รัฐบาลไทยใจป้ำ เตรียมปล่อยกู้กัมพูชา 1.4 พันล้าน สร้างถนนสายประวัติศาสตร์ 1,000 ปี เปิดการท่องเที่ยวช่องจอม-กลอรัณห์ บนถนนวัฒนธรรมพิมาย-นครวัด ด้านสศช.เล็ง พัฒนาพื้นที่ 3.6 ล้านไร่ บริเวณถนนฝั่งกัมพูชา ปลูกพืชเศรษฐกิจ เน้นพลังงานทดแทนเป็นหลัก ขณะที่เอกชน เสนอ ตัดถนนสายเชียงของ ไปเมืองจีน
วันนี้ (10 ม.ค.) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ครั้งที่ 1/2551 ว่า นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอแผนความร่วมมือระหว่างไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศพม่า ลาว กัมพูชา เกี่ยวกับการสร้างถนน สะพาน และกิจกรรมต่อเนื่องระหว่างกัน เช่น การซ่อมแซมสิ่งที่ชำรุดและการส่งสินค้า โดยรัฐบาลไทยได้พิจารณาให้ประเทศกัมพูชากู้เงิน เพื่อสร้างถนนสาย 68 ระหว่างช่องจอม สำโรง ถึง กลอรัณห์ ประเทศกัมพูชา เป็นระยะทาง 100 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณกว่า 1,400 ล้านบาท และพิจารณาให้ความช่วยเหลือพัฒนาเส้นทางใน ส.ป.ป.ลาว ระหว่าง สามแยก สี-ไค น้ำสัง เมืองสังทอง แขวงเวียจันทน์ ซึ่งมีมติขอเสนอไว้พิจารณา พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมสำรวจเส้นทาง และความเป็นไปได้พร้อมวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ
นายอาคม เติมวิทยาไพศิษฐ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการโครงการให้ความช่วยเหลือเงินกู้ผ่อนปรนแก่รัฐบาลกัมพูชา วงเงิน 1,400 ล้านบาท ในการก่อสร้างพัฒนาเส้นทางมาตรฐานระยะทาง 113 กิโลเมตร หมายเลข 68 (ช่องจอม-โอเสม็ด-สำโรง-กลอรัณห์) จากช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ ถึงเมืองกลอรัณห์ของกัมพูชา เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สามารถพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่าง เมืองเสียมเรียบ กับภาคอีสานตอนใต้ของประเทศไทย รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ชายแดนของสองประเทศ
“นายกรัฐมนตรี เห็นว่า ถนนสายนี้จะเชื่อมโยงจาก อ.อรัญประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นถนนประวัติศาสตร์ ที่เชื่อมระหว่างไทย กับกัมพูชา มากว่า 1,000 ปี ซึ่งการเปิดถนนสายนี้ก็จะเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ จากวัฒนธรรมพิมาย ไปยังนครวัด หากจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็จะสร้างประโยชน์ให้สองประเทศ”
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นควรให้กระทรวงการคลัง ไปพิจารณางบประมาณเพื่อทำการศึกษาทบทวนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม และแผนการใช้ประโยชน์สาย 68 ร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา โดยใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 1,400 ล้าน โดยพิจารณารายละเอียดเงื่อนไขเงินกู้ และวิธีการให้เงินกู้ และนำเสนอคณะรัฐมตรีขอความเห็นชอบต่อไป นอกจากนี้แม้ภาคเอกชนจะตั้งข้อสังเกตถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้าน โดยนายกรัฐมนตรี และที่ประชุม เห็นว่า หากจะดำเนินการอะไร ต้องยึดถึงธรรมาภิบาลทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องใช้ประโยชน์ด้วยความโปร่งใส
นายอาคม กล่าวอีกว่า แม้ที่ประชุมจะไม่ได้ยกเรื่องคอนแทรกฟาร์มิง มาหารือแต่ก็มองไปถึงการพัฒนาพื้นที่กว่า 5.8 หมื่นเฮกเตอร์ (3.6 ล้านไร่) บริเวณพื้นที่ตัดผ่านถนนสาย 68 นี้ โดยเฉพาะมองไปถึงการใช้เป็นพื้นที่ปลูกพืชชนิดต่างๆ เช่น พืชพลังงานทดแทน อย่างมันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์ม ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ เห็นว่า ควรจะเข้าไปพัฒนาภาคเอกชนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้เกิดความเป็นธรรมด้วย
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่นี้ รัฐบาลจะไปต้องไปพิจารณาถึงค่าเช่าที่ดินในประเทศกัมพูชา ใน 5.8 หมื่นเฮกเตอร์ บริเวณเส้นทางสาย 68 โดยเน้นไปที่การปลูกพืชพลังงานทดแทนเป็นหลัก นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะต้องพิจารณาเพิ่มการสร้างถนนเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพื่อเป็นการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้กับประเทศ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมได้เสนอให้ก่อสร้าง ถนนในเส้นทาง อาร์ 3 ในเขต อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปยังเมืองบ่อแก้ว สปป.ลาว เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศจีน เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือพัฒนาเส้นทางหมายเลข 11 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ลาว) ระหว่างนครเวียงจันทน์ ถึงสามแยกสีไค-น้ำสัง-เมืองสังทอง แขวงเวียงจันทน์ ระยะทาง 92 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างประมาณ 636 ล้านบาท โดยให้สภาพัฒน์ กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสำรวจ ขณะเดียวกัน ได้เตรียมการประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม 2551 ณ กรุงเวียงจันทน์ โดยกำหนดจะมีการลง MOU แนบท้ายความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดน จำนวน 20 ฉบับ โดยคาดว่าจะดำเนินการในรัฐบาลชุดหน้า