xs
xsm
sm
md
lg

แค่ในยุโรป ‘นาโต้’ยังไปไม่ค่อยไหวอยู่แล้ว ยังคิดจะแผ่ขยายมายังเอเชีย-แปซิฟิกอีกหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน และ โชชานา ไบรเอน


เงาของนักข่าวผู้หนึ่งปรากฏอยู่ข้างๆ โลโก้การประชุมซัมมิตองค์การนาโต้ ที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 75 ปีของการก่อตั้งองค์การพันธมิตรทางทหารนำโดยสหรัฐฯแห่งนี้ด้วย (ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2024 อันเป็นวันแรกของซัมมิตครั้งนี้)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Make way for imperial NATO with new flanks to secure
By STEPHEN BRYEN AND SHOSHANA BRYEN
11/07/2024

ความฝันของนาโต้ที่จะแผ่ขยายออกมาทางเอเชีย-แปซิฟิกนั้น แทบทั้งหมดเป็นเพียงหมอกควันเลื่อนๆ ลอยๆ ดังนั้น ถ้าหากพวกประเทศเอเชียมีสามัญสำนึกกันแล้ว พวกเขาก็จะไม่นำเอาตัวเองมาผูกติดกับองค์การพันธมิตรทางทหารแห่งแอตแลนติกเหนือแห่งนี้หรอก

ชื่อเต็มๆ ขององค์การนาโต้ (NATO) คือองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization) อันที่จริง ชื่อนี้สมควรที่จะถูกเปลี่ยนมานานแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งที่นาโต้ปรับเปลี่ยนโฟกัสและการปฏิบัติการของตนเองไปทางด้านใต้และทางภาคตะวันออกของยุโรป

นาโต้กำลังมีการปรับเปลี่ยนอีกคำรบหนึ่งแล้ว โดยสิ่งที่ต้องถือว่าสาหัสร้ายแรงที่สุดก็คือ การที่นาโต้กำลังเพิ่มรัฐสมาชิกของตนโดยไม่ได้มีการวางแผนอย่างจริงจังใดๆ ว่าจะสามารถปกป้องรักษาส่วนที่ยืดขยายออกไปใหม่เหล่านี้ให้มั่นคงปลอดภัยได้อย่างไร

เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการนาโต้ที่กำลังจะหมดวาระลงในสิ้นเดือนกันยายนนี้ [1] ออกมาพูดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ประเทศจีนสมควรที่จะต้องเผชิญกับผลพ่วงต่อเนื่องจากการที่พวกเขาให้ความสนับสนุนรัสเซีย เขาไม่ได้พูดอะไรอย่างชัดเจนเฉพาะเจาะจง “มันเป็นการเร็วเกินไปสำหรับที่จะพูดอะไรอย่างเจาะจง” เขากล่าว “ข้อความที่ผมต้องการส่งออกไปนั้นมีอยู่ว่า ... มันไม่ใช่เป็นเรื่องยืนยาวและสามารถกระทำได้หรอก สำหรับการที่จีนจะยังคงเติมเชื้อเพลิงให้แก่ภัยคุกคามความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุด ... ซึ่งเหล่าชาติพันธมิตรนาโต้ประสบอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าชาติพันธมิตรนาโต้ในยุโรป”

การบวกประเทศจีนเข้าไปอยู่ในสิ่งที่เป็นความวิตกกังวลของกลุ่มพันธมิตรแอตแลนติกแห่งนี้ แม้กระทั่งแค่เป็นการบวกในทางทฤษฎีเท่านั้นก็ตามที ต้องถือว่าเป็นการก้าวเดินล้ำออกไปก้าวใหญ่มากๆ และก็เป็นการขยายรายชื่อของประเทศต่างๆ ที่กำลังมองหาการคุ้มครองจากนาโต้ให้แผ่กว้างออกไปเยอะมาก

