ปลัดพาณิชย์ ชี้ผลกระทบราคาน้ำมัน ดันเงินเฟ้อเดือน ม.ค.เพิ่ม 4.3% สูงสุดรอบ 18 เดือน โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น ได้แก่ สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ย้ำการปรับขึ้นภาษีสุราและการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาจมีผลต่อเงินเฟ้อเล็กน้อย คาดว่าจะอยู่ในระดับ 3.5%
วันนี้ (1 ก.พ.) นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดแถลงตัวเลขดัชนีผู้บริโภค (CPI) หรือเงินเฟ้อ ประจำเดือน ม.ค.2551 โดยระบุว่า ภาวะเงินเฟ้อเดือน ม.ค.เท่ากับ 119.9 เพิ่มขึ้น 0.8% เทียบกับเดือน ธ.ค.ปี 2550 และเพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.ปีก่อน โดยการปรับเพิ่มครั้งนี้ ถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 18 เดือน
โดยอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ผักสด ผลไม้ เนื้อหมู เนื้อไก่ เพิ่มขึ้น 1.6% ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ยางรถยนต์ และแบตเตอรี่ เพิ่มขึ้น 0.2% ทำให้คาดการณ์ได้ว่า อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกของปีจะอยู่ในกรอบ 3.0-3.5% และทั้งปีนั้นจะอยู่ที่ 3.5%
“สาเหตุที่เงินเฟ้อสูงมาก เกิดจากราคาอาหารเกือบทุกชนิดปรับสูงขึ้น ทั้งจากราคาน้ำมัน และสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผักสดได้รับความเสียหาย ขณะที่อาหารแปรรูปต่างๆ และอาหารสำเร็จรูปปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงกดดันให้ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น”
ขณะที่สินค้าหลายรายการปรับราคาสูงขึ้นด้วย เช่น น้ำมันถั่วเหลือง, ผลิตภัณฑ์นม, น้ำตาลทราย, เนยสด, กาแฟ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
นายศิริพล กล่าวว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้น เกิดจากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และสินค้าต้องปรับขึ้นราคา สำหรับการปรับขึ้นภาษีสุราและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้น อาจมีผลต่อการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อบ้างเล็กน้อย แต่ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เท่ากับ 106.4 เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค.ปี 2550 ในอัตรา 0.1% และเพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.ปีก่อน 1.2%