โดยรายงานข่าวบนเว็บไซต์ บลูมเบิร์กดอทคอม ระบุว่า แหล่งข่าวในซิตี้กรุ๊ป กล่าวว่า จำนวนการลดพนักงานของซิตี้กรุ๊ปจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 คน จากที่ประกาศลดไปก่อนหน้านี้ในเดือนมกราคม โดยการลดพนักงานฝ่ายหลักทรัพย์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 10% ของพนักงานฝ่ายหลักทรัพย์ทั้งหมด

"การลดพนักงานส่วนใหญ่ตามที่ประกาศครั้งนี้จะเกิดขึ้นในสิ้นเดือนนี้ และจะทำให้จำนวนพนักงานที่ถูกปลดรวมเป็น 6,000 ตำแหน่ง หรือ เกือบ 10% ของฐานพนักงานธนาคารเพื่อการลงทุนของซิตี้ปรุ๊ป"

นายอดัม คาสเทลลานี โฆษกของซิตี้กรุ๊ป กล่าวว่า ทางธนาคารคาดว่าจะมีการปลดพนักงานในจำนวนที่มากกว่าปกติในกลุ่มลูกค้าสถาบัน โดยกลุ่มนี้ได้รวมถึงวาณิชธนกิจและฝ่ายเทรดดิ้ง รวมทั้งการลงทุนทางเลือกซึ่งให้บริการสำหรับกองทุนเฮดจ์ฟันด์และกองทุนหลักทรัพย์ส่วนบุคคล ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ รายงานถึงการปลดพนักงาน 2,000 คน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในนิวยอร์ก และลอนดอน ในขณะที่บางส่วนอยู่ในตลาดยุโรปและเอเชีย

โดยในไตรมาส 4 ซิตี้กรุ๊ป ขาดทุนจำนวน 9.83 พันล้านดอลลาร์ มากที่สุดในรอบ 196 ปี โดยได้รับผลกระทบจากการตัดมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชี 1.81 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการจำนองซับไพรม์และหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง โดยนักวิเคราะห์หลายรายคาดว่า ทางธนาคารจะขาดทุนต่อไปอีกในไตรมาสแรก ขณะที่ราคาหุ้นซิตี้กรุ๊ป ร่วงลงมากกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ได้ลดพนักงานมากว่า 30,000 คนแล้ว เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ประสบภาวะซบเซา และราคาสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลง

*** "แบร์ สเติร์นส์" ล้มทั้งยืนไปแล้ว "เฟด" โดดอุ้มทัน

โดยเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินในสหรัฐอเมริกามีอันต้องเผชิญกับความปั่นป่วนและสูญความเชื่อมั่นกันอีกระลอก จากข่าวการจวนเจียนจะล้มของแบร์ สเติร์นส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐ ที่เข้าไปพัวพันกับการลงทุนในตราสารเสี่ยงที่โยงกับซับไพรม์ จนต้องยืมมือรัฐบาลเป็นตัวกลางประสานการขายกิจการให้กับวาณิชธนกิจ เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ไปด้วยมูลค่าเพียง 236 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่ามูลค่าตามราคาตลาดของแบร์ สเติร์นส์ถึงกว่า 90%

กรณีดังกล่าว มีเฟด คอยอำนวยความสะดวกให้ ด้วยการจัดหางบเป็นการเฉพาะกิจสูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับรองรับสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำของแบร์ สเติร์นส์ เช่น ตราสารที่อิงสินเชื่อบ้านที่บริษัทไม่สามารถขายออกไปได้ จำนวนดังกล่าวถือเป็นงบที่เฟดออกให้ล่วงหน้าที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาที่ให้กับบริษัทหนึ่งๆ ซึ่งหากว่าสินทรัพย์ดังกล่าวถูกลดมูลค่าลงไปอีก อาจหมายถึงเฟดและชาวอเมริกัน จะต้องเป็นผู้รับภาระการขาดทุนดังกล่าวแทนเจพี มอร์แกน

ในช่วงเวลาเดียวกับการประกาศขายธุรกิจแบร์ สเติร์นส์ เฟดยังออกมาตรการฉุกเฉินกู้วิกฤติตลาดการเงินในประเทศด้วยการหั่นดอกเบี้ยมาตรฐาน หรือดิสเคาต์ เรต (discount rate) ลง 0.25% จาก 3.5% ไปอยู่ที่ 3.25% ซึ่งดิสเคาต์ เรตเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ที่เฟดเรียกกับธนาคารพาณิชย์ที่กู้ยืมเงินโดยตรงจากเฟด และยังได้ขยายมาตรการดังกล่าวครอบคลุมไปถึงสถาบันหลักทรัพย์ขนาดใหญ่อีก 20 แห่งให้ขอกู้เงินจากเฟดได้ในเงื่อนไขเดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป โดยไม่มีการจำกัดวงเงินกู้ ทั้งเฟดยังเปิดกว้างการใช้หลักทรัพย์ประกันการกู้ยืมจากผลิตภัณฑ์การลงทุนได้หลากหลายประเภทซึ่งรวมถึงตราสารที่อิงกับสินเชื่อบ้านที่ขายออกยากในตอนนี้