ข่าวดีที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยจากการประชุมซัมมิตนาโต้ระหว่างวันที่ 9-11 กรกฎาคม ณ กรุงวอชิงตันคราวนี้ก็คือว่า กลุ่มพันธมิตรทางทหารแห่งนี้ได้ยอมรับจุดอ่อนของตนอย่างแท้จริง แผนการที่กำหนดกันขึ้นมาใหม่จึงมีทั้งการหาทางเพิ่มงบประมาณรายจ่าย และการขยายจำนวนกำลังทหารที่ผูกพันเอาไว้กับนาโต้อย่างแน่นอนจริงๆ ในกรณีที่นาโต้จะเข้าสู่สงคราม

ตามที่ระบุเอาไว้ในแผนการที่ยังเผยแพร่เป็นการภายในฉบับหนึ่ง นาโต้ต้องขยายกำลังทหารที่ประจำการอยู่กับตนเองหรือสามารถที่จะเรียกเข้ามาประจำการกับตนเองได้อีกราวๆ 35 ถึง 50 กองพลน้อย (brigade) เรื่องเช่นนี้หากจะกระทำได้สำเร็จ คณะผู้นำนาโต้ก็จำเป็นจะต้องโน้มน้าวให้พวกรัฐสมาชิกของตนยินยอมขยายกองทัพของพวกเขา, ประกอบอาวุธให้แก่กองทัพที่ขยายขึ้นมาเหล่านี้, และจัดหาสมรรถนะทางด้านการขนส่งและการส่งกำลังบำรุงเพื่อสนับสนุนกองทัพเหล่านี้ในสมรภูมิ

สหรัฐฯนั้นยังคงมีกำลังทหารราว 100,000 คนอยู่ในยุโรป โดยที่ประมาณ 20,000 คนทำหน้าที่ช่วยเหลือยกระดับกองทหารนาโต้ที่เวลานี้รวมกำลังกันอยู่ในลักษณะเป็นกลุ่มสู้รบ (battlegroup) การขยายกำลังทหารของนาโต้ก็คือการเสริมเพิ่มต่อยอดจากกองทหารสหรัฐฯเหล่านี้

กำลังทหาร 1 กองพลน้อยในนาโต้นั้น มีกำลังพลระหว่าง 3,000 ถึง 5,000 คน นี่จึงหมายความว่า รวมทั้งสิ้นแล้วนาโต้อาจจะกำลังขาดแคลนจำนวนทหารสูงถึง 250,000 คนทีเดียว การระดมและการฝึกอบรมทหารเป็นจำนวนมากๆ เช่นนี้ในประเทศนาโต้ ต้องถือว่าเป็นภารกิจที่ท้าทายมาก กระทั่งมันอาจจะเป็นภารกิจที่เป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว

ในประเทศยุโรปส่วนใหญ่ที่สุด และในสหรัฐฯ [2] ด้วย การระดมรับสมัครหรือการเกณฑ์ทหารใหม่เวลานี้อยู่ในระดับที่มีผลงานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ในสหรัฐฯนั้นมีเพียงเหล่านาวิกโยธิน (Marine Corps) และกองบัญชาการอวกาศ (Space Command) เท่านั้น [3] ที่บรรลุเป้าหมายในการรับสมัครทหารใหม่ของทางหน่วยงาน ขณะที่กองทัพบก, กองทัพเรือ, และกองทัพอากาศ ล้วนแต่ได้กำลังพลไม่เพียงพอ ทางด้านสหราชอาณาจักร [4] และเยอรมนี [5] ก็เช่นเดียวกัน ต่างพลาดเป้าไม่ได้ทหารใหม่ตามที่ต้องการแถมยังต่ำกว่าเป้าเป็นจำนวนสูงมากด้วย

เยอรมนี ซึ่งอาจกลายเป็นแนวหน้าของการสู้รบอีกครั้งหนึ่งถ้ามีสงครามระเบิดขึ้นมาในยุโรป มีกองทัพที่ประกอบด้วยบุคลากรทางทหารจำนวน 184,000 คน และบุคลากรทางฝ่ายพลเรือน 80,000 คน โดยที่ประกอบด้วยทหารอาชีพ (57,365 คน), ทหารตามสัญญาจ้าง (114,243 คน), และบุคลากรทหารอาสาสมัคร (9,748 คน) ทั้งนี้ในปัจจุบันเยอรมนีไม่มีการเกณฑ์ทหาร เมื่อไม่นานมานี้ งบประมาณกลาโหมของเยอรมนียังถูกลดลงมาราว 5,000 ล้านยูโร [6] การที่เยอรมนีจะสามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนการของนาโต้ได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีงบประมาณกลาโหมเป็น 4 เท่าตัวของยอดปัจจุบัน รวมทั้งต้องประกาศใช้ระบบเกณฑ์ทหารด้วย

เรื่องอย่างนี้มันไม่มีทางเป็นไปได้เลย!

