เอกชนคาดฝัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องมีบุคลิกที่สง่างามพอ และมีความสามารถในการรอมชอม นักวิชาการชี้ หากรัฐบาลใหม่ต้องการอยู่ยาว ควรเตรียมความพร้อมรับมือโจทย์เศรษฐกิจที่ยากขึ้น หากพิสูจน์ฝีมือแล้วไม่เจ๋งพอก็คงรอดยาก ชี้สเป็ก รมว.คลัง ต้องการคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง เพื่อปรับสถานการณ์เชิงรุก
นายธนิต โสรัตน์ รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดผยท่าทีของภาคเอกชนต่อบทบาทของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเข้ากำหนดทิศทางของประเทศ โดยระบุว่า ภาคเอกชนส่วนใหญ่อยากได้นายกรัฐมนตรีที่มีความรอมชอม เข้าได้กับทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) และกลุ่มพลังพันธมิตรภาคประชาชน อยากให้การเมืองต่อจากนี้ไปเป็นไปอย่างสงบสุข และเดินไปตามครรลองของประชาธิปไตย
ทั้งนี้ หากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้จริง คาดว่าใช้เวลาศึกษางานด้านเศรษฐกิจ 2-3 เดือน และคาดว่าจะทำให้ภาคของเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ในช่วงไตรมาส 2-3 ในช่วงที่เป็นสุญญากาศทางการเมืองอยากให้ราชการทำงานอย่างเต็มที่ ประคองเศรษฐกิจไทยไว้จนกว่าคนการเมืองจะเข้ามาดูแล
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากการประกาศจับมือตั้งรัฐบาล 6 พรรคการเมือง ก็คือ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะมีโฉมหน้าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของรัฐบาล
"เท่าที่ดูภายในพรรคพลังประชาชนไม่เห็นว่าจะมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ คงต้องหาคนนอกเข้ามาทำหน้าที่ รวมถึงกระทรวงสำคัญต่างๆ หากผลออกมาภาพลักษณ์ไม่ดีหรือสังคมร้องยี้ รัฐบาลก็ต้องเผชิญกับวิบากกรรมตั้งแต่ต้น และอายุก็จะสั้น แม้แต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ว่าโดยกติกาแล้วนายสมัครจะมีโอกาสสูงสุด แต่ด้วยความที่นายสมัครเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง จนทำให้ผู้มีอำนาจเหนือพรรคควบคุมไม่ได้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด" นายสมบัติกล่าว
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยฝ่ายการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สำหรับรัฐบาลใหม่นั้น มองว่ามีโจทย์เศรษฐกิจที่ยากขึ้น ดังนั้น ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะต้องมีฝีมือทั้งเชิงรับและเชิงรุก และมีความเข้าใจเศรษฐ ศาสตร์มหภาคอย่างลึกซึ้ง มีความเข้าใจโลกเศรษฐกิจสมัยใหม่ การมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นคนหนุ่มอายุน้อย น่าจะครบเครื่องกว่านักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่า ที่อาจถนัดแต่เชิงรับและไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจสมัยใหม่แล้ว
นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรใช้วิธีการประชานิยมแบบเก่าๆ แล้วสร้างหนี้สินให้กับสังคม หาวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจแบบยั่งยืนอย่างกระตุ้นการส่งเสริมการลงทุนอย่างเป็นระบบ และเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศในการเพิ่มศักยภาพด้านโลจิสติกส์
ขณะเดียวกันจำเป็นต้องใช้มาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคล เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ดีกว่าการเพิ่มภาษีสร้างภาระให้ประชาชน แม้จะอ้างว่านำเงินมากระจายก็ไม่ได้ผลต่อการกระตุ้นกำลังซื้อเท่ากับการลดภาระของประชาชนด้วยการลดภาษี เพราะเงินยังอยู่ในกระเป๋าชาวบ้านทำให้เขาสามารถจับจ่ายได้ทันทีหากมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลเองก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อไปด้วยการส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต่อไป
นายตีรณ ยังระบุว่า โจทย์เศรษฐกิจขณะนี้ยากขึ้น จะเป็นการพิสูจน์ฝีมือทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชนว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีแค่ไหน หากทำได้ดีรัฐบาลก็สามารถจะอยู่ได้นาน แต่ถ้าล้มเหลวด้านเศรษฐกิจคงอยู่ไม่นาน
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ระบุว่า หลังพรรคการเมืองต่างๆร่วมกันแถลงจัดตั้งรัฐบาล เชื่อว่าจะเป็นข่าวเชิงบวกสำหรับตลาดหุ้นไทยได้แค่ช่วงสั้นๆ ในวันเปิดทำการ 21 ม.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนของไทยยังมีปัจจัยเกี่ยวข้องอีกมาก นอกเหนือจากปัจจัยการเมืองแล้ว ยังมีปัจจัยด้านต่างประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบจากซับไพรม์ที่นักลงทุนเชื่อว่าน่าจะยังมีความเสียหายเพิ่มขึ้นอีก
ล่าสุด ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยมูลค่า 145,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันศุกร์ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP โดยรวมถึงมาตรการคืนภาษีรายได้บุคคลให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการคืนแบบครั้งเดียว และแรงจูงใจทางภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนในภาคธุรกิจ รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กด้วย