xs
xsm
sm
md
lg

‘เซเลนสกี’ บุกฟิลิปปินส์จับมือ ‘มาร์กอส’ วิจารณ์จีน-รัสเซีย ด้าน ‘ปักกิ่ง’ ตอบโต้ข้อกล่าวหา ย้ำเป็นกลาง โปร่งใส ไม่ขวางใครร่วมการประชุมที่เคียฟวางแผนใช้บีบมอสโก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน (ซ้าย) ลงนามในสมุดเยี่ยม โดยที่มีประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ ยืนดูอยู่ข้างๆ ณ ทำเนียบประธานาธิบดีแดนตากาล็อก ในกรุงมะนิลา เมื่อวันจันทร์ (3 มิ.ย.)
เซเลนสกีเยือนมะนิลา เร่งเร้าผู้นำฟิลิปปินส์ร่วมประชุมสันติภาพโลกเกี่ยวกับสงครามในยูเครนที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพ ซึ่งเคียฟวาดหวังจะได้นานาชาติช่วยหนุนหลังเงื่อนไขของตนในการยุติการรุกรานของรัสเซีย พร้อมกับกล่าวหาปักกิ่งช่วยรัสเซียขัดขวางไม่ให้ประเทศต่างๆ เข้าร่วมงานหารือดังกล่าว ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาปฏิเสธว่า จีนมีจุดยืนที่เป็นกลางและโปร่งใสเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพ และไม่ได้สกัดกั้นใครอย่างที่เซเลนสกีกล่าวหา

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เดินทางถึงมะนิลาเมื่อคืนวันอาทิตย์ (2 มิ.ย.) โดยไม่ได้ประกาศล่วงหน้า ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด หลังจากเขาเข้าร่วมงานประชุมแชงกรีลา ซึ่งเป็นเวทีประชุมด้านความมั่นคงประจำปี ที่จัดขึ้นในสิงคโปร์ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ต่อมา ในวันจันทร์ (3) เซเลนสกีได้หารือกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ผู้ซึ่งรับปากว่า ฟิลิปปินส์จะเข้าร่วมงานประชุมสุดยอดสันติภาพตามที่เซเลนสกีเชิญชวน รวมทั้งให้สัญญาว่าจะช่วยจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตไปช่วยเหลือเพื่อให้คำปรึกษาแก่พวกทหารยูเครน

มาร์กอสยังแสดงความยินดีที่ยูเครนมีแผนเปิดสถานเอกอัครราชทูตในกรุงมะนิลาภายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดส่งความช่วยเหลือให้แก่เคียฟ

ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ซึ่งเวลานี้มีข้อพิพาทอย่างตึงเครียดกับจีนเรื่องกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ สำทับว่า ฟิลิปปินส์พยายามส่งเสริมการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศภายในภูมิภาค อีกทั้งบอกว่า ปัญหาที่ยูเครนเผชิญคล้ายกับที่ฟิลิปปินส์ประสบอยู่เช่นเดียวกัน และย้ำว่าจุดยืนของฟิลิปปินส์คือการส่งเสริมสันติภาพ

ระหว่างการประชุมความมั่นคงแชงกรีลาที่สิงคโปร์คราวนี้ ทั้งมาร์กอส และเซเลนสกีต่างกล่าววิพากษ์วิจารณ์จีน ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการทหารและตัวแทนรัฐบาลจากทั่วโลกที่เข้าร่วมประชุม โดยที่การประชุมมีขึ้นในเวลานี้โลกเผชิญสงครามทั้งในกาซาและยูเครน ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างอเมริกากับจีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก็ทำท่าคุโชนแรงขึ้น

เซเลนสกี ซึ่งขึ้นกล่าวในงานประชุมแชงกรีลาวันสุดท้ายเมื่อวันอาทิตย์ ได้กล่าวหาจีนช่วยรัสเซียขัดขวางไม่ให้ผู้นำประเทศต่างๆ เข้าร่วมการประชุมสันติภาพที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพ โดยกล่าวว่า น่าเสียดายที่ประเทศมหาอำนาจใหญ่อย่างจีนยอมเป็นเครื่องมือของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย

จีนไม่ได้ตอบโต้ข้อกล่าวหานั้นทันที จนกระทั่งเมื่อวันจันทร์ (3) เหมา หนิง โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในงานแถลงข่าวประจำวันตามปกติว่า จุดยืนของจีนเปิดกว้างและโปร่งใส และไม่เคยกดดันประเทศอื่นๆ อย่าได้เข้าร่วมการประชุมที่กรุงเบิร์น เมืองหลวงของสวิตเซอร์แลนด์

เหมาสำทับว่า เกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพนั้น จีนมีจุดยืนที่เป็นกลางและเป็นธรรม ไม่พุ่งเป้าประเทศที่สาม ซึ่งรวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นเจ้าภาพการประชุมสันติภาพตามที่เซเลนสกีกล่าวหา นอกจากนั้น จีนยังเชื่อว่าความพยายามในการผลักดันการแก้ไขวิกฤตด้วยสันติวิธีควรได้รับการสนับสนุน

ทั้งนี้ ปักกิ่งยืนยันมาตลอดว่า เป็นกลางในสงครามยูเครน แต่ถูกวิจารณ์จากเคียฟ วอชิงตัน และประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป ซึ่งกล่าวหาเรื่องจีนค้าขายกับรัสเซียเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากมาตรการแซงก์ชันของตะวันตก นอกจากนั้น หน่วยงานข่าวกรองของอเมริกา ยูเครน และประเทศอื่นๆ ยังอ้างว่า มีหลักฐานว่า จีนจัดหาชิ้นส่วนอาวุธให้รัสเซีย

สวิตเซอร์แลนด์นั้นหวังว่า จีนจะเข้าร่วมการประชุมสันติภาพที่มีกำหนดจัดขึ้นกลางเดือนนี้ ทว่า ฝ่ายจีนส่งสัญญาณตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว (31 พ.ค.) ว่า ไม่มีแนวโน้มเป็นไปได้

ทั้งนี้ จีนระบุว่าการประชุมสันติภาพในเรื่องยูเครนที่จริงจังนั้นจำเป็นที่จะต้องให้คู่สงครามทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม ทว่าในการประชุม ณ สวิตเซอร์แลนด์นี้ รัสเซียไม่ได้รับเชิญ

รัสเซียยังเยาะเย้ยการประชุมนี้ว่า เป็นความพยายามของเคียฟ สหรัฐฯ และฝ่ายตะวันตก ที่จะหาทางรวบรวมชาติต่างๆ ให้มาหารือกันลับหลังรัสเซีย โดยเมื่อได้ข้อตกลงซึ่งไม่เป็นผลดีแก่รัสเซียแล้ว ก็จะอ้างเป็นประชามติโลกเพื่อบีบบังคับให้มอสโกต้องยอมตาม

ในอีกด้านหนึ่ง ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ให้ความมั่นใจกับเซเลนสกี ระหว่างพบกันที่สิงคโปร์ว่า อเมริกายังคงมุ่งมั่นให้การสนับสนุนเคียฟ และกล่าวว่า สงครามรุกรานของปูตินเป็นภาพตัวอย่างของโลกที่ไม่มีใครต้องการ

(ที่มา : เอพี, เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอเจนซีส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น