ในปัจจุบันนาโต้ไม่ได้มีการจัดกำลังทหารเป็นกองพลน้อย –มีแต่จัดเป็นกลุ่มสู้รบ (battlegroup) โดยกลุ่มสู้รบหนึ่งๆ มีกำลังทหารอยู่ราวๆ 1,000 คน ปัจจุบันมีกลุ่มสู้รบดังกล่าวนี้อยู่ 5 กลุ่ม และนาโต้กำลังพยายามเพิ่มขึ้นมาอีก 4 กลุ่มสู้รบ นี่หมายความว่านอกเหนือจากการสร้างกำลังทหารด้วยการจัดเป็นกองพลน้อยใหม่ๆ ประมาณ 35 ถึง 50 กองพลน้อยแล้ว นาโต้ยังจะต้องขยาย 8 กลุ่มสู้รบของตนให้กลายเป็นกองพลน้อย ขณะที่อย่างน้อยที่สุดก็จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ ยังไม่มีข้อตกลงใดๆ กันเลยว่าจะทำเช่นว่านี้กันอย่างไร

ณ ซัมมิตนาโตที่วอชิงตัน ดี.ซี. ครั้งนี้ มีการให้คำมั่นผูกพันเพื่อปลุกเร้าเอาอกเอาใจยูเครน ด้วยข้อเสนอจัดส่งชุดระบบป้องกันภัยทางอากาศ “แพทริออต” (Patriot) ใหม่ๆ ให้อีก 4 ชุด และเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 จากนอร์เวย์เพิ่มเติมขึ้นมา (จำนวน 6 ลำ)

สมาชิกนาโต้บางรายเวลานี้กำลังพูดจากันเกี่ยวกับการจัดส่ง เอฟ-16 เป็น “ฝูงบินๆ” ไปให้ยูเครน ทว่านั่นน่าจะเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้นมากกว่า (มีโอกาสอยู่มากว่าเสียด้วยซ้ำ ที่ลงท้ายแล้วสหรัฐฯจะต้องเป็นผู้จ่ายเงินค่าระบบแพทริออตที่จะจัดส่งเพิ่มเติมให้ยูเครนเหล่านี้อีกด้วย) เหตุผลของเรื่องนี้เป็นสิ่งที่มองเห็นกันได้อย่างโต้งๆ อยู่แล้ว กล่าวคือ นาโต้ทราบดีว่าแผนการขยายกำลังอย่างใหญ่โตมโหฬารของตนนี้ไม่ได้กำลังจะเกิดขึ้นมาให้เห็นกันจริงๆ หรอก ดังนั้นาโต้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมียูเครนเอาไว้ให้ทำหน้าที่เป็นกันชนยันรัสเซีย ตราบใดที่รัสเซียถูกผูกพันตรึงแน่นอยู่ตรงนี้ นาโต้ก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงไม่ถูกเปิดโปงให้เห็นจุดอ่อนข้อบกพร่องของตนเอง

นาโต้ในแปซิฟิก

ขณะที่นาโต้กำลังประโคมเผยแพร่แผนการต่างๆ สำหรับการขยายรัฐสมาชิกและเพิ่มพูนสมรรถนะของตน รวมทั้งตักเตือนสอนสั่งจีนเกี่ยวพฤติกรรมของปักกิ่งเองอยู่นี้ พวกชาติเพื่อนมิตรประชาธิปไตยในแปซิฟิกหลายๆ รายก็กำลังแสดงความสนใจมีจิตปรารถนาที่จะได้อยู่ใต้ร่มความคุ้มครองของนาโต้บ้าง

