เอเจนซีส์ - รัฐมนตรีกลาโหมจีนย้ำปักกิ่งจะสู้จนถึงที่สุดเพื่อขัดขวางไม่ให้ไต้หวันประกาศเอกราช ชี้ขึ้นอยู่กับอเมริกาว่าอยากจะปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกันหรือไม่ เหน็บวิกฤตยูเครนมีผู้ชักใย คอยสุมไฟอยู่เบื้องหลัง
คำประกาศของเว่ย เฟิ่งเหอ รัฐมนตรีกลาโหมจีน ในวันอาทิตย์ (12 มิ.ย.) ถือเป็นการปะทะคารมรอบล่าสุดระหว่าง 2 มหาอำนาจโลกเกี่ยวกับไต้หวัน ที่ปักกิ่งมองว่าเป็นดินแดนของตนที่รอวันรวมชาติ
การที่จีนขยันส่งเครื่องบินโฉบใกล้ไต้หวันบ่อยครั้งทำให้อุณหภูมิทางการทูตคุโชน โดยเมื่อวันเสาร์ (11 มิ.ย.) ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวหาปักกิ่ง “บ่อนทำลายเสถียรภาพ” กิจกรรมทางทหาร ระหว่างขึ้นกล่าวในงานประชุมสุดยอดด้านความมั่นคง แชงกรี-ลา ไดอะล็อก
ถัดมาอีกวัน เว่ยตอบโต้ระหว่างที่กล่าวบนเวทีเดียวกันว่า ปักกิ่งไม่มีทางเลือกนอกจากต่อสู้สุดความสามารถและจนถึงที่สุดเพื่อขัดขวางความพยายามแยกตัวของไต้หวัน
“ไม่ว่าใครไม่ควรประเมินความเด็ดเดี่ยวและศักยภาพของกองทัพจีนในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนต่ำเกินไป” รัฐมนตรีกลาโหมจีนระบุ พร้อมสำทับว่า ผู้ที่ดำเนินการเพื่อให้ไต้หวันประกาศเอกราชและแบ่งแยกจีนจะพบจุดจบเลวร้าย
เว่ยยังกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับอเมริกาว่าจะปรับความสัมพันธ์กับจีนหรือไม่ และย้ำหลายครั้งระหว่างการประชุมว่า ปักกิ่งไม่ใช่ผู้รุกราน แต่ต้องการเพียงสันติภาพและเสถียรภาพ แล้ว เขายังเรียกร้องให้วอชิงตันส่งเสริมความสามัคคี และต่อต้านการเผชิญหน้าและความแตกแยก
เขายังบอกอีกว่า จีนต่อต้านการป้ายสี กล่าวหา และแม้แต่การคุกคามของอเมริกา ซึ่งอยู่ในถ้อยแถลงของออสตินเมื่อวันเสาร์
“เราเรียกร้องให้อเมริกายุติการป้ายสีและการตีกรอบจีน หยุดแทรกแซงกิจการภายในของจีน ความสัมพันธ์ทวิภาคีไม่สามารถดีขึ้นได้เว้นแต่อเมริกาจะลงมือทำ”
ทั้งนี้ เมื่อวันเสาร์ ออสตินกล่าวว่า มีสัญญาณเตือนชัดเจนขึ้นถึงการเผชิญหน้าที่ไม่ปลอดภัยและไม่เป็นมืออาชีพระหว่างเครื่องบินและเรือของจีนกับประเทศอื่นๆ และเสริมว่า อเมริกาจะเคียงข้างสนับสนุนพันธมิตร ซึ่งรวมถึงไต้หวัน
ทั้งคู่ได้ประชุมกันแบบพบหน้าด้านนอกการประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นที่สิงคโปร์เมื่อวันศุกร์ (10 มิ.ย.) โดยมีการโต้เถียงกันเรื่องไต้หวัน
ความตึงเครียดในประเด็นไต้หวันยิ่งลุกลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากเครื่องบินทหารจีนรุกล้ำเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (เอดีไอแซด) ของไต้หวันบ่อยขึ้น
ระหว่างเดินทางเยือนญี่ปุ่นเมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ดูเหมือนละเมิดนโยบายของอเมริกาที่ยึดถือปฏิบัติมาหลายทศวรรษ ด้วยการตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า วอชิงตันจะให้การปกป้องทางทหารแก่ไต้หวันหากถูกจีนโจมตี
แต่ทำเนียบขาวรีบออกมาแก้ต่างทันควันโดยยืนยันว่า อเมริกายังคงยึดถือนโยบาย “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” ในกรณีที่ว่าจะเข้าแทรกแซงหรือไม่
ความขัดแย้งนี้เป็นเพียงกรณีล่าสุดระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งที่ปะทะกันในทุกเรื่องตั้งแต่ทะเลจีนใต้ จนถึงสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงและซินเจียง
การอ้างสิทธิของจีนเหนือทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้ามูลค่าปีละหลายล้านล้านดอลลาร์ จุดชนวนความตึงเครียดระหว่างประเทศต่างๆ ที่อ้างสิทธิในน่านน้ำดังกล่าวเช่นกัน ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม
จีนที่ใช้ข้อกล่าวอ้างทางประวัติศาสตร์ซึ่งถูกปฏิเสธจากศาลในกรุงเฮกเมื่อปี 2016 ถูกกล่าวหาว่า ส่งเครื่องบินและเรือเข้าใกล้แนวชายฝั่งประเทศที่อ้างสิทธิในทะเลจีนใต้เช่นเดียวกัน อีกทั้งยังถูกกล่าวหาว่า สกัดเครื่องบินลาดตระเวนเหนือน่านฟ้าสากลด้วยวิธีที่อันตราย
เว่ยยืนกรานเมื่อวันอาทิตย์ว่า จีนเคารพเสรีภาพในการเดินเรือ และเหน็บวอชิงตันว่า มหาอำนาจบางประเทศใช้อำนาจครอบงำการเดินเรือมายาวนานภายใต้ข้ออ้างของเสรีภาพในการเดินเรือ และยังอวดแสนยานุภาพด้วยการส่งเรือรบและเครื่องบินก่อกวนในทะเลจีนใต้
อเมริกาและจีนยังงัดข้อกันเรื่องการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยวอชิงตันกล่าวหาปักกิ่งให้การสนับสนุนเชิงกลยุทธ์แก่มอสโก
เกี่ยวกับประเด็นนี้ เว่ยแจงเมื่อวันอาทิตย์ว่า จีนสนับสนุนการเจรจาสันติภาพ และคัดค้านการจัดหาอาวุธและการใช้ความกดดันระดับสูงสุด
“รากเหง้าของวิกฤตการณ์นี้คืออะไร ใครชักใยอยู่เบื้องหลัง ใครสูญเสียมากที่สุด และใครมีแนวโน้มได้ประโยชน์มากที่สุด ใครส่งเสริมสันติภาพ ใครเติมเชื้อไฟ ผมคิดว่า เราทุกคนต่างรู้คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ดีอยู่แล้ว” เว่ยทิ้งท้าย