xs
xsm
sm
md
lg

รั้งบังเหียนก่อนตกเหว?!? นายใหญ่เพนตากอนต่อสายคุยรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ขณะเครมลินเผยพร้อมทุกเมื่อหลัง‘มาครง’เปรยอยากคุย‘ปูติน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ และรัสเซียยกหูคุยโทรศัพท์เรื่องการสู้รบขัดแย้งในยูเครน ด้านเครมลินเผย ปูติน พร้อมหารืออย่างสร้างสรรค์กับชาติมหาอำนาจอื่นๆ หลัง มาครง เปรยอยากสานต่อการสนทนากับผู้นำรัสเซีย

อเมริกาเป็นประเทศสำคัญที่สุดในบรรดาชาติผู้มุ่งมั่นให้การสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครนในการสู้รบกับการรุกรานของรัสเซีย โดยให้ความช่วยเหลือเคียฟไปแล้วรวมมูลค่ากว่าแสนล้านดอลลาร์ และกำลังถูกรัสเซียกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการสู้รบ

กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงว่า รัฐมนตรีกลาโหม อันเดร เบลูซอฟ ได้หารือทางโทรศัพท์กับลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (25 มิ.ย.) โดยทางฝั่งอเมริกาเป็นฝ่ายขอติดต่อมา

คำแถลงเสริมว่า ระหว่างการหารือ เบลูซอฟได้ชี้ถึงอันตรายที่สถานการณ์อาจลุกลามจากการที่อเมริกายังคงส่งอาวุธให้กองทัพยูเครน นอกจากนั้นยังมีการหารือในประเด็นอื่นๆ

ทางด้านพลตรีแพต ไรเดอร์ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) แถลงถึงการหารือทางโทรศัพท์ครั้งนี้ ซึ่งเป็นการพูดจากันครั้งแรกระหว่างออสตินกับ เบลูซอฟที่เพิ่งเข้านั่งตำแหน่งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม โดยไรเดอร์ระบุว่า ออสตินได้ย้ำความสำคัญในการคงช่องทางการติดต่อระหว่างอเมริกากับรัสเซียขณะที่สงครามในยูเครนยังคงดำเนินอยู่

ทั้งนี้ รัสเซียประณามอเมริกาที่ยังคงให้การสนับสนุนทางทหารแก่เคียฟอย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวโทษว่ามีแต่ทำให้การสู้รบขัดแย้งยืดเยื้อไม่สิ้นสุด มิหนำซ้ำเมื่อเร็วๆ นี้วอชิงตันยังอนุญาตให้ยูเครนใช้พวกขีปนาวุธที่มีพิสัยทำการไกลๆ ที่สหรัฐฯจัดส่งให้เข้าโจมตีถึงดินแดนของรัสเซีย จากบริเวณใกล้เมืองคาร์คิฟของยูเครน

ในวันจันทร์ (24) เครมลินเตือนว่า อเมริกาจะต้องรับผลจากการกระทำเช่นนี้ และเรียกเอกอัครราชทูตอเมริกันเข้าพบ หลังจากมอสโกระบุว่า ยูเครนใช้ขีปนาวุธสหรัฐฯ โจมตีเข้าไปที่เมืองเซวาสโตโปล ในคาบสมุทรไครเมีย ส่งผลให้พลเรือนซึ่งกำลังพักผ่อนที่บริเวณชายหาดเสียชีวิต 4 คน

ทางด้านไรเดอร์ตอบโต้ว่า ยูเครนเป็นผู้ตัดสินใจแผนการรบของตัวเอง

ขณะเดียวกัน แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยการกล่าวโทษรัสเซียที่ทำให้เกิดการสู้รบในยูเครน และย้ำจุดยืนว่านานาชาติยังคงถือว่า คาบสมุทรไครเมียที่มอสโกประกาศเข้าผนวกเป็นดินแดนของตนไปเมื่อปี 2014 นั้น ยังเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน

การที่ตะวันตกจัดส่งอาวุธให้ยูเครน โดยเป็นอาวุธที่ทันสมัยยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งไฟเขียวยอมให้เคียฟใช้ในการโจมตีใส่ดินแดนรัสเซียโดยตรงมากขึ้นทุกที กลายเป็นประเด็นที่เพิ่มความขุ่นเคืองให้มอสโก โดยในระหว่างที่เขาพบปะกับพวกสำนักข่าวระหว่างประเทศในเดือนนี้ที่กรุงมอสโก ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ตั้งคำถามว่า ทำไมมอสโกจะทำแบบเดียวกันนี้ไม่ได้ ด้วยการจัดส่งอาวุธทันสมัยพอๆ กันไปยังกองกำลังในภูมิภาคต่างๆ ที่เป็นศัตรูของฝ่ายตะวันตก ซึ่งสามารถใช้ยิงโจมตีถึงผลประโยชน์ของสหรัฐฯและพันธมิตรในทั่วโลก

สัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำรัสเซียสำทับว่า ไม่ตัดความเป็นไปได้ในการส่งอาวุธให้เกาหลีเหนือ หลังเยือนประเทศคอมมิวนิสต์แห่งนี้และลงนามข้อตกลงป้องกันประเทศร่วมกัน พร้อมกันนั้นก็ปรามเกาหลีใต้ไม่ให้ส่งอาวุธให้ยูเครน

ในอีกด้านหนึ่ง ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน แถลงกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคาร (25) เช่นกันว่า รัสเซียไม่ปฏิเสธการหารือกับฝรั่งเศส และว่า ปูตินส่งสัญญาณหลายครั้งว่า พร้อมมีส่วนร่วมในการเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับชาติมหาอำนาจอื่นๆ

เปสคอฟให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ หลังจากประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส แสดงความพร้อมสานต่อการหารือกับปูติน ระหว่างการบันทึกพอดแคสต์รายการ “เจเนอเรชัน ดู อิต ยัวร์เซลฟ์” โดยเขาระบุว่า “เชื่อมั่นในพลังของการสนทนา”

แม้มาครงยืนยันว่า ไม่ได้ติดต่อกับปูตินเลยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ก็บอกว่าพร้อมมีส่วนร่วมในการสนทนาอย่างมีความหมายและมีเป้าหมายที่สันติภาพกับมอสโก อย่างไรก็ดี ผู้นำแดนน้ำหอมเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ไม่เห็นโอกาสที่จะได้เจรจากับเครมลิน

นอกจากนั้นช่วงไม่กี่เดือนมานี้ มาครงยังพยายามผลักดันตัวเองเป็นผู้นำการสนับสนุนเคียฟ และใช้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์มากขึ้นกับรัสเซีย อีกทั้งยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการส่งทหารฝรั่งเศสและทหารชาติตะวันตกอื่นๆ ไปยังสนามรบในยูเครน

ทั้งนี้ สื่อทางการมอสโกระบุว่า มาครงกาหัวรัสเซียเป็น “ฝ่ายตรงข้าม” แต่ยังไม่ถึงขั้นตราหน้าเป็น “ศัตรู” ตลอดจนย้ำว่าปารีสพร้อมตัดสินใจที่จำเป็นเพื่อขัดขวางชัยชนะของรัสเซียในสงครามยูเครน

(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, อาร์ที)
กำลังโหลดความคิดเห็น