xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.เตรียมขยับขึ้นราคาน้ำมันรับปีใหม่ 40 สต./ลิตร "เบนซิน" ทำนิวไฮ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.เตรียมประกาศขึ้นราคาน้ำมัน 40 สต./ลิตร รับปีใหม่ 2 ม.ค. คาดส่งผลเบนซิน ทำนิวไฮจ่อทะลุ 33 บาท/ลิตร ผู้เชี่ยวชาญชี้ น้ำมันปี 51 เสี่ยงก้าวสู่ภาวะวิกฤติ อุปทานตึงตัว สินค้าจ่อขึ้นราคาทุกรายการ

วันนี้(1 ม.ค.) นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งจะเป็นวันเปิดทำการวันแรกของปี 2551 ปตท.จะพิจารณาความจำเป็นในการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันทุกประเภทขึ้นอีก 40 สตางค์ต่อลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับขึ้นตั้งแต่ก่อนช่วงปีใหม่ จากหลายสาเหตุ รวมทั้งกรณีการลอบสังหารนางเบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีของปากีสถาน จึงทำให้ค่าการตลาดทั้งเบนซินและดีเซลติดลบ

สำหรับราคาน้ำมัน ณ ปัจจุบัน เบนซิน 95 อยู่ที่ลิตรละ 32.89 บาท, เบนซิน 91 ลิตรละ 31.59 บาท, แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 28.89 บาท และดีเซล ลิตรละ 29.34 บาท หากปรับราคาขึ้นอีกครั้งจะทำให้เบนซินทะลุลิตรละ 33 บาท

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในปี 2550 สาเหตุหลักมาจากความต้องการของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในระดับเกือบ 85.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ความต้องการน้ำมันทั้งโลกอยู่เพียงระดับ 6.2 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น โดยความต้องการที่เพิ่มขึ้นเริ่มส่งสัญญาณนับตั้งแต่ช่วงปี 2547 ที่ความต้องการน้ำมันของโลกขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเอเชีย

ความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่กำลังการผลิตของโลกกลับไม่สามารถเติบโตก้าวกระโดดสอดคล้องกับความต้องการที่สูงขึ้นดังกล่าวได้ ทั้งนี้ การผลิตน้ำมันโลกในปี 2550 ของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันส่งออกโลก หรือกลุ่มโอเปก ที่ประกอบด้วยสมาชิก 13 ประเทศ อยู่ในระดับ 27.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน และที่เหลืออีกประมาณ 50 กว่าล้านบาร์เรลต่อวันอยู่นอกกลุ่มโอเปก เช่นเดียวกับโรงกลั่นที่กลั่นน้ำมันสำเร็จรูประดับใกล้เคียงกับความต้องการ เหตุผลนี้จึงผลักดันให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น และนี่เป็นช่องว่างที่ทำให้บรรดากองทุนเก็งกำไร หรือเฮดจ์ฟันด์ เล็งเห็นแล้วปั่นราคาให้สูงขึ้นไปอีก

ปัญหาการผลิตตึงตัว เมื่อเทียบกับความต้องการยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องติดตามใกล้ชิดในปี 2551 เพราะภาวะเศรษฐกิจโลก ภาพรวมชี้ให้เห็นถึงความต้องการว่าจะเพิ่มมากน้อยเพียงใด แต่หลายฝ่ายก็คาดว่าอย่างน้อยๆ ความต้องการก็จะเพิ่มอีกประมาณ 1.37 ล้านบาร์เรลต่อวันโดยความต้องการรวมจะปรับเพิ่มเป็น 87.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ศักยภาพการผลิตของกลุ่มโอเปกมีโอกาสจะเพิ่มกำลังการผลิตในระดับไม่เกิน 5 แสนบาร์เรลต่อวัน และนอกโอเปกอีกราว 8 แสนบาร์เรลต่อวัน ดังนั้นก็จะเห็นว่าการผลิตยังไม่ทิ้งห่างจากความต้องการไปมากนัก