พวกผู้นำของ 4 ชาติในเอเชีย-แปซิฟิก (จากซ้าย) รองนายกรัฐมนตรี ริชาร์ด มาร์เลส ของออสเตรเลีย, นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น, นายกรัฐมนตรีคริสโตเฟอร์ ลักซัน แห่งนิวซีแลนด์, และประธานาธิบดียูน ซ็อก ย็อล แห่งเกาหลีใต้ ขณะเข้าร่วมการประชุมวาระหนึ่งของซัมมิตนาโต้ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2024
ออสเตรเลียซึ่งเข้าร่วมการประชุมซัมมิตครั้งนี้ด้วย แสดงความต้องการที่จะได้ใช้ประโยชน์จากความรู้โนวฮาวทางทหารของนาโต้ ส่วนนิวซีแลนด์ ซึ่งต้องการรบเร้าส่งเสริมสหรัฐฯในฐานะสมาชิกชั้นแนวหน้าของนาโต้ ให้การพิทักษ์คุ้มครองตนเองจากจีน ได้จัดส่งนายกรัฐมนตรีไปยังที่ประชุมคราวนี้ทีเดียว

นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น และประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ก็มาปรากฏตัว ณ ซัมมิตนาโต้ที่กรุงวอชิงตันเช่นเดียวกัน โดยแสดงท่าทีเหมือนกำลังสนใจซื้อหาวิสัยทัศน์ของเลขาธิการนาโต้ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก ที่ว่า นาโต้จะต้องเตรียมพร้อมเผชิญหน้ากับทั้งรัสเซียและทั้งจีน

ญี่ปุ่นนั้นมีประเด็นปัญหากับรัสเซียที่เกิดขึ้นมานานแล้วและยังไม่สามารถแก้ไขคลี่คลายได้ เกี่ยวกับดินแดนทางตอนเหนือ (Northern Territories ซึ่งก็คือ หมู่เกาะคูริล the Kuril Islands) ที่ถูกสหภาพโซเวียตเข้ายึดครองในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ปัญหาที่ใหญ่โตกว่านั้นเสียอีกคือจีน ซึ่งญี่ปุ่นหวาดกลัวว่าในไม่ช้าไม่นานจะสามารถเข้าครอบครองแนวปราการป้องกันของฝ่ายตะวันตก ที่เรียกกันว่า ห่วงโซ่เกาะห่วงโซ่แรกในแปซิฟิก (Pacific First Island Chain) ภายหลังจาก “ดำเนินการแก้ไข” ประเด็นปัญหาไต้หวันได้แล้ว โดยที่ไต้หวันนั่นเองซึ่งตั้งอยู่ตรงใจกลางของห่วงโซ่ดังกล่าวนี้ จีนยังกล่าวอ้างดินแดนหมู่เกาะหลายแห่งที่ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นผู้บริหารปกครองอยู่ โดยจุดที่สำคัญที่สุดคือหมู่เกาะเซนกากุ (Senkaku Islands) ที่ฝ่ายจีนเรียกชื่อว่าหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ (Diaoyu Islands) นอกจากนั้นจีนยังอ้างสิทธิในหมู่เกาะโอกินาวา ซึ่งมีความสำคัญในทางทหารสำหรับสหรัฐฯ

แผนที่แสดงให้เห็น ห่วงโซ่เกาะห่วงโซ่แรก และห่วงโซ่ที่สองในแปซิฟิก (Pacific First and Second Island Chain) (แผนที่นี้จัดทำโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และเผยแพร่อยู่ในวิกิพีเดีย)
สหรัฐฯกับญี่ปุ่น และสหรัฐฯกับเกาหลีใต้ ต่างมีสนธิสัญญาร่วมป้องกันกันอยู่ (สนธิสัญญาญี่ปุ่น-สหรัฐฯปี 1960 เพิ่งได้รับการอัปเดต [7] เมื่อไม่นานมานี้) โดยที่สหรัฐฯยังคงธำรงรักษาการปรากฏตัวทางทหารอย่างสำคัญในทั้งสองประเทศนี้เอาไว้จวบจนถึงปัจจุบัน

