xs
xsm
sm
md
lg

‘สีจิ้นผิง’และ ‘มาครง’ประชันชั้นเชิงการทูต โน้มน้าวอีกฝ่าย ประเด็นสงครามยูเครน-การค้าจีนกับยุโรป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา


ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส (ขวา) ต้อนรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ที่ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส วังเอลิเซ ในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม มาครง เชื้อเชิญ สี มาเยือนคราวนี้แบบเต็มรัฐพิธีในฐานะอาคันตุกะของประมุขรัฐฝรั่งเศส (state visit) โดยที่ผู้นำทั้งสองต่างก็มุ่งโน้มน้าวอีกฝ่ายหนึ่งในประเด็นเกี่ยวกับสงครามยูเครน และการค้าระหว่างจีนกับยุโรป
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Xi tells Macron: China stays neutral in Ukraine war
By JEFF PAO
07/05/2024

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และ อัวร์ซูลาฟอน แดร์ ไลเอิน พยายามรบร้าให้จีนยุติการส่งพวกข้าวของที่สามารถใช้ได้สองทางคือทั้งด้านพลเรือนและทางการทหาร ไปให้แก่รัสเซีย ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนก็ขอให้พวกเขาช่วยเหลือเพื่อยุติสงครามในยูเครน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เริ่มต้นทริปเยือนยุโรปเที่ยวแรกในรอบ 5 ปีของเขา ด้วยการเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าประเทศของเขาใช้ท่าทีเป็นกลางต่อสงครามยูเครน หลังจากถูกวอชิงตันกล่าวหาโจมตีอย่างหนักในช่วงหลังๆ นี้ว่าปักกิ่งกำลังช่วยเหลือมอสโกในการสร้างฐานอุตสาหกรรมกลาโหมของรัสเซียขึ้นมาใหม่

สี กล่าวในบทความชิ้นหนึ่งที่ระบุลงนามว่าเขาเป็นผู้เขียน [1] และตีพิมพ์เผยแพร่โดย เลอ ฟิกาโร (Le Figaro) หนังสือพิมพ์รายวัน (แนวอนุรักษนิยมเก่าแก่) ของฝรั่งเศส ในวันเดียวกับที่เขาเดินทางถึงแดนน้ำหอม โดยมุ่งชี้ให้เห็นว่า จีนไม่ได้เป็นผู้เริ่มต้นวิกฤตการณ์ยูเครน รวมทั้งไม่ได้เป็นฝ่ายหนึ่งในศึกคราวนี้ หรือว่าเป็นผู้เข้าร่วมรายหนึ่งในสงครามครั้งนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น

“จีนกำลังแสดงบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการลงแรงใช้ความพยายามเพื่อให้ได้ทางออกแห่งสันติภาพของวิกฤตการณ์ครั้งนี้” สี กล่าว “จีนได้จัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปให้ยูเครนเป็นจำนวนหลายเที่ยว และจัดส่งผู้แทนพิเศษของตนเดินทางไปยังเหล่าประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางไกล่เกลี่ยหลายต่อหลายครั้ง”

“ยิ่งวิกฤตการณ์ยูเครนนี้ลากยาวออกไปนานเท่าใด มันก็มีแต่ยิ่งเพิ่มอันตรายอย่างใหญ่หลวงมากขึ้นให้แก่ยุโรปและให้แก่โลก” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้ “จีนหวังว่าสันติภาพและเสถียรภาพจะกลับคืนสู่ยุโรปได้ในเร็ววัน เรานั้นพรักพร้อมอยู่แล้วที่จะทำงานร่วมกับฝรั่งเศสและกับประชาคมระหว่างประเทศทั้งหมด เพื่อหาทางออกที่สมเหตุสมผลจากวิกฤตการณ์นี้”

ผู้นำสูงสุดของจีนผู้นี้เริ่มต้นการเยือนยุโรป 6 วันเที่ยวนี้ของเขาเมื่อวันอาทิตย์ (5 พ.ค.) ที่ผ่านมา โดยจะเป็นการเดินทางไปยัง 3 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส, เซอร์เบีย, และฮังการี

ในวันจันทร์ (6 พ.ค.) สี กับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และ อัวร์ซูลาฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป ที่เป็นองค์การบริหารของสหภาพยุโรป ได้ประชุมหารือแบบไตรภาคีกันในกรุงปารีส

มาครง พูดถึง [2] การร่วมมือประสานงานกับปักกิ่งใน “วิกฤตการณ์ใหญ่ๆ” ซึ่งรวมถึงยูเครนด้วย ว่า “เป็นสิ่งที่จะทำให้บังเกิดผลอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด”

มาครง กับ ฟอน แดร์ ไลเอิน ยังเรียกร้องขึ้นมาว่า ในการค้าระหว่างยุโรปกับจีนนั้น ควรต้องมี “กฎระเบียบที่เป็นธรรมสำหรับทุกๆ ฝ่าย” ซึ่งเป็นการอ้างอิงไปถึงสิ่งที่พวกเขากล่าวหาว่าจีนกำลังมีปัญหาความสามารถการผลิตทางอุตสาหกรรมล้นเกิน จนสร้างปัญหาให้แก่ประเทศและภูมิภาคอื่นๆ