**ราคาเฉลี่ย 90-100เหรียญฯ

จากสถานการณ์การผลิตที่ตึงตัว จึงเป็นแรงกดดันสำคัญที่จะยังคงทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกในปี 2551 ไม่ต่างไปจากปี 2550 มากนักโดยราคาจะคงระดับสูง และค่อนข้างผันผวน เพราะเหตุผลสำคัญที่ไม่ใช่เพียงกำลังผลิตตึงตัว แต่หากกลุ่มโอเปกเองก็พอใจราคาน้ำมันในระดับสูง 90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องจับตาการประชุมโอเปค วันที่ 1 ก.พ. 51 ว่าจะตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตอีก 5 แสนบาร์เรลต่อวันหรือไม่ โดยหลายฝ่ายคาดว่า หากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงกว่าระดับ 90 เหรียญต่อบาร์เรลเป็นไปได้สูงที่โอเปคจะไม่เพิ่มการผลิตอีก

ทั้งนี้ ปัจจัยที่โอเปกอาจไม่เพิ่มกำลังผลิตเพราะต้องยอมรับว่า หลายประเทศที่ผลิตน้ำมันมีกำลังการ ผลิตน้ำมันดิบลดลง การพัฒนาแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ทำได้ยากขึ้น และใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง โดยสำรองน้ำมันในโลกที่ยังพอเห็นมีเพียง 3 ประเทศคือ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และอิรัก แต่ประเทศอื่นๆ สำรองเริ่มไม่เหลือแล้ว และในประเทศดังกล่าวการจะเพิ่มผลิตได้ทันทีมีเพียงซาอุดิอาระเบียเท่านั้น ดังนั้นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันของตัวเองจึงต้องทำให้ราคาแพงเข้าไว้ เพื่อหารายได้ให้มากที่สุด เก็บเงินเอาไว้ใช้ในช่วงที่ไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ในอนาคต

**ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก้าวสู่วิกฤติ

แม้ว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้น 2 ใน 3 จะมาจากปัจจัยทางพื้นฐาน แต่คงไม่อาจมองข้ามที่กรณีค่าเงินสหรัฐอ่อนค่าลง ก็ส่งผลต่อราคาสูงขึ้นถึง 1 ใน 3 ดังนั้น เมื่อเฮดจ์ฟันด์ผสมโรงเก็งกำไรจากปัจจัยเสี่ยง ก็จะทำให้ราคาน้ำมันมีความผันผวนในระยะสั้นๆ และปี 2551 อาจได้เห็นทะลุ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามที่สำคัญคือ ความมั่นคงของประเทศในตะวันออกกลาง ทั้งปัญหา อิหร่าน อิรัก ไนจีเรีย เหล่านี้จะมีผลต่อการผลิตน้ำมันค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม กรณีปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน ดูจะยังเป็นประเด็นสำคัญสุดที่ต้องตามบทบาทของสหรัฐฯ ในปี 2551 ในเวทีโลกเพราะแม้ว่าจะมีรายงานผลสรุปว่า นิวเคลียร์ที่อิหร่านดำเนินการนั้นเป็นไปเพื่อระบบสาธารณูปโภคไม่ใช่สร้างอาวุธนิวเคลียร์แต่สหรัฐฯ ก็ยังประกาศขึงขังที่จะเดินหน้าให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คว่ำบาตรขั้นรุนแรงกับอิหร่าน ดังนั้น หากสหประชาชาติดำเนินการเช่นนั้นจริง สิ่งที่น่าสนใจสุดคืออิหร่านจะตอบโต้ดังเช่นที่ นาย ‘ดาวูด ดาเนซ’ รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอิหร่านได้ขู่ไว้ว่า “ถ้าหากเกิดการคว่ำบาตรอิหร่านขึ้นมาไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม ผู้ที่จะเสียหายมากกว่าคือชาติตะวันตก ไม่ใช่อิหร่าน”

และนี่คือคำบอกเป็นนัยว่า อิหร่านจะหยุดส่งออกน้ำมันเข้าสู่ตลาดโลกโดยสิ้นเชิง !

