xs
xsm
sm
md
lg

“เจ๊มิ่ง” สยบราคาสินค้าไม่ลง นัดกล่อม “มือถือ” สัปดาห์หน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.พาณิชย์ เคาะตรึงราคาสินค้าได้ 4 รายการแล้ว หลังหารือกลุ่มผู้ผลิตสินค้า 300 รายการ ส่วนที่เหลือให้ไปหาวิธีลดต้นทุน นัดขอคำตอบ 6 มี.ค.นี้ น้ำมันปาล์ม-เนื้อหมูทำใจลำบาก แจงต้นทุนพุ่ง ส่วนสินค้ามือถือนัดถกสัปดาห์หน้าเพื่อขอให้ออกแคมเปญราคาถูก ลดภาระค่าครองชีพประชาชน

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรึงราคาสินค้า โดยระบุถึงผลการหารือร่วมกับผู้ประกอบการจำนวน 300 ราย ใน 12 กลุ่ม เช่น อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเลียม ข้าว ค้าปลีก วัสดุก่อสร้าง ปัจจัยการเกษตร โดยใช้เวลาหารือนานกว่า 3 ชั่วโมง โดยผลสรุปคือ มีสินค้า 4 กลุ่มที่ยืนยันจะตรึงราคาสินค้าต่อไปอย่างน้อย 1 ปี ได้แก่ 1.สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า 2.สินค้าอาหารสำเร็จรูป 3.สินค้าอุปโภค บริโภค และ 4.สินค้าประเภทน้ำพริก กุ้งแห้ง

โดยในส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจจะลดราคาลงเนื่องจากกลไกตลาดที่มีการแข่งขันสูง ขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ยังสามารถแบกรับภาระต้นทุนการผลิตต่อไปได้ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาอีก ส่วนยาสีฟัน สบู่ น้ำยาล้างจานยืนยันว่าจะปรับขึ้นราคาแน่นอนเพราะมีการแข่งขันสูงเช่นกัน

ส่วนสินค้ากลุ่มอื่นๆ ได้แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 3 กลุ่ม ได้แก่ สุกรและเนื้อสุกร เห็นว่าไม่น่าจะใช้เวลานานในการหาข้อสรุป เพราะผู้ประกอบการมีแต่รายใหญ่ๆ แต่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากเท่านั้น ซึ่งปัญหาของกลุ่มนี้อยู่อาหารสัตว์ที่มีราคาแพงและยังมีปัญหาการส่งออกไปต่างประเทศ กลุ่มโทรศัพท์มือถือ ที่ย้ำว่าจะเน้นการลดค่าโทรศัพท์ ไม่ใช่การลดค่าสัมปทาน เพราะไม่ใช่ความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ และกลุ่มอุปโภค บริโภค ซึ่งกลุ่มนี้จะให้แนวความคิดการผลิตสินค้าจำนวนมากๆ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่อหน่วยลดลง

นายมิ่งขวัญ ระบุว่า ตนเองจะหาข้อสรุปเรื่องการดูแลราคาสินค้าให้ได้ภายในวันที่ 6 มี.ค.นี้ ซึ่งเป็นกำหนด 1 เดือนที่ให้สัญญากับประชาชนไว้ จากการฟังผู้ประกอบการแล้วก็รู้ว่า บางคนเดือนร้อนจริง โดยเฉพาะจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น อย่างกลุ่มที่เดือนร้อนมากๆ เช่น น้ำมันขาดแคลน ทั้งน้ำมันปาล์ม และถั่วเหลือง ที่ต้นทุนสูงขึ้น แต่เรื่องราคาสำค้าจะดูที่ต้นทุนการผลิตจริงก่อนพิจารณาราคา