ในญี่ปุ่นนั้น สหรัฐฯมีบุคลากรทางทหารประจำการอยู่ 54,000 คน และยังมีผู้ทำสัญญารับจ้างกับสหรัฐฯอยู่อีก 8,000 คน (บวกกับคนงานชาวญี่ปุ่นอีกเป็นจำนวน 25,000 คน) สหรัฐฯส่งเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ 1 ลำมาปักหลักประจำการอยู่ในญี่ปุ่น และธำรงรักษาการปรากฏตัวอย่างสำคัญทั้งในด้านกำลังทางอากาศและกำลังทางนาวี

สำหรับในเกาหลี สหรัฐฯมีทหารประจำการอยู่ 28,500 คน ส่วนใหญ่เป็นกำลังกองทัพบก โดยแทบทั้งหมดประจำการอยู่ที่ค่ายฮัมฟรีย์ส (Camp Humphreys) ขณะเดียวกัน สหรัฐฯยังคงมีระบบป้องกันขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ประจำการอยู่ในเกาหลีอีกด้วย

เกาหลีใต้นั้นมีการบังคับให้ชายทุกคนต้องเข้ารับราชการทหารเริ่มตั้งแต่อายุ 18 ปี จึงทำให้มีกำลังกองทัพขนาดใหญ่ ซึ่งมีทหารประจำการจำนวน 500,000 คน และกำลังสำรอง 3,100,000 คน แต่ศัตรูรายสำคัญที่สุด ซึ่งได้แก่เกาหลีเหนือ มีกองทัพประจำการขนาดใหญ่กว่านี้เสียอีก โดยเวลานี้มีทหารประจำการจำนวน 1,320,000 คน และกำลังสำรอง 560,000 คน เกาหลีเหนือยังมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตนเอง ขณะที่เกาหลีใต้พึ่งพาอาศัย “ร่มนิวเคลียร์” อเมริกัน สำหรับปกป้องคุ้มครองตนเองจากเพื่อนบ้านทางเหนือรายนี้

อย่างไรก็ดี สำหรับญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีการเกณฑ์ทหาร และพลาดเป้าไม่สามารถระดมกำลังทหารใหม่เข้ากองกำลังป้องกันตนเอง (ซึ่งก็คือกองทัพ -ผู้แปล) [8] ในอัตราสูงกว่า 50% ทั้งนี้คนหนุ่มในญี่ปุ่นทุกวันนี้สามารถหาตำแหน่งงานดีๆ มีรายได้งดงาม ขณะที่กองกำลังป้องกันตนเองให้ค่าตอบแทนในระดับย่ำแย่ และไม่มีเสน่ห์ดึงดูดใจคนหนุ่มให้เลือกที่จะเป็นทหารอาชีพ

ใครได้ประโยชน์?

ญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้จะได้อะไรจากการมีความสัมพันธ์กับ –ถ้าหากไม่ถึงขั้นเข้าเป็นสมาชิก—นาโต้? เป็นเรื่องลำบากที่จะมองเห็นได้ว่านาโต้สามารถให้ความช่วยเหลืออะไรอย่างแท้จริงแก่ทั้งคู่ แถมมันยังอาจจะสร้างความยุ่งยากซับซ้อนให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่าง สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น และ สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ ด้วยซ้ำไป ด้วยการเพิ่มระบบความซับซ้อนทางการบังคับบัญชาอีกชุดหนึ่งแทรกเข้ามาตรงกลางระหว่างประเทศทั้งสองกับอเมริกาที่เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ของพวกเขาอยู่แล้ว

ในทางกลับกัน เป็นเรื่องมีคุณค่าที่จะตั้งคำถามในทำนองเดียวกันว่า นาโต้จะได้ประโยชน์อะไรจากการมีความสัมพันธ์กับพวกลูกค้าพวกบริษัทบริวารรายใหญ่ของสหรัฐฯในเอเชีย นาโต้นั้นไม่ได้มีสมรรถนะใดๆ ในการประจำการและการคงกำลังทหารเอาไว้ดินแดนห่างไกลจากฐานของตนเองอย่างเช่นเอเชียเอาเลย นาโต้ไม่ได้มีอะไรมากมายนักหรอกที่สามารถหยิบยกเอามาวางแบบนโต๊ะแล้วทำให้ญี่ปุ่นหรือเกาหลีบังเกิดความสนใจอย่างแท้จริงขึ้นมา นอกเหนือจากในแง่ของการเมืองแล้ว