ทั้งนี้ อิหร่านเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอันดับสอง ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปค รองจากซาอุดิอาระเบีย ซึ่งกรณีการตอบโต้ก็จะยิ่งดันให้น้ำมันราคาสูงมากขึ้น และคงต้องไม่มองข้ามว่า สหรัฐฯ จะตอบโต้ด้วยวิธีการโจมตีเช่นอิหร่านหรืออัฟกานิสถานหรือไม่ เพราะถ้าบานปลายถึงขั้นนั้น วิกฤติน้ำมันโลกจะกลับมาเกิดขึ้นทันทีและจะก้าวสู่วิกฤติครั้งที่ 4 เพราะหากสู้รบอ่าวเปอร์เซียจะถูกปิดทันที ซึ่งจะทำให้การขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางทั้งหมดหยุดชะงัก น้ำมันจากประเทศแถบนั้นไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน อิรัก โอมาน คูเวต ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีการผลิตน้ำมันเพื่อส่งขายเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และที่สำคัญเหนือไปกว่านั้นคือไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากแหล่งนี้กว่า 70% นั่นย่อมลำบากแน่ เพราะเท่ากับว่าน้ำมันจะไม่ได้แพงอย่างเดียว แต่มีโอกาสขาดแคลนอีกด้วย

นอกจากนี้ ที่มิอาจมองข้ามคือ ภัยธรรมชาติ ที่ปัจจุบันคนทั่วโลกไม่สามารถคาดเดาว่าอะไรจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะสหรัฐเองในปี 2550 เจอปัญหาพายุเฮอร์ริเคน พายุหิมะ ที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน รวมไปถึงแผ่นดินไหวที่ทั่วโลกต้องประสบกันทั่วถึงและมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุการณ์อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ ไม่มีเวลา และความรุนแรงให้วัดได้ เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยที่จะมีผลอย่างยิ่งต่อการผลิตพลังงานให้หยุดชะงักงันได้ทันที

ดังนั้น ราคาขายปลีกในไทยคงจะหนีไม่พ้นที่จะมีราคาสูงตามตลาดโลก โดยหากสะท้อนกลไกตลาดแล้วเฉลี่ยกลุ่มเบนซินจะอยู่ระดับ 27-29 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซล เฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในระดับ 25-28 บาทต่อลิตร

**ค่าไฟปี2551 สูงขึ้นเล็กน้อย

สำหรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ Ft ที่จะเรียกเก็บในบิลค่าไฟประชาชนทุก 4 เดือนนั้น คนไทยอาจไม่โชคดีเท่าปี 2550 ที่ลดลงตลอดปี เนื่องจากจะมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยจากราคาก๊าซธรรมชาติที่จะอิงกับราคาน้ำมันย้อนหลัง 6 เดือนหรือ 1 ปี ที่เป็นช่วงปี 2550 ที่ระดับราคาสูงจึงทำให้ราคาก๊าซจะปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10% แต่คงต้องตามปัจจัยอื่นประกอบเช่น ปริมาณน้ำในเขื่อนมีมากหรือไม่ เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากจนทำให้ความต้องการเพิ่มสูงและทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เลือกเดินเครื่องผลิตจากน้ำมันเตาแทนหรือไม่ หากปริมาณน้ำน้อยไม่สามารถเดินเครื่องผลิตจากเขื่อนที่มีต้นทุนต่ำ และเศรษฐกิจขยายตัวมากจนต้องเร่งผลิตจากน้ำมันเตาเหล่านี้จะเป็นตัวผลักดันให้ค่าไฟสูงขึ้นอีก

