xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เชื่อนายกฯ ไม่รื้อโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รฟม.เตรียมชงโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้รัฐบาลพิจารณาคาดประกวดราคาปลายปีนี้ เชื่อไม่โดนนายกฯ สั่งรื้อโครงการฯ

วันนี้(18 ก.พ.) นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่า หากรัฐบาลเห็นชอบแผนงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในช่วงปลายปีนี้ โดยจะเสนอให้รัฐเป็นผู้ลงทุนระบบรถไฟฟ้าแทนเอกชน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมผลิต-ประกอบรถไฟฟ้าในไทย

โดยขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างรอเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติรูปแบบการร่วมทุนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานและดำเนินการในกิจกรของรัฐ พ.ศ.2535 ซึ่งรูปแบบการร่วมทุนจะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุนระบบรถไฟฟ้าเหมือนกับการลงทุนของ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL)

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา รฟม.จัดประชุมชี้แจงข้อมูลเพื่อการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในโครงการดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย

"การทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาพบว่าชาวบ้านในพื้นที่ให้การสนับสนุน แต่ยังเป็นห่วงเรื่องการถูกเวนคืนที่ดิน ซึ่งผมยืนยันว่า รฟม.จะเวนคืนที่ดินเฉพาะพื้นที่ที่จำเป็น และจะพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะสร้างผลกระทบกับประชาชน" นายประภัสร์ กล่าว

โดยโครงการดังกล่าวมีระยะทางรวม 27 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 75,318 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 1.ช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร มี 11 สถานี แบ่งเป็น สถานีใต้ดิน 4 สถานี คือ สถานีวัดมังกร สถานีวังบูรพา สถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพ และสถานียกระดับ 7 สถานี คือ สถานีท่าพระ สถานีบางไผ่ สถานีบางหว้า สถานีเพชรเกษม 48 สถานีภาษีเจริญ สถานีบางแค และสถานีหลักสอง

ส่วนช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 13 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับทั้งหมด มี 10 สถานี คือ สถานีเตาปูน สถานีบางโพ สถานีบางอ้อ สถานีบางพลัด สถานีสิรินธร สถานีบางยี่ขัน สถานีบางขุนนนท์ สถานีแยกไฟฉาย สถานีจรัญสนิทวงศ์ 13 และสถานีท่าพระ ซึ่งเป็นสถานีร่วม

ผู้ว่าการ รฟม.ยังกล่าวถึงการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 9 เส้นทางตามนโยบายของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่า ต้องรอนโยบายที่ชัดเจนหลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อน แต่ในภาพรวมเห็นว่าแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้า 9 เส้นทางไม่แตกต่างจากของเดิม โดยในส่วนของ รฟม.มีความพร้อมอยู่แล้ว ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก็ควรให้ดำเนินการต่อไป ส่วนแนวเส้นทางใดที่จะมีการปรับเปลี่ยน หรือขยายระยะทางเพิ่มขึ้น เพื่อให้โครงข่ายรถไฟฟ้ายาวไปรับส่งประชาชนนอกเมืองมากขึ้น ก็ให้ดำเนินการในระยะต่อไป

"หลังจากแถลงนโยบาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้หารือกันในรายละเอียดการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า โดยเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่รื้อโครงการรถไฟฟ้าเดิม แต่จะมีการปรับให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะต้องมาดูว่าจะปรับวิธีไหน หากให้ทำส่วนเดิมไปก่อน และนำส่วนใหม่มาทำในระยะต่อไป ก็จะส่งผลให้โครงการรถไฟฟ้าเกิดขึ้นเร็ว และไม่เสียเวลา" นายประภัสร์ กล่าว

นอกจากนี้ รฟม.ยังเตรียมเสนอให้รัฐบาลปรับวิธีการลงทุนโครงการรถไฟฟ้า โดยให้รัฐบาลลงทุนในส่วนของระบบรถไฟฟ้าด้วย จากเดิมที่ลงทุนเฉพาะงานโยธา เพราะจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตและประกอบรถไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตประเทศไทยมีแผนที่จะก่อสร้างรถไฟฟ้าอีกหลายเส้นทาง และต้องใช้รถไฟฟ้าอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่รัฐบาลลงทุนระบบรถไฟฟ้าเองจะทำให้การพัฒนารถไฟฟ้าในภาพรวมมีทิศทางเดียวกัน รวมทั้งการกำหนดรูปแบบการเดินรถไฟฟ้าจะได้รับความสะดวกในเรื่องของการเชื่อมต่อระบบด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น