xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าฯ เชื่องบ 1.5 หมื่น ล.กระตุ้น ศก.ได้ แนะจับตาราคาน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการ เชื่อมั่น มาตรการผันงบประมาณกว่าหมื่นล้านบาทของภาครัฐเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างดี แต่ยังคงให้จับตาความผันผวนด้านราคาน้ำมัน สถานการณ์ค่าเงินบาทยังคงเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจในระยะนี้

วันนี้ (16 มี.ค.) นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของภาครัฐโดยการผันงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ช่วยเหลือประชาชนระดับรากหญ้า โดยเชื่อว่า จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างดี เพราะมีการกระจายเม็ดเงินเข้าไปใน 70,000 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 200,000 บาท ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ ส่วนมาตรการลดภาษีนั้น มองว่า เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อมมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม หากรวมทั้ง 2 มาตรการจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 2551 โตที่ร้อยละ 5.0-5.5 แต่ที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 6 นั้นต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอนาคต ทั้งราคาน้ำมัน ปัญหาเศรษฐกิจซับไพร์มในสหรัฐฯ แต่อยากให้ภาครัฐมีมาตรการตัวอื่นมากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบให้ได้ 80,000 ล้านบาท เช่น พักหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน SML รวมถึงการผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์

ทั้งนี้ จากการสำรวจความเชื่อมั่นของคนในประเทศ และเศรษฐกิจของศูนย์พยากรเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำหากภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนก็จะสร้างความเชื่อมั่นได้มากขึ้น ส่วนเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภาคใต้ล่าสุดวานนี้ (15 มี.ค.) ก็เป็นปัจจัยที่นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุน แต่ปัจจัยดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่ ซึ่งอาจจะทบต่อการท่องเที่ยว การลงทุน บ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย ยังไม่เท่ากับสถานการณ์ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ปัญหาเสถียรภาพทางการเงินในประเทศ

โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้นัดประชุมร่วม 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยมีมติให้โยกงบโครงการอยู่ดีมีสุข 15,000 ล้านบาท เพื่อหว่านลงระดับรากหญ้า กระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยภายหลังการประชุม ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง แถลงว่าที่ประชุมมีการหารือกันในประเด็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 2551 ซึ่งยังไม่ความจำเป็นในการจัดทำ เพราะยังมีงบประมาณบางส่วนที่สามารถปรับแผนการใช้จ่ายได้ หรือกรณีของงบที่มีความล่าช้าจนไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทัน ซึ่งในส่วนนี้มีเม็ดเงินมากกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะมอบหมายให้ส่วนราชการที่เป็นเจ้าของเงินงบประมาณนั้นๆ พิจารณาปรับแผนการใช้เงินงบประมาณ

หากมีการตั้งงบกลางคาดว่าจะมีแรงกดดันต่อการเบิกจ่ายในปี 2551 ที่ทำได้ค่อนข้างยาก ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรวดเร็วจึงจำเป็นต้องใช้จ่ายให้ทันในปีงบประมาณ 2551 โดยนำเงินส่วนที่ไม่ได้ใช้หรือปรับเปลี่ยนโครงการ เช่น โครงการอยู่ดีมีสุขที่มีงบประมาณอยู่ 15,000 ล้านบาทให้แปลงเป็นการใช้จ่ายในกองทุนพัฒนาศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชน ซึ่งสามารถอัดฉีดเม็ดเงินได้ทันที

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีการหารือกันถึงโครงการพักหนี้เกษตร โดยมีเกษตรกรบางกลุ่มพยายามสร้างพฤติกรรมการเลี่ยงชำระหนี้เพื่อให้ได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ทางรองนายกฯและ รมว.คลัง จึงเสนอให้มีการกำหนดเงื่อนเวลาของผู้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงการนี้และต้องเข้าหลักเกณฑ์ให้มีการฟื้นฟูกิจการด้วย จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ ส่วนกรณีของกองทุนหมู่บ้านมีข้อสรุปให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้แบงก์รัฐ 3 แห่งเป็นพี่เลี้ยงคือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยดูแลระบบบัญชี การต่อยอดรายได้และให้ชุมชนมีศักยภาพที่ดี