**ก๊าซหุงต้มปี 2551 จ่อขึ้นอีกรอบ

กรณีราคาก๊าซหุงต้มที่รัฐบาลเก่าวางกรอบนโยบายไว้หลังจากลดอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯทั้งหมดลงทำให้ราคาก๊าซหุงต้มปรับขึ้น 1.20 บาทต่อ กก.ในวันที่ 2 ธ.ค.เป็นต้นไปในปี 2550 และวางกรอบการทยอยปรับให้สะท้อนราคาตลาดโลก 40% ภายในไตรมาสแรกปี 2552 โดยม.ค.-มี.ค. 2551 จะอิงราคาส่งออก 5% เม.ย.-มิ.ย. 2551 อิง 10% ก.ค.-ก.ย. 51 อิง 20% ต.ค.-ธ.ค. 51 อิง 30% และตั้งแต่ม.ค. 52 เป็นต้นไปอิง 40% ซึ่งหากพิจารณาจากราคาก๊าซส่งออกเฉลี่ยอยู่ระดับ650 เหรียญต่อตันแผนดังกล่าวจะส่งผลให้ก๊าซหุงต้มต้องปรับขึ้นรวม 3.41 บาทต่อกก.โดยปี 2551 จะปรับเฉลี่ยประมาณ 2 บาทต่อ กก.

**ราคาสินค้าปีนี้เผาจริง

ปี 2550 กระทรวงพาณิชย์โชคดี ที่สามารถคุมราคาสินค้าไม่ให้ปรับขึ้นอย่างหวือหวาได้ แต่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 51 เมื่อใด สินค้าที่ขอให้ชะลอการปรับราคาไว้ ราคาจะเพิ่มขึ้นทันทีหลายต่อหลายรายการ ยังไม่รวมรายการที่อยู่ระหว่างการขอปรับราคาอีกเป็นจำนวนมาก

สินค้าที่จ่อจะปรับขึ้นราคาหลังปีใหม่ อาทิเช่น ยางรถยนต์ แบตเตอรี่ ปุ๋ยเคมี กาแฟผงสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ยารักษาโรค ผงซักฟอก ยาป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ผลิตภัณฑ์ล้างจาน น้ำอัดลม ผลิตภัณฑ์นม (นมผง นมแปลงไขมัน นมเปรี้ยว) และรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ รถบรรทุกเล็ก

ปีนี้ จะเป็นปีที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากราคาสินค้ามากที่สุด เพราะสินค้าที่อั้นราคาไว้เมื่อปี 2550 จะมาทะลักในปี 2551 นี้ ซึ่งถ้าถือว่าปีที่แล้วเป็นปีเผาหลอก ปีนี้ก็จะเป็นปีเผาจริง ผู้บริโภคจะรับรู้ถึงราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้นอย่างแท้จริง

**รัฐบาลใหม่กุมชะตาอนาคตราคาพลังงาน

แม้ว่าทิศทางพลังงานโดยรวมทั้งน้ำมัน ค่าไฟและก๊าซหุงต้ม รวมทั้งราคาสินค้า ในปี 2551 จะมีทิศทางที่ปรับขึ้นหรือทรงตัวระดับสูง แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นผู้กุมชะตากรรมของราคาพลังงานในประเทศทั้งหมดว่าท้ายสุดแล้วจะสะท้อนกลไกตลาด หรือว่าจะมีมาตรการใดมาบิดเบือนโครงสร้างราคาให้ต่ำลงในยามวิกฤติน้ำมันแพง ซึ่งเหล่านี้ล้วนต้องจับตานโยบายของพรรคการเมืองที่จะเข้ามาจัดตั้งเป็นรัฐบาลใหม่ ซึ่งเกือบทุกพรรคในช่วงหาเสียงต่างก็ชูนโยบายประชานิยมว่า จะลดราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม โดยเฉพาะการลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการอุ้มราคาก๊าซหุงต้มต่อไป

เพราะวิธีนี้ไม่ต้องคิดมากและนักการเมืองส่วนใหญ่ก็นิยมใช้หาเสียงมานักต่อนักแล้ว เนื่องจากไม่ต้องลงทุนอะไร วันใดน้ำมันแพงก็เรียกคืนจากคนใช้น้ำมัน ท้ายสุดคนซื้อน้ำมันก็เป็นคนจ่ายเงินต้น ถ้าอุดหนุนกันเพลินจนต้องกู้ยืม ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยพ่วงเข้าไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น