xs
xsm
sm
md
lg

สินค้าพาเหรดปรับราคา ขานรับนายกฯ “หมัก” ยอดนักชิม “แป้ง-น้ำตาล-น้ำปลา” รอเจ๊มิ่งไฟเขียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มนุษย์เงินเดือนอ่วมแน่! ราคาของกินของใช้แพงขึ้นไม่หยุด แป้งข้าวเจ้า ขอปรับขึ้น กก.ละ 3 บาท น้ำตาลปรับราคาขายส่งอีก 30 บาทต่อกระสอบ ส่วนน้ำปลาจ่อขยับอีกขวดละ 2 บาท “พาณิชย์” ยกธงขาว พร้อมโยน รมว.พาณิชย์คนใหม่ ตัดสินใจ ล่าสุด เนื้อหมูปรับขึ้นราคาไปแล้ว หน้าเขียงขาย กก.ละ 120 บาท

วันนี้ (4 ก.พ.) นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่งค้าปลีกไทย กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวการขอปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอีกหลายชนิด โดยระบุว่า ขณะนี้โรงงานผู้ผลิตสินค้าดังกล่าว ได้แจ้งขอปรับขึ้นราคาสินค้าขายส่งมายังสมาคม ตลอดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะแป้งข้าวเจ้า ขอปรับขึ้นอีก 30 บาท/ลัง (ขนาด 10 กก.) หรือ 3 บาท/กิโลกรัม (กก.) จากเดิมขายส่ง 18 บาท/กก.เป็น 21 บาท/กก.โดยผู้ผลิตอ้างเหตุผลที่ขอปรับมาจากสถานการณ์ราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาข้าวปลายข้าวที่ใช้ผลิตเป็นแป้งข้าวเจ้าปรับตัวตามขึ้นไปด้วยจากเดิมอยู่ที่ตันละ 800-900 บาท ขณะนี้ราคาพุ่งถึงตันละ 1,350 บาท

นอกจากนี้ ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ยังได้แจ้งขอปรับขึ้นราคามาเช่นกัน โดยขอปรับขึ้นราคาจำหน่ายส่งน้ำตาลทรายอีก 30 บาท/กระสอบ (ขนาด 50 กก.) จากเดิมจำหน่ายที่กระสอบละ 740 บาท เป็นกระสอบละ 770 บาท หรือปรับเพิ่มขึ้นอีก กก.ละ 0.60 บาท รวมถึงน้ำปลา ตราทิพรส ขอปรับขึ้นราคาทุกขนาดมาอีกขวดละ 2 บาท รวมถึงผู้ผลิตวุ้นเส้น ก็แจ้งความจำนงว่าเตรียมปรับขึ้นราคาเช่นกัน ส่วนผู้ผลิตขนมขบเคี้ยว ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากข้าวสาลี และแป้ง ยืนยันไม่มีการปรับราคา แต่จะลดขนาดบรรจุลงอีก 1-2 กรัม เพื่อลดภาระต้นทุน

**พาณิชย์ ยกธงขาว รอ รมว.ใหม่ อนุมัติ

นางวัชรี วิมุกตายน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การขึ้นราคาน้ำตาลทรายที่มีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายอีกกิโลกรัมละ 0.60 บาท นั้น อำนาจในการปรับขึ้นราคาขายส่งเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรม ทางกระทรวงพาณิชย์จะดูแลในส่วนของราคาจำหน่ายปลีกให้มีความเป็นธรรม และสอดคล้องกับราคาขายส่งที่ปรับขึ้นเท่านั้น ซึ่งการปรับขึ้นราคาจำหน่ายส่งครั้งนี้ เป็นการปรับขึ้นที่ยังไม่เกินเพดานที่กรมการค้าภายในกำหนด คาดว่าจะเป็นการปรับราคาตามอุปทานที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน

นางวัชรี กล่าวอีกว่า เพื่อให้การกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีความเป็นธรรม และเร่งลดภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้บริโภค กรมการค้าภายในเตรียมเสนอให้ รมว.พาณิชย์คนใหม่ เรียกประชุมผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด เพื่อรับมอบนโยบายในการดูแลราคาสินค้า โดยไม่ให้ขึ้นราคาถ้าไม่จำเป็น และอาจต้องขอความร่วมมือให้ตรึงราคาสินค้าในบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศผลิตและยังพอมีกำไร

อย่างไรก็ตาม นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่พัฒนาสูตรการคำนวณการพิจารณาปรับราคาสินค้าใหม่ เพื่อให้มีความเข้มงวดขึ้น โดยอิงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อต้นทุน โดยจะมีการนำสูตรเข้าไปแทนค่าราคาของปัจจัยซึ่งเป็นต้นทุนการผลิต และให้คะแนนแต่ละปัจจัย หากคะแนนรวมออกมาไม่ถึงครึ่งจะไม่อนุมัติปรับขึ้นราคา ซึ่งขณะนี้กำลังคิดสูตรคำนวณอยู่ เช่น ก๊าซหุงต้ม หากพบว่ามีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายส่งไม่ถึง 10 สตางค์/กก.อาจจะไม่พิจารณาปรับขึ้นราคาจำหน่ายปลีก เป็นต้น

**ตัวเลขสินค้าเกือบ 700 รายการ ขอปรับขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้พาเหรดแห่ยื่นขอปรับราคาสินค้ากับกรมการค้าภายในยาว เป็นหางว่าวตั้งแต่ปลายปี 2550 ที่ผ่านมา มีหลายรายการหลากประเภทที่ได้รับการอนุมัติ แต่ก็มีอีกหลายรายการที่กรมการค้าภายในพยายามขอร้องให้ผู้ผลิตตรึงราคาไว้ก่อน และรอพิจารณาในปีนี้

โดยภายหลังการยกเลิกประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 8 ที่ว่าด้วยการห้ามกักตุนและปรับขึ้นราคาสินค้า ได้มีรายการสินค้าแจ้งขอปรับราคา จำนวน 14 รายการ รวมผู้ผลิตสินค้าที่ขอปรับราคาทั้งสิ้น 43 รายส รวมสินค้าทั้งหมด 681 รายการ

ประกอบด้วย ปุ๋ยเคมี ซึ่งมีผู้ผลิตสินค้าขอปรับราคา 4 ราย รวม 92 รายการ, ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช จำนวน 1 ราย ขอปรับราคา 3 รายการ, ยางรถยนต์ จำนวน 2 ราย ขอปรับราคา 169 รายการ, แบตเตอรี่ จำนวน 3 ราย ขอปรับราคา 222 รายการ, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 ราย 17 รายการ, ยารักษาโรค 3 ราย จำนวน 24 รายการ, น้ำมันพืช 6 ราย 31 รายการ, ผลิตภัณฑ์ล้างจาน 1 ราย จำนวน 4 รายการ, แป้งสาลี 1 ราย จำนวน 4 รายการ, ผลิตภัณฑ์นม (นมผง นมสด นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง ครีมเทียม และนมข้นหวาน) รวมผู้ผลิต 15 ราย จำนวน 96 รายการ, รถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ รถบรรทุกเล็ก 2 ราย จำนวน 11 รายการ, สบู่ 1 ราย จำนวน 2 รายการ, ซีอิ๊วขาว 1 ราย จำนวน 14 รายการ และ รองเท้านักเรียน 1 ราย 2 รายการ

กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า รายการสินค้าดังกล่าวทั้งหมดนี้ ไม่สามารถทำการปรับราคาได้พร้อมกัน โดยกรมการค้าภายในได้พิจารณาอนุมัติการขึ้นราคาของสินค้าแต่ละประเภทตามความเหมาะสม สำหรับสินค้าที่ไม่สามารถอนุมัติให้ปรับราคาขึ้นได้ในปีที่แล้ว และให้รอพิจารณาใหม่ในปีนี้นั้น ดังนั้น เมื่อขึ้นศักราชใหม่แล้ว สินค้าต่างๆ ที่ถูกแตะเบรกไว้เมื่อปีที่แล้วจึงพากันตบเท้าเข้ายื่นขอปรับราคาอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้ก็เป็นหน้าที่หนักของกรมการค้าภายในอีกเช่นเคย ที่จะต้องพินิจวิเคราะห์ว่าจะให้สินค้าประเภทใด รายการใด สามารถขยับราคาขึ้นได้ตามภาระต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นสูง โดยพยายามให้กระทบกับผู้บริโภคน้อยที่สุด