แรงต้านทางการเมือง

องค์การนาโต้เองยังกำลังเผชิญกับแรงต้านทางการเมือง ซึ่งบางอย่างบางอันถือว่าหนักหนาสาหัสทีเดียว

หนึ่งในนั้นมาจากอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อตอนที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่นั้น ทรัมป์ออกมาเรียกร้องด้วยเสียงดังลั่นให้พวกหุ้นส่วนนาโต้ต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหมของพวกเขา [9] ทั้งนี้เมื่อปี 2018 ขณะที่สหรัฐฯกำลังใช้จ่ายทางด้านกลาโหมคิดเป็นสัดส่วน 3.5% ของจีดีพี ปรากฏว่ามีเพียง 8 ประเทศจากชาติพันธมิตรทั้งหมด 29 รายในเวลานั้น ซึ่งกำลังใช้จ่ายด้านกลาโหมถึงเป้าหมาย 2% ของจีดีพีตามที่นาโต้ตั้งเอาไว้ ต่อจากนั้นมา มีชาติพันธมิตรบางรายที่ตัดสินใจเดินหน้าทำตามพันธะของพวกตนในเรื่องนี้ ทว่าบางรายก็ยังไม่ได้ปักใจ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน (ขวา) เข้าร่วมในพิธีลงนามแผนการริเริ่ม “ยูเครน คอมแพกต์” (Ukraine Compact initiative) ซึ่งจัดขึ้นข้างเคียงการประชุมซัมมิตนาโต้ ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2024  ทั้งนี้ ยูเครน คอมแพกต์ เป็นเอกสารซึ่งลงนามโดยพวกผู้นำของ 23 ชาติที่เข้าร่วมการประชุมซัมมิตคราวนี้ โดยมีเนื้อหามุ่ง “ยืนยันว่าความมั่นคงของยูเครนเป็นสิ่งที่บูรณาการเข้ากับความมั่นคงของภูมิภาคยูโร-แอตแลนติกและดินแดนที่เกินเลยไปกว่านั้นอีก” พร้อมกับประกาศว่า พวกเขา “มีเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนยูเครนจวบจนกระทั่งยูเครนมีชัยเหนือการรุกรานของรัสเซีย”  อย่างไรก็ตาม รายการนี้ก็เฉกเช่นเดียวกับความพยายามอย่างอื่นๆ ซึ่งมุ่ง “ป้องกันตนเองจากทรัมป์”  (“Trump-proof”) ของพวกพันธมิตรนาโต้  นั่นคือ หากทรัมป์ชนะได้เป็นประมุขทำเนียบขาวอีกสมัยหนึ่ง และยืนยันความปรารถนาที่จะยุติการช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนแล้ว เขาก็สามารถที่จะกระทำเช่นนั้นได้อย่างง่ายดายอยู่ดี
บางทีสิ่งที่น่าวิตกกังวลมากกว่านี้เสียอีก ได้แก่ การที่มีพวกอดีตผู้ช่วยของทรัมป์ออกมาเสนอแนะแล้วว่า ยูเครนคือปัญหาของทางยุโรป [10] ไม่ใช่เป็นปัญหาของอเมริกัน การหารือในเรื่องที่ว่า นาโต้จะต้องหาทางสร้างมาตรการเพื่อ “ป้องกันตนเองจากทรัมป์” (“Trump-proof”) เอาไว้ก่อน [11] เผื่อไว้ในกรณีที่เขาชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกสมัยหนึ่ง กำลังเป็นสิ่งซึ่งมีการพูดจากันอย่างกว้างขวางทั่วไป ขณะที่พวกนักการเมืองยุโรปต่างพากันหวาดกลัวว่า ทรัมป์จะไม่เอาด้วยกับการทำสงครามกับรัสเซียต่อไปอีก

สิ่งที่มีความชัดเจนมากก็คือ สัญชาตญาณของทรัมป์นั้นเอนเอียงไปในทางเปิดเจรจากับรัสเซีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางยุโรป –อาจจะมียกเว้นก็เฉพาะแต่ฮังการี –ยังคงปฏิเสธไม่เอาด้วยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

นอกเหนือจากนี้แล้ว ยังมีประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีความร้ายแรงและเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเพิกเฉยได้ ถ้าหากประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ต้องตัดสินใจยอมอ่อนข้อให้แก่ฝ่ายซ้าย [12] (เพื่อกีดกันไม่ให้พวกขวาจัดสามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาในแดนน้ำหอม -ผู้แปล) มันก็จะเป็นเรื่องที่ต้องเจ็บปวดกันมาก เป็นต้นว่า ฝ่ายซ้ายที่นั่นต้องการให้จัดเก็บ “ภาษีความร่ำรวย” ในอัตรา 90% [13] และตั้งงบประมาณรายจ่ายทางด้านสังคมเพิ่มขึ้นไปมากๆ (โดยที่ “ความร่ำรวย” คือสิ่งที่กำลังถอยหนีหลบลี้ออกไปจากฝรั่งเศสกันอยู่แล้วในเวลานี้) ฝรั่งเศสไม่สามารถทำเช่นนั้น พร้อมๆ กับที่ยังคงทุ่มเทเงินทองนับพันล้านหมื่นล้านเข้าไปในยูเครนได้ ท้องพระคลังของแดนน้ำหอมในปัจจุบันอยู่ในสภาพที่พร่องลงไปอย่างร้ายแรง ดังนั้นเงินใช้จ่ายได้จริงๆ สำหรับอนาคตข้างหน้าจะต้องมาจากงบประมาณการดำเนินงานในปัจจุบันเท่านั้น ผลพ่วงต่อเนื่องที่เกิดขึ้นก็คือฝรั่งเศสต้องตกอยู่ในสภาพที่เศรษฐกิจดับสูญเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ โดยที่สิ่งนี้ยังอาจจะเกิดซ้ำร้อยขึ้นอีกในสหราชอาณาจักรยุคที่รัฐบาลพรรเลเบอร์ชุดใหม่ขึ้นครองอำนาจ

แผนการขยายตัวแบบมุ่งสร้างจักรวรรดิของนาโต้จึงกลายเป็นแค่หมอกควันเลื่อนๆ ลอยๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ และถ้าพวกประเทศเอเชียมีสามัญสำนึกกันแล้ว พวกเขาก็จะไม่นำเอาตัวเองไปผูกติดอยู่กับนาโต้หรอก

สตีเฟน ดี. ไบรเอน เป็นอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ขณะที่ โชชานา ไบรเอน เป็นผู้อำนวยการอาวุโสของศูนย์นโยบายชาวยิว (Jewish Policy Center) ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ทีแรกสุดในช่อง Weapons and Strategy บนแพลตฟอร์ม Substack

เชิงอรรถ

[1] https://substack.com/redirect/64e969d0-82e6-4cab-ae88-ea8eed836d4c?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[2] https://substack.com/redirect/ce220dc0-8a94-401b-a87e-c7ff84384a02?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[3] https://substack.com/redirect/1f531d80-f44a-446e-8285-e863c812bd88?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[4] https://substack.com/redirect/85bb6314-5656-450f-8aca-53371d4e6c28?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[5] https://substack.com/redirect/fe49ca5c-4b97-4594-a376-ab1249822968?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[6] https://substack.com/redirect/cd60795f-fb1d-4c74-8c3a-b89ed779e51a?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[7] https://substack.com/redirect/48f76b44-7cde-443a-8e43-01b72f721b17?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[8] https://substack.com/redirect/d6803925-acd6-47d5-bc8e-67a3e47a0fbe?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[9]https://substack.com/redirect/05d98d58-bcd2-4b04-a0bf-552dd569b367?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[10] https://substack.com/redirect/92d3d104-2aa5-4c2b-bb76-9bd534a0f482?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[11] https://substack.com/redirect/0d4b387b-a398-4ba5-a696-7972fd7fbaf6?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[12] https://substack.com/redirect/622e68af-6ed6-4391-beb7-c3eebf75561b?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[13] https://substack.com/redirect/b9a06338-418e-4210-9412-e5a3527006a1?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
กำลังโหลดความคิดเห็น