xs
xsm
sm
md
lg

โออิชิรับ JTEPA ซื้อแฟรนไชส์อีก-เพิ่มวัตถุดิบนำเข้า 70%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โออิชิ ดี๊ด๊า รับ เจเทปป้า ภาษีวัตถุดิบนำเข้าลดเตรียมนำเข้าเพิ่มเป็น 70% เล็งซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มอีก 2 แบรนด์ ปรับ ร้าน อิน แอนด์ เอาท์ เจาะตลาดแมส

นายไพศาล อ่าวสถาพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากผลพวงของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ที่มีผลใช้เมื่อปลายปีที่แล้ว ส่งผลดีต่อการทำธุรกิจกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นประเด็นหลักๆ คือ ภาษีวัตถุดิบบางตัวลดลงเหลือ 0% และการทำธุรกิจซื้อแฟรนไชส์จะง่ายขึ้นซึ่งร้านอาหารญี่ปุ่นหลายแบรนด์สนใจจะเข้าตลาดไทย

ล่าสุด โออิชิอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ร้านอาหารจากญี่ปุ่นอีก 2 แบรนด์ คาดว่า เร็วๆ นี้ จะสรุปได้ ซึ่งปลายปีที่แล้วได้เซ็นสัญญาเอ็มโอยูซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ Maido Ooikini Shokudo ไปแล้ว คาดว่า ไตรมาสที่ 2 เปิดสาขาแรกได้ อยู่ระหว่างพิจารณาทำเลที่เซ็นทรัลเวิลด์ และสยามฟิวเจอร์ แจ้งวัฒนะ ลงทุน 4-5 ล้านบาทต่อสาขา

ปีนี้จะนำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่น และประเทศอื่นเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 70% เพราะภาษีลดลง จากเดิมที่นำเข้ามาประมาณ 50% อย่างไรก็ตาม ราคาวัตถุดิบขณะนี้เพิ่มขึ้นกว่า 15-20% ในภาพรวม ซึ่งมากที่สุดที่เคยมีมา ส่งผลต่อต้นทุนดำเนินการเพิ่มขึ้น 1-2% แต่บริษัทฯยังไม่ปรับราคาอาหารในช่วงนี้

ส่วนแผนขยายสาขาปีนี้จะใช้งบ 200 ล้านบาท เพิ่มอีก 20 สาขา มากที่สุดจากเดิมลงทุนเฉลี่ย 100 ล้านบาท เปิดเพียง 10 กว่าสาขาเท่านั้น แบ่งเป็น ร้านแบบเดลโก้ 9 แห่ง ร้านชาบูชิ 5 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นแบรนด์อื่นรวมกัน ส่วนงบตลาดใช้ 100 ล้านบาท หรือ 5% จากยอดขาย ซึ่งปีนี้ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 2,000 ล้านบาท เติบโต 17% จากปีที่แล้วที่เติบโตประมาณ 13% โดยโออิชิมีส่วนแบ่งตลาด 35% จากมูลค่าตลาดอาหารญี่ปุ่นกว่า 6,000 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว และคาดว่า ปีนี้จะเพิ่มเป็น 38% จากมูลค่าตลาดรวมที่เพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ล้านบาท

ปัจจุบันโออิชิมีร้านอาหารในเครือรวม 88 สาขา (แบ่งเป็นของบริษัท 84 สาขา และ แฟรนไชส์ 4 สาขา) แบ่งเป็น บุฟเฟ่ต์ 3 แห่ง, เอ็กซ์เพรส 8 แห่ง, แกรนด์ 1 แห่ง, ชาบูชิ 14 แห่ง ซึ่ง ทั้ง 4 แบรนด์นี้ เป็นบุฟเฟ่ต์ที่รายได้รวมกันเป็นสัดส่วนถึง 65% ที่เหลือเป็นแบรนด์ โออิชิราเมน อิน แอนด์ เอาท์ และอื่นๆ

สำหรับ ร้าน อิน แอนด์ เอาท์ นั้น จากเดิมมีแผนที่จะรีแบรนด์ใหม่ แต่เนื่องจากใช้งบประมาณมาก และการหาทำเลดีๆ เปิดร้านก็ลำบาก ปัจจุบันมี 11 สาขา จึงปรับแผนใหม่ไม่เน้นการเพิ่มสาขา แต่จะหันมาเน้นตลาดแมสมากขึ้น โดยการผลิตสินค้าแล้วนำไปวางขายตามช่องทางโมเดิร์นเทรดต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น