จากวิกฤติของแบร์ สเติร์นส์ก็ดี มาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินที่เฟดออกมาเป็นระลอกก็ดี สะท้อนภาพรวมของอุตสาหกรรมการเงินของสหรัฐฯ ในเวลานี้ที่กำลังตกที่นั่งลำบาก จนถึงมีการหวั่นเกรงกันว่า แบร์ สเติร์นส์อาจไม่ใช่เหยื่อรายสุดท้ายของวิกฤติซับไพรม์

"เรากำลังก้าวเข้าไปสู่ยุควิกฤติที่มีความน่ากลัวและเลวร้ายยิ่งขึ้นทุกที หากมองจากมุมของแบร์ สเติร์นส์ที่ถึงกับหมดหนทางจนต้องขายออกไปในราคาที่ถูกอย่างมาก ซึ่งในด้านหนึ่งอาจเป็นบทสะท้อนให้ตลาดมองได้ว่าภายในกำลังประสบปัญหาที่ร้ายแรงและในเชิงพื้นฐานของธุรกิจกำลังย่ำแย่อย่างที่สุด ซ้ำร้ายยังอาจนำมาสู่ข้อสรุปที่สร้างความกังวลใจได้มากกว่าว่า ปัญหาอาจลุกลามมาถึงสถาบันการเงินอื่นๆ ที่มีสภาพธุรกิจคล้ายกัน" นายมาร์โค อันนุนซิอาตา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากยูนิเครดิต กล่าว

ยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่วาณิชธนกิจหลายแห่งที่สำคัญทั้งโกลด์แมน ซากส์ เลห์แมน บราเธอร์ส และมอร์แกน สแตนเลย์อยู่ในช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2551 สถานการณ์ของแบร์ สเติร์นส์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งย่อมกระทบต่อราคาหุ้นและการบริหารงานของธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน

โดยดัชนีเอสแอนด์พี 500 ของกลุ่มหุ้นสถาบันการเงินในปีนี้มีมูลค่าลดลงไปแล้วราว 1 ใน 5 ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินประเภทวาณิชธนกิจหลายราย เช่น ซิตี้กรุ๊ป มอร์แกน สแตนเลย์ และเลห์แมน บราเธอร์สกำลังแบกรับภาระขาดทุนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

"คำถามที่เป็นแรงกดดันสำหรับนักลงทุนมาที่สุดในตอนนี้ก็คือ แล้วใครจะเป็นรายต่อไป" นายเจฟฟรีย์ โรเซนเบิร์ก หัวหน้านักยุทธศาสตร์สินเชื่อจากแบงก์ ออฟ อเมริกา ซีเคียวริตี้ส์ กล่าว

นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมการเงินคาดว่า ธนาคารในสหรัฐฯ มีโอกาสรายงานผลดำเนินงานขาดทุนเพิ่มอีกราว 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในครึ่งแรกของปี 2551 หลังจากที่ผ่านมามีการประกาศลดมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีลงไปแล้วมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากตลาดสำคัญอย่าง ตลาดสินเชื่อเพื่อการซื้อกิจการ สินเชื่อบ้าน และอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซาลงต่อเนื่อง

ในบรรดาสถาบันการเงินทั้งหมด เลห์แมน บราเธอร์สตกเป็นเป้าหลัก เนื่องจากมีธุรกิจกลุ่มตราสารหนี้ขนาดใหญ่ ทั้งยังเป็นผู้เล่นหลักในตลาดตราสารหนี้อิงสินเชื่อบ้าน ซึ่งนักวิเคราะห์ในซิตี้กรุ๊ปแสดงทรรศนะไว้เมื่อต้นสัปดาห์ว่า เลห์แมน บราเธอร์สมีแนวโน้มที่จะประกาศลดมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีเพิ่มอีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่โกลด์แมน ซากส์มีแนวโน้มว่าจะมีอนาคตสดใสกว่าคู่แข่งรายอื่นในตลาดท่ามกลางวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ส่วนหนึ่งเพราะมีการประกันความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารที่อิงสินเชื่อบ้านและที่อิงสินเชื่อซับไพรม์อื่น

ด้านนายไมค์ มาโย นักวิเคราะห์จากดอยช์ แบงก์ แสดงทรรศนะว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้น่าจะถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากช่วงหนึ่งสำหรับตลาดการเงิน และประเมินว่าโกลด์แมน ซากส์ น่าจะปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีอีกราว 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงดังกล่าวจากผลกระทบการเข้าไปลงทุนในตราสารที่อิงสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเพื่อการซื้อกิจการ
กำลังโหลดความคิดเห็น