วอชิงตันไม่ได้กำลังทางหาจัดตั้ง "นาโต้เอเชีย" หรือโหมกระพือความขัดแย้งในอินโด-แปซิฟิก แต่มุ่งเน้นไปที่การค้ำจุนเสถียรภาพในภูมิภาคแห่งนี้ จากการยืนยันของลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อวันเสาร์ (11 มิ.ย.)
ในคำปราศรัยต่อที่เวที Shangri-La Dialogue ที่ประชุมด้านความมั่นคงระดับสูงของเอเชีย ออสติน ระบุว่า "เสาหลักจะอยู่ในช่องแคบไต้หวัน" โดยคำพูดนี้มีขึ้นท่ามกลางคำเตือนหลายต่อหลายรอบจากจีน ต่อความร่วมมือทางทหารใดๆ ของสหรัฐฯ กับไต้หวัน ซึ่งปักกิ่งมองว่าเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของพวกเขา
ออสติน เน้นย้ำว่านโยบายของวอชิงตันในเรื่องไต้หวันยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือสหรัฐฯ ยึดมั่นต่อนโยบายจีนเดียว คัดค้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพปัจจุบันแต่เพียงฝ่ายเดียว และฉะนั้นจึงไม่สนับสนุนการประกาศเอกราชของเกาะ
กระนั้นก็ตาม แม้เชื่อว่าความเห็นต่างข้ามช่องแคบใดๆ ต้องคลี่คลายด้วยหนทางแห่งสันติภาพ แต่ ออสติน เน้นย้ำว่าสหรัฐฯ จะเดินหน้าให้ความช่วยเหลือไต้หวัน "ในการธำรงไว้ซึ่งแสนยานุภาพในการป้องกันตนเองอย่างเพียงพอ"
ออสตินระบุว่า "ท่ามกลางการบีบบังคับจากจีน การยั่วยุและการบั่นทอนเสถียรภาพผ่านความเคลื่อนไหวทางทหารใกล้ไต้หวัน สหรัฐฯ ยังคงมุ่งเน้นธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และสถานการณ์ที่เป็นอยู่ข้ามช่องแคบไต้หวัน ซึ่งดูเหมือนกำลังถูกคุกคามจากจีน" เขากล่าว พร้อมระบุมันไม่ได้อยู่ในความสนใจของวอชิงตันเท่านั้น แต่ยังเป็น "ประเด็นความกังวลของนานาชาติด้วย"
ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร เคยระบุเมื่อเดือนเมษายน ว่าระเบียบโลกที่สร้างขึ้นมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ดังนั้นตะวันตกจึงต้องการ "นาโต้โลก" เพื่อเสาะหาภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ และจากนั้นก็เริ่มมีการพูดถึงประเด็นการจัดตั้งพันธมิตรนาโต้ 2 ของสหรัฐฯ สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ
ในวันศุกร์ (10 มิ.ย.) ออสติน พบปะกับ เว่ย เฟิ่งเหอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีน และทาง เฟิ่งเหอ บอกกับ ออสติน ว่า "ปักกิ่งจะสู้หมดหน้าตัก" เพื่อขัดขวางไต้หวันจากการแยกตัวจากจีน
ก่อนหน้านั้น 2 วัน จีนเพิ่ง "ประณามอย่างรุนแรง" ต่อกรณีสหรัฐฯ อนุมัติข้อตกลงขายอาวุธ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ไต้หวัน และเรียกร้องทั้งสองฝ่ายยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศปักกิ่งกล่าวระหว่างแถลงสรุปประจำวันเมื่อวันพฤหัสบดี (9 มิ.ย.) ว่าการขายอาวุธ "ละเมิดหลักการจีนเดียวอย่างรุนแรง บ่อนทำลายอำนาจอธิปไตยและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีน และทำร้ายความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อย่างรุนแรง รวมถึงสันติภาพและเสถียรภาพข้ามช่องแคบไต้หวัน"
เมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประกาศว่าอเมริกาจะเกี่ยวข้องทางทหารหากเกิดความขัดแย้งใดๆ ระหว่างจีนกับไต้หวัน ดูเหมือนการละทิ้งนโยบายความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ ใช้มาอย่างยาวนาน ในเรื่องเกี่ยวกับเกาะแห่งนี้และในความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับปักกิ่ง
อย่างไรก็ตาม ออสติน และแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กลับลำถ้อยแถลงของไบเดน และประกาศว่าอเมริกายังคงยืนหยัดในนโยบายจีนเดียว ซึ่งถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้การยอมรับแต่ไม่รับรองในอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน ไม่รับประกันหรือปฏิเสธความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซง หากว่าจีนใช้กำลังยึดไต้หวัน
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/การ์เดียน)