“เป้าหมายหลักที่ต้องการปรับลดราคาโดยเร็ว คือ สุกรและเนื้อสุกรชำแหละ ค่าโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้จะเรียกหารือก่อนกลุ่มอื่นๆ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันที่ประชาชนร้องเรียนมากที่สุด คาดว่าจะเกิดเป็นรูปธรรมไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ "ต่อจากนี้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมต่างๆ เข้าตรวจสอบแต่ละกลุ่มสินค้า และนำมาจัดทำเป็นข้อสรุปในวันที่ 6 มีนาคมนี้ โดยบางกลุ่มจะเร่งรัดให้ปรับลดราคาหรืออย่างน้อยให้ตรึงราคานานที่สุด”

นายมิ่งขวัญ ระบุอีกว่า กลุ่มสินค้าที่อาจจะได้คำตอบเร็วๆ นี้อีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มค่าบริการโทรศัพท์มือถือ โดยสัปดาห์หน้าจะเชิญดีแทค เอไอเอส ทรู และฮัทช์ มาหารือ เพื่อขอให้ออกแคมเปญค่าบริการราคาถูกระยะสั้นช่วง 3-6 เดือน เพื่อทำให้ประชาชนมีความสุขในช่วงที่ราคาสินค้าแพง และกลุ่มเนื้อสุกรคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ในการแก้ไขปัญหาราคาแพง โดยเตรียมเชิญผู้ผลิตครบวงจรและผู้นำเข้าอาหารสัตว์มาหารือ

“หากพบว่าปัญหาเกิดจากวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพงอาจเสนอให้ผู้นำเข้ารายย่อย เช่น กลุ่มชลบุรีเป็นผู้นำเข้า ส่วนกรณีที่มีการระบุว่าหมูแพงเนื่องจากปริมาณหมูขาดแคลน เนื่องจากผู้ผลิตมีการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน และมีหมูบางส่วนตายจากโรคท้องเสียนั้น หากเป็นความจริงอาจมีการอนุมัติให้นำเข้าหมูจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเพิ่มปริมาณหมูในตลาดซึ่งจะทำให้ราคาปรับลดลง”

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้กระทรวงพาณิชย์และผู้บริโภคเห็นใจผู้เลี้ยงด้วย และยืนยันว่าควรให้ราคาสุกรเป็นไปตามกลไกตลาด ขณะเดียวกัน ผู้เลี้ยงก็มีความเห็นใจผู้บริโภค จึงได้ตรึงราคาสุกรหน้าฟาร์มไประยะหนึ่งก่อน

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ก่อนรัฐบาลจะแก้ไขเรื่องราคาสินค้าให้ต่ำลง ควรแก้ปัญหาผลกระทบจากต้นทุนแอบแฝงก่อน ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าส่วนต่างจ่ายเพิ่มจากการขาย (ดีเบส) และค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้สินค้าได้วางขายในห้าง ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงกว่าต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า สมาคมได้เสนอให้ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง หากต้องการลดราคาสินค้าสุกร ควรระงับการส่งออกสินค้าที่เป็นต้นทุนผลิตอาหารสัตว์ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งหากรัฐบาลดำเนินการได้ ราคาสินค้าก็จะลดลงมาได้ อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐจะแก้ปัญหาคงต้องมองให้ครบวงจร และในฐานะที่นายมิ่งขวัญเป็นรองนายรัฐมนตรีด้วย ก็น่าจะใช้หน้าที่ตรงนี้มาเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ปัญหา

กลุ่มผู้ค้าอาหารสัตว์ รวมถึงซีพี มีการคาดการณ์กันว่าจะมีการปรับราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้น 10-20% ภายในไตรมาสนี้อย่างแน่นอนเนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นสูงมาก ที่ผ่านมาในส่วนของซีพีได้ยื่นขอปรับราคาสินค้าแล้วหลายสิบรายการ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเข้าร่วมประชุม มากกว่า 300 ราย ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ผู้ประกอบการข้าว ของใช้ประจำวัน ปัจจัยทางเกษตร ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก กระดาษาและผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า และบริภัณฑ์ขนส่ง รวมถึงกลุ่มสภา สมาคม องค์การค้า และตลาดสด
กำลังโหลดความคิดเห็น