การหารือกันในปารีสคราวนี้ มีขึ้นหลังจากสหรัฐฯโดยกระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศมาตรการแซงก์ชั่นครั้งใหม่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม [3] ซึ่งมุ่งเล่นงานบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ราว 300 แห่ง ในจำนวนนี้ก็รวมถึงบริษัท 20 แห่งที่ตั้งฐานอยู่ในจีนและฮ่องกง โดยตั้งข้อหาพวกเขาเหล่านี้ว่ากำลังขนส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และพวกผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้สองทาง (dual-use คือใช้ได้ทั้งทางพลเรือนและทางการทหาร) ไปให้รัสเซีย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือมอสโกให้สามารถธำรงรักษากลไกสงครามของพวกเขาในการสู้รบกับยูเครนเอาไว้

กิจการของจีนที่ถูกสหรัฐฯแซงก์ชั่นคราวนี้ มีอาทิเช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วนโดรนแห่งหนึ่งซึ่งตั้งฐานอยู่ที่เมืองเฉิงตู ของมณฑลเสฉวน และบริษัทอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งฐานอยู่ในฮ่องกง ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้จัดหาจัดส่งชิ้นส่วนหลายๆ อย่างที่พบอยู่ในระบบขีปนาวุธรัสเซียและพวกอากาศยานไร้นักบินของรัสเซีย

ทางด้านปักกิ่งได้วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯในเรื่องนี้ว่า กำลังพยายามบ่อนทำลายสิทธิอันชอบธรรมของบริษัทจีน พร้อมกันนั้นก็ย้ำว่าความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างเป็นปกติระหว่างจีนกับรัสเซียจะยังคงดำเนินต่อไป

ก่อนหน้าที่จะพบหารือกับ สี ในปารีสครั้งนี้ มาครงได้ไปให้สัมภาษณ์นิตยสารดิ อีโคโมมิสต์ (The Economist) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม [4] ว่า เขาจะไม่บอกปัดความเป็นไปได้ในการจัดส่งกองทหารไปยังยูเครน ถ้าหากรัสเซียเกิดสามารถบุกเจาะผ่านเส้นป้องกันแนวหน้าของฝ่ายยูเครน และเคียฟออกมาเรียกร้องให้ส่งทหารไปช่วย ทั้งนี้เขาเคยกล่าวพาดพิงถึงแผนการเช่นนี้ครั้งแรก [5] เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สตีเฟน ไบรเอน (Stephen Bryen) อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เขียนเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมบนบล็อก “Weapons and Strategy” ทางแพลตฟอร์ม “Substack” ของเขา [6] ว่า ฝรั่งเศสได้จัดส่งกองทหารจำนวนหนึ่งเข้าไปสนับสนุนกองพลน้อยยานยนต์อิสระที่ 54 (54th Independent Mechanized Brigade) ของฝ่ายยูเครน ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองซลาเวียนสก์ (Slavyansk) แล้วด้วยซ้ำ

เขาระบุในข้อเขียนชิ้นนั้น ซึ่งเอเชียไทมส์ได้นำมาตีพิมพ์เผยแพร่ซ้ำในวันที่ 4 พฤษภาคมว่า ทหารฝรั่งเศสกลุ่มแรกสุดนี้มีจำนวนประมาณ 100 นาย ขณะที่กองทหารส่วนแรกซึ่งเป็นทหารสังกัดอยู่กับกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศส (French Foreign Legion) ที่กำลังทยอยเดินทางเข้ายูเครนนั้น รวมแล้วจะมีจำนวนประมาณ 1,500 นาย

ในข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่บนบล็อกในแพลตฟอร์ม Substack ของเขาเมื่อวันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม [7] เพื่อเป็นการตอบโต้คำถามต่างๆ เกี่ยวกับความถูกต้องของรายงานฉบับก่อนของเขา (โดยที่ฝรั่งเศสได้ออกมาปฏิเสธอย่างเป็นทางการแล้วว่า รายงานดังกล่าวไม่เป็นความจริง [8]) ไบรเอนได้กล่าวปกป้องการวิเคราะห์ของเขา ขณะเดียวกันก็กล่าวว่าการระบุแหล่งที่มาของข้อเท็จจริงต่างๆ ในเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ลำบาก และเกี่ยวข้องกับการให้ความเชื่อถือพวกที่ปรากฏอยู่บนโซเชียลมีเดียบางส่วน “ผมอาจจะผิดก็ได้” เขากล่าว “โดยความสัตย์ความจริงแล้ว ผมหวังว่าผมจะผิดนะ”

สำหรับ ดมิตริ เปสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกของทำเนียบเครมลิน แถลง [9] ในวันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคมว่า กระทรวงกลาโหมรัสเซียกำลังตรวจสอบว่า ข้อมูลข่าวสารของไบรเอนถูกต้องหรือไม่

ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น เอฟริล เฮนส์ (Avril