ดร.สมชัย ยังได้กล่าวว่า ที่ประชุมมีการหารือถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 โดยสรุปให้เน้นในเรื่องของการจัดทำตามวินัยทางการคลัง โดยยึดกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดให้ภาระหนี้ต่อจีดีพีไม่เกิน 50% ภาระของงบประมาณเพื่อชำระคืนหนี้เงินกู้ไม่เกิน 15% และการตั้งงบลงทุนไม่น้อยกว่า 25% โดยตัวเลขพื้นฐานทางเศรษฐกิจของ 3 หน่วยงาน คือ สภาพัฒน์ ธปท.และกระทรวงการคลัง เห็นว่า ในปี 2552 พื้นฐานเศรษฐกิจไทยจะดีกว่าปี 2551 โดยประมาณการว่า จีดีพีจะโตที่ระดับ 5.50% และดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงกว่าปี 2551 เพราะรัฐบาลมีการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์เต็มรูปแบบที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีการนำเข้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม รองนายกฯ และ รมว.คลัง ได้มอบหมายให้พิจารณาตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดจากผลพวงของการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ จากที่ธปท.ประเมินเบื้องต้นว่าในปี 2552 ดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะอยู่ในระดับที่เกินดุลเล็กน้อย แต่รองนายกฯและรมว.คลังอยากเห็นในระดับที่ไม่เกินดุล

การจัดทำงบประมาณปี 2552 มีข้อจำกัดในการตั้งวงเงินงบประมาณ เพราะรัฐบาลมีภาระที่ต้องชดเชยจากการใช้จ่ายในเงินคงคลังในปีงบประมาณ 2550 วงเงินประมาณ 30,000 กว่าล้านบาทหรือคิดเป็น 0.5% ของจีดีพี ดังนั้น การขาดดุลจึงยังมีความจำเป็นอยู่ และจะต้องมีการจัดทำงบประมาณขาดดุลสูงมากกว่าปีงบประมาณ 2551 โดยที่รายละเอียดทั้งหมดจะนำเข้าขออนุมัติในคณะรัฐมนตรีในวันที่ 18 มีนาคมนี้ ทั้งนี้ จากการที่คาดว่าจีดีพีในปี 2552 จะดีขึ้นจะมีผลให้การจัดเก็บรายได้ดีขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าจะได้รับผลกระทบบางส่วนจากมาตรการลดหย่อนภาษี ซึ่งยอมรับว่าจะกระทบต่อรายได้ในปีงบประมาณ 2552 มากกว่าปีงบประมาณ 2551 คิดเป็นเม็ดเงินมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยที่รัฐบาลยังมีข้อจำกัดด้านรายได้และต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลอยู่

ในส่วนที่ขาดดุลนี้ยังให้ความสำคัญกับโครงการเร่งด่วน เช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการรักษาความสงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการพักหนี้เกษตรกร และโครงการผู้ว่าฯซีอีโอ ซึ่งมีเงินลงทุนในโครงการเหล่านี้ค่อนข้างสูง จึงให้พิจารณาเพิ่มเติมว่ามีส่วนใดบ้างที่ยังสามารถเบิกจ่ายได้หรือมีความจำเป็นน้อย ก็ให้ปรับลดลงเพื่อนำเม็ดเงินไปใช้จ่ายในส่วนอื่นที่มีความคุ้มค่าที่สุด

ซึ่งในเรื่องนี้ นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังมีข้อเสนอว่า ให้มีการใช้จ่ายเงินในโครงการผู้ว่าฯซีอีโอโดยควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมทบเม็ดเงินเข้าโครงการด้วย โดยให้กระทรวงมหาดไทยศึกษาร่วมกับสำนักงบประมาณและอบจ.ถึงการใช้จ่ายเม็ดเงินในโครงการนี้ที่ได้รับไปในปัจจุบันรวม 30,000-40,000 ล้านบาท ทางด้านองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จะยังคงดำเนินการตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้โดยให้มีการจัดสรรเงินงบประมาณไม่น้อยกว่าปีงบประมาณ 2551 ที่ได้รับการจัดสรร 25.2 % ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี

นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว ตัวเลขมูลค่ารวมในการปล่อยกู้ของธนาคารรัฐทั้ง 3 แห่ง คือธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ในส่วนของการปล่อยกู้แก่กองทุนหมู่บ้าน และสินเชื่อที่ธนาคารทั้ง 3 แห่งปล่อยกู้เพื่อต่อยอดกองทุนหมู่บ้าน

นางนิศานาถ โยธาสมุทร ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายธนาคารชุมชน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารกรุงไทยมียอดสินเชื่อคงค้างที่ปล่อยเพื่อสนองนโยบายรัฐรวมทั้งสิ้น 1,360 ล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2550) ประกอบด้วย สินเชื่อต่อยอดกองทุนหมู่บ้านระดับ 3 เอ จำนวน 750 ล้านบาท (จากวงเงินกู้เดิมที่ปล่อยต่อยอดกองทุนหมู่บ้านในปี 2548 ที่มียอดรวม 900 ล้านบาท) ส่วนที่เหลือเป็นวงเงินที่ให้กู้กระจายไปในสินเชื่อนโยบายรัฐประเภทต่างๆ เช่น โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การแก้ไขหนี้ภาคประชาชน สินเชื่อเทศบาล สินเชื่อเกษตรอินทรีย์ และองค์กรการเงิน เป็นต้น ซึ่งสินเชื่อเหล่านี้เป็นการปล่อยกู้เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลที่ธนาคารดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547

ซึ่งในปีนี้ ธนาคารกรุงไทย ยังเน้นการปล่อยสินเชื่อสนองนโยบายรัฐใน 2 หลักการ คือ ร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชน (สทบ.) ในโครงการพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งเพื่อยกระดับกองทุนหมู่บ้านเป็นธนาคารชุมชน โดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้านระดับ 3 เอ ซึ่งเป็นกองทุนหมู่บ้านที่สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นได้ในระดับหนึ่ง โดยที่ธนาคารกรุงไทยเข้าไปต่อยอดกองทุนหมู่บ้านจากโครงการหลักที่มีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน และที่ผ่านมาจากวงเงินกู้ 750 ล้านบาท มีการผิดนัดชำระเพียง 0.78% เท่านั้น

ในส่วนของ ธ.ก.ส.มีโครงการกองทุนหมู่บ้านในความรับผิดชอบ 23,200 กองทุน มีมูลหนี้ที่ปล่อยสู่โครงการล็อตแรกกองทุนละ 1 ล้านบาท จำนวน 16,160 ล้านบาท ยังเหลือเม็ดเงินที่รัฐบาลต้องชดเชยให้ธ.ก.ส. 2,300 ล้านบาท ส่วนมูลหนี้ที่ต่อยอดโครงการกองทุนหมู่บ้านอยู่ที่ 16,431 ล้านบาท เป็นหนี้มีปัญหาเพียง 226 ล้านบาทเท่านั้น ทางด้านธนาคารออมสิน ยังเหลือเม็ดเงินที่ภาครัฐต้องชดเชยให้จากการปล่อยกู้ให้แก่กองทุนหมู่บ้านอีก 14,000 ล้านบาท

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินอาวุโส กล่าวว่า ในส่วนการปล่อยกู้ให้แก่กองทุนหมู่บ้านที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้ต่อยอดเองนั้น ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ปล่อยกู้ให้แก่กองทุนหมู่บ้านยอดสะสมทั้งสิ้น 10,555 หมู่บ้าน คิดเป็นเงินกู้สะสม 9,300 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือเพียง 5,630 หมู่บ้าน ยอดหนี้คงเหลือ 3,700 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นกองทุนหมู่บ้านระดับ 2เอ และ 3เอ ซึ่งปัจจุบันมีเอ็นพีแอลในส่วนดังกล่าวเพียง 2% ขณะที่ในปีนี้ธนาคารออมสินตั้งเป้าหมายปล่อยกู้ต่อยอดให้แก่กองทุนหมู่บ้านอีก 6,500 กองทุน คิดเป็นวงเงินที่ปล่อยกู้ใหม่ 4,000 ล้านบาท ส่วนที่ตั้งวงเงินไว้อีก 40,000 ล้านบาทนั้น เป็นการตั้งวงเงินไว้หากรัฐบาลต้องการใช้วงเงินกู้ในส่วนของธนาคารออมสิน
กำลังโหลดความคิดเห็น