xs
xsm
sm
md
lg

พ่อค้าสุราเสนอ “มิ่งขวัญ” เลื่อนใช้ พ.ร.บ.เหล้าอีก 6 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มพ่อค้าแอลกอฮอล์ เดินหน้าในนาม สชอ.ยื่นหนังสือถึง มิ่งขวัญ เสนอให้ชะลอการใช้ พ.ร.บ.เหล้า ออกไปก่อนอีก 6 เดือน อ้างเหตุบางมาตรายังคลุมเครือ ไม่ชัดเจน

เมื่อวานนี้ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา เป็นวันแรกแล้วนั้น หลังจากที่ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ได้มีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2550 ล่วงหน้าไม่กี่วันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะต้องได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.นี้ โดยตรง ว่า เมื่อวานนี้ทางผู้ประกอบการจำนวนมากในนามของสมาพันธ์เพื่อช่วยภาครัฐลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ หรือ สชอ.ซึ่งประกอบด้วย สมาคมผู้ค้าปลีก, สมาคมโรงแรมไทย, สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย, สมาคมภัตตาคารไทย,สมาคมป้ายและโฆษณา ได้รวมตัวกันและยื่นหนังสือให้กับ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอให้ผ่อนผันระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไปก่อนอีกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจในวงกว้างเพื่อร่วมกันหาข้อสรุปในประเด็นบางมาตราที่ยังมีปัญหาถกเถียงไม่ชัดเจนกันอยู่

นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท สิงห์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์สิงห์ ลีโอเบียร์ ไทเบียร์ อีสานเบียร์ เปิดเผยว่า เนื่องจากบริษัทมีโฆษณาหลายชิ้นที่ไม่แน่ใจว่าจะผิดกฎหมายหรือเปล่า จึงได้หยุดการโฆษณาในสื่อทีวีก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา โดยต้องการรอการตีความที่ชัดเจนก่อนว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพราะเนื้อหาที่เขียนไว้ครอบคลุมสุดกู่

“ผมรู้สึกสับสนและมึนงงกับกฎหมายฉบับนี้อย่างมาก เพราะมีหลายมาตราที่ผู้เขียนกฎหมายเขียนไว้ค่อนข้างกว้าง ส่งผลต่อการทำธุรกิจที่ลำบากมากขึ้น เช่น กรณีห้ามลดแลกแจกแถมสินค้า ซึ่งถ้าหากว่าเบียร์สิงห์ที่ขายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ราคาขวดละ 57 บาท แต่ที่บิ๊กซีขาย 47 บาท ส่วนในโรงแรมขาย 120 บาท และที่ร้านหมูกระทะขาย 50 บาท อย่างนี้ถือว่าเข้าข่ายลดราคาสินค้าหรือไม่ หรือกรณีที่เด็กเสิร์ฟในร้านถามลูกค้าว่า “จะดื่มเบียร์ยี่ห้อนี้ไหมคะ” ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างล่อแหลมในทางปฏิบัติ

นางวิมลวรรณ อุดมพร กรรมการและเลขาธิการสมาพันธ์เพื่อช่วยภาครัฐลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ หรือ สชอ.กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ สชอ.ในการยื่นหนังสือครั้งนี้ ว่า ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากว่ากฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วในขณะที่ทางปฎิบัติก็ยังไม่ชัดเจนเลย

“ตัวอย่างเช่น ป้ายโฆษณาที่ติดตั้งอยู่ตามร้านอาหารนั้น ที่บอกว่ามีลักษณะเชิญชวนผู้ดื่มจะมีลักษณะเป็นอย่างไร อะไรบ้างที่ร้านค้าทำได้หรือทำไม่ได้ ซึ่งต้องการสร้างให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วย”

นายสมชัย สุทธิกุลพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า มีหลายมาตราที่ยังไม่ชัดเจน เช่นมาตรา 32 หมวดการควบคุมแอลกอฮอล์ ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภททำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม ห้ามไม่มีภาพ หรือโลโก้ของสินค้า ส่วนรายละเอียดการโฆษณาทางโทรทัศน์จะห้ามทั้ง 24 ชั่วโมง หรือไม่หรือว่ายังให้โฆษณาได้ตั้งแต่หลัง 22.00 น.จนถึงตีห้า คงต้องรอดูรายละเอียดของกฎกระทรวงนี้อีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น