xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ กระชับสัมพันธ์ 4 ชาติอินโด-แปซิฟิก ขณะจีนระแวงเป็นแผนมุ่งสร้าง ‘นาโตเวอร์ชันเอเชีย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นาโต” รุกหนักกระชับสัมพันธ์ 4 ชาติในภูมิภาค “อินโด-แปซิฟิก” ถึงแม้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ ต่างก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรทางทหารในยุโรป-อเมริกาแห่งนี้ แต่มีความสำคัญโดดเด่นมากขึ้นจากการที่รัสเซียและจีนปรองดองใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจอิทธิพลของสหรัฐฯ รวมทั้งสองเกาหลีก็แบ่งข้างเชียร์คนละฝ่ายในสงครามที่ยูเครน

ปีนี้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้วที่ผู้นำนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างตอบรับคำเชิญให้เข้าร่วมประชุมสุดยอดขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ซึ่งสำหรับปี 2024 นี้จัดขึ้นที่กรุงวอชิงตันตั้งแต่วันอังคาร (9 ก.ค.) ขณะที่ออสเตรเลียส่งระดับรองนายกรัฐมนตรีเข้าร่วม ทั้งนี้คาดหมายกันว่า จีนจะเฝ้าติดตามกิจกรรมนี้อย่างใกล้ชิดด้วยความกังวลว่ากลุ่มพันธมิตรทางทหารซึ่งแม้ยังคงชื่อ “แอตแลนติกเหนือ” อันหมายถึงยุโรปและอเมริกาเอาไว้ ทว่ากำลังขยายความสนใจมาอยู่แถวเอเชีย-แปซิฟิก

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวที่สถาบันบรูคกิงส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า หุ้นส่วนในยุโรปตระหนักมากขึ้นว่า ความท้าทายที่ห่างออกไปครึ่งโลกในเอเชียเกี่ยวข้องกับตน ขณะที่หุ้นส่วนในเอเชียก็คิดแบบเดียวกันนี้

บลิงเคนบอกด้วยว่า สหรัฐฯ กำลังทำงานเพื่อสลายกำแพงที่ขวางกั้นระหว่างพวกพันธมิตรในยุโรปของตน บรรดาแนวร่วมในเอเชีย และหุ้นส่วนอื่นๆ ในตลอดทั่วโลก โดยที่ส่วนต่างๆ เหล่านี้สหรัฐฯ ถือว่าต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของเรขาคณิตใหม่ ซึ่งสหรัฐฯ กำลังพยายามนำเอามาประกอบให้เข้าที่เข้าทาง

ด้าน เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวสำทับในวันอังคาร (9) ว่า พวกพันธมิตรนาโต และพวกหุ้นส่วนในอินโด-แปซิฟิก ของอเมริกา ตกลงที่จะเปิดโครงการใหม่ๆ ร่วมกันรวม 4 โครงการ ได้แก่เรื่อง ยูเครน ปัญญาประดิษฐ์ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ และความมั่นคงทางไซเบอร์

“ความริเริ่มในแต่ละด้านมีความแตกต่างกัน ทว่าเป้าหมายหลักเป็นอย่างเดียวกัน นั่นคือ การควบคุมใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งที่โดดเด่นของบรรดาชาติประชาธิปไตยซึ่งมีศักยภาพสูง เพื่อมารับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่เผชิญอยู่ร่วมกัน” ซัลลิแวนกล่าวเช่นนี้ในเวทีประชุมว่าด้วยอุตสาหกรรมกลาโหม

วอชิงตันมองว่า ประเทศต่างๆ ที่มีความกังวลทางด้านความมั่นคงปลอดภัยร่วมกัน กำลังเสริมสร้างสายสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีก ขณะที่การแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนกำลังบานปลายขยายตัวออกไปเรื่อยๆ โดยที่วอชิงตันพยายามสกัดกั้นความทะเยอทะยานของปักกิ่งที่จะท้าทายระเบียบโลกซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ แต่รัฐบาลจีนไม่ยอมรับเรื่องนี้ และโต้แย้งว่านี่เป็นความคิดจิตใจแบบเก่าๆ ตั้งแต่สมัยยุคสงครามเย็น ซึ่งวอชิงตันตั้งใจปลุกขึ้นมาด้วยจุดม่งหมายที่จะควบคุมปิดกั้นไม่ให้ปักกิ่งสามารถก้าวผงาด ถึงแม้นั่นเป็นสิ่งที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

ปักกิ่งยังตอบโต้อย่างกราดเกรี้ยวกับลู่ทางความเป็นไปได้ที่นาโตและ 4 หุ้นส่วนในอินโด-แปซิฟิก จะขยายความร่วมมือกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นทุกที

หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมากล่าวหาในวันจันทร์ (8) ว่า นาโตกำลังละเมิดขอบเขตพรมแดนของตนเอง กำลังพยายามอำนาจที่ได้รับมอบหมายตามกฎบัตรของตน ให้เลยออกนอกเขตป้องกันตนของตัวเอง อีกทั้งกำลังยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้า

สงครามในยูเครนที่ทำให้ตะวันตกชนกับรัสเซียและเพื่อนมิตร กำลังกลายเป็นเครื่องหนุนส่งเหตุผลสำหรับการเพิ่มความร่วมมืออย่างใกล้ชิดขึ้นระหว่างอเมริกา ยุโรป และพันธมิตรของพวกเขาในเอเชีย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น กล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ว่า วันนี้เป็นยูเครน แต่พรุ่งนี้อาจจะเป็นเอเชียตะวันออก

เวลาเดียวกันอเมริกาและเกาหลีใต้ พากันกล่าวหาเปียงยางว่ากำลังจัดส่งพวกเครื่องกระสุนไปให้รัสเซีย ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ก็ไปเยือนเกาหลีเหนือเมื่อเดือนที่แล้วและลงนามข้อตกลงที่เอื้ออำนวยความช่วยเหลือทางด้านการทหารระหว่างกันกับ ผู้นำ คิม จองอึน

ในทางกลับกัน เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นต่างกำลังส่งอุปกรณ์ทางทหารและความช่วยเหลืออื่นๆ ให้ยูเครนเหมือนกัน และอเมริการะบุว่า จีนจัดส่งเครื่องจักร ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ช่วยให้รัสเซียผลิตอาวุธไปสู้รบในยูเครน

กระนั้น มีร์นา กาลิก นักวิเคราะห์อาวุโสด้านนโยบายเกี่ยวกับจีนและเอเชียตะวันออกของสถาบันสันติภาพอเมริกา ให้ความเห็นว่า การเป็นหุ้นส่วนกันเช่นนี้ไม่ได้ทำให้นาโตกลายเป็นเพลเยอร์โดยตรงรายหนึ่งในอินโด-แปซิฟิก เพียงแต่เปิดทางให้นาโตร่วมมือกับ 4 ชาติเอเชียในประเด็นที่มีข้อกังวลร่วมกัน เธอยกตัวอย่างเอาไว้ในบทวิเคราะห์ของเธอว่า นาโตกับ 4 หุ้นส่วนในอินโด-แปซิฟิก อาจแบ่งปันข้อมูลข่าวสารกัน และร่วมมือกันในการปฏิบัติการต่างๆ อย่างเช่น การแซงก์ชัน และการจัดส่งความช่วยเหลือ แต่ไม่ถึงขนาดเข้าไปแทรกแซงในวิกฤตทางทหารซึ่งอยู่นอกเหนือภูมิภาคของพวกเขาเอง

ทางด้านลูอิส ไซมอน ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการทูตและยุทธศาสตร์ความมั่นคง แห่งมหาวิทยาลัย วเรเยอ ยูนิเวอร์ซิเตท บรัสเซลส์ มองว่า ซัมมิตนาโตจะเปิดทางให้อเมริกา กับพันธมิตรในยุโรปและอินโด-แปซิฟิก ร่วมกันต่อต้านจีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ และอิหร่าน

ไซมอนเสริมว่า จากข้อเท็จจริงที่ว่า พันธมิตรยูโร-แอตแลนติก และอินโด-แปซิฟิกถูกจัดวางโครงสร้างล้อมรอบแกนอำนาจทางทหารของอเมริกา ทำให้มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นกว่าและได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ มากกว่าการเป็นหุ้นส่วนแบบเชื่อมโยงกันเฉยๆ ระหว่างจีน รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ

สำหรับ จู เฟิง คณบดีคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยหนานจิง ในจีน ให้ความเห็นว่า ปักกิ่งกังวลที่นาโตปักหมุดพุ่งความสนใจมาที่ตะวันออก และยืนกรานว่า นาโตต้องไม่แทรกแซงกิจการความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งควรเปลี่ยนความคิดที่มองจีนเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ แต่ควรพิจารณาจีนในฐานะที่เป็นหนึ่งในพลังสำคัญสำหรับสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคและความมั่นคงในทั่วโลก

จูสำทับว่า จีนยังวาดหวังว่าสงครามในยูเครนจะสิ้นสุดโดยเร็ว รวมทั้งปฏิเสธการฟื้นความสัมพันธ์สามเส้า จีน-รัสเซีย-เกาหลีเหนือ และบอกว่า ในโลกวันนี้ที่เปราะบางและผันผวน ยุโรป อเมริกา และจีนควรกระชับความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลก

ในอดีตที่ผ่านมา นาโตกับจีนแทบไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกันเลย จนกระทั่งปักกิ่งปีนเกลียวกับวอชิงตันอย่างแรงในปี 2019 ปรากฏว่าในปีเดียวกันนั้น ซัมมิตนาโตที่ลอนดอนฟันธงว่า จีนเป็น “ความท้าทาย” ที่นาโตต้องจัดการร่วมกันในฐานะพันธมิตร ถัดจากนั้นมาอีก 2 ปี นาโตได้ยกระดับจีนเป็น “ความท้าทายเชิงระบบ” พร้อมระบุว่า ปักกิ่งร่วมมือทางทหารกับรัสเซีย

หลังจากรัสเซียบุกยูเครนในปี 2022 พวกผู้นำญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ร่วมประชุมสุดยอดนาโตเป็นครั้งแรก ซึ่งมีการออกแถลงการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า จีนสร้างความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนทางปักกิ่งก็กล่าวหานาโตร่วมกับอเมริกาตีกรอบกีดกันจีนทุกด้าน

ปัจจุบัน จีนกังวลว่า วอชิงตันกำลังพยายามสร้างกลุ่มพันธมิตรแบบนาโตขึ้นในอินโด-แปซิฟิก

พ อ.อาวุโส เฉา เหยียนจง ของจีน ซึ่งเป็นนักวิจัยอยู่ที่สถาบันสงครามศึกษา ของแดนมังกร ได้ถามรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ในเวทีประชุมการสนทนาความมั่นคง แชงกรีลา ที่สิงคโปร์ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯ กำลังพยายามที่จะสร้างนาโตเวอร์ชันเอเชียขึ้นมาใช่หรือไม่ ด้วยการเพิ่มน้ำหนักให้แก่การจับมือเป็นหุ้นส่วนและการจับมือเป็นกลุ่มพันธมิตรกับชาติอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ เป็นต้นว่า สหรัฐฯ มีการรวมกลุ่มกับสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย (ซึ่งก็คือกลุ่ม AUKUS) อีกกลุ่มหนึ่งคือกับออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น (กลุ่มคว็อด) และอีกกลุ่มหนึ่งกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ (ข้อตกลงไตรภาคี ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-สหรัฐฯ)

“ท่านคิดว่ามันมีนัยอะไรบ้างต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาคนี้ จากการเพิ่มความแข็งแกร่งของระบบพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชีย-แปซิฟิกเช่นนี้?” เฉา ตั้งคำถาม

ทางด้านออสตินตอบว่า สหรัฐฯ เพียงแต่กำลังทำงานกับพวกประเทศที่มีความคิดเห็นอย่างเดียวกัน มีค่านิยมต่างๆ ทำนองเดียวกัน และมีวิสัยทัศน์ร่วมกันเกี่ยวกับอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งมีข้อสรุปของพวกเขาเอง

“เจตนารมณ์ที่แท้จริงของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ คือการบูรณการเอาวงกลมวงเล็กๆ เข้ามาเป็นวงกลมใหญ่ นั่นคือเป็นนาโตในเวอร์ชันเอเชีย เพื่อที่จะธำรงรักษาฐานะความเป็นเจ้าเหนือใคร ที่นำโดยสหรัฐฯ เอาไว้ต่อไป” เป็นคำกล่าวของ พล ท.จิง เจี้ยนเฟิง แห่งกองทัพจีน ณ เวทีประชุมที่สิงคโปร์คราวเดียวกันนี้

(ที่มา : เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น