**ค่าไฟโขกขึ้นยูนิตละ 7 ส.ต.

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รายงานภาพรวมการผลิตไฟฟ้าปี 2550-2551 ต่อผู้บริหารกระทรวง โดยพบว่าในช่วงปี 2551 นี้ ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) มีแนวโน้มปรับขึ้นทุกงวด เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าไม่ลดลง และราคาเชื้อเพลิงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมัน โดยในปีนี้สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจาก 66% เป็น 72% ซึ่งเกิดจากมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเข้าระบบจำนวน 3-4 แห่ง อาทิ โรงไฟฟ้าจะนะ โรงไฟฟ้ากัลฟ์ โรงไฟฟ้าราชบุรี เพาเวอร์ เป็นต้น หน่วยที่ 1-2 ประกอบกับบริษัท ปตท.สามารถส่งก๊าซ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น 700-800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ช่วยให้ลดการใช้น้ำมันเตาให้อยู่ในอัตราที่ต่ำสุดเหลือ 0.3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.7%

สำหรับการพิจารณาเอฟทีงวดใหม่ที่จะเรียกเก็บในบิลค่าไฟฟ้าเดือน ก.พ.-พ.ค.2551 คณะอนุกรรมการเอฟทีจะประชุมในวันที่ 13 ก.พ.นี้ มีแนวโน้มปรับขึ้นเฉลี่ย 6-7 ส.ต./หน่วย เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามราคาน้ำมัน แต่เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหาร มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการแทรกแซงค่าเอฟทีครั้งนี้ โดยอาจให้ กฟผ.หามาตรการในการรับภาระเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ ซึ่งการแทรกแซงเอฟที 1 ส.ต./หน่วย ต้องใช้เงินประมาณ 400 ล้านบาท หากงวดนี้รัฐบาลชุดใหม่ไม่อยากให้ค่าเอฟทีปรับขึ้นต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท

**เนื้อหมูพุ่งโลละ 120 เตรียมหารือ สัปดาห์หน้า

แหล่งข่าวจากกรมการค้าภายใน แจ้งว่า เมื่อ นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เดินทางกลับปฏิบัติราชการต่างประเทศ คาดว่า จะเชิญกลุ่มสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมโรงชำแหละเนื้อสุกร และกลุ่มผู้ค้าปลีกเนื้อสุกร ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์เนื้อสุกร เพราะขณะนี้กรมฯ ได้รับการร้องเรียนว่า ราคาเนื้อสุกรเป็นหน้าฟาร์มราคาค่อนข้างสูง ทำให้เนื้อสุกรจำหน่ายตามท้องตลาดมีราคาสูงขึ้นกิโลกรัมละ 115-120 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้ผู้บริโภคเนื้อสุกรได้รับความเดือดร้อน จึงจำเป็นต้องเชิญผู้ประกอบการเหล่านี้มาหารือ ซึ่งคาดว่าจะหารือกันภายในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ทางกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรได้รับผลกระทบจากต้นทุน เช่น ข้าวโพด ปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 3 - 4 บาท เป็นกิโลกรัมละ 7 บาท กากถั่วเหลือง จาก 10-12 บาท ปัจจุบัน 20 บาทต่อกิโลกรัม

โดยก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้มีการคำนวณต้นทุน และยื่นหนังสือต่อกรมการค้าภายใน ระบุ ราคาสุกรหน้าฟาร์มเฉลี่ยกิโลกรัมละ 52-53 บาท เนื้อสุกรจำหน่ายตามท้องตลาดกิโลกรัมละ 90-95 บาท แต่ขณะนี้มีการอ้างว่าจากภาวะต้นทุนการเลี้ยงสุกร ต้นทุนขนส่ง ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรไม่สามารถแบกรับภาระได้ จึงดำเนินการปรับราคาสุกรหน้าฟาร์มขึ้นเป็น 58-59 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาเนื้อสุกรจำหน่ายตามท้องตลาดกิโลกรัมละ 115-120 บาทกิโลกรัม ซึ่งเป็นการขยับค่อนข้างสูง

ดังนั้น จึงต้องมีการคำนวณต้นทุนที่แท้จริงว่าต้นทางสุกรหน้าฟาร์มควรราคาเท่าใด และสุกรท้องตลาดควรจะเป็นเท่าใด โดยควรปรับตามต้นทุนที่แท้จริง ไม่ใช่ปรับแบบไม่รู้ว่าต้นทุนเท่าใด ดังนั้น ผู้ค้ารายใหญ่และรายเล็กจะต้องร่วมตกลงกำหนดราคาสุกรให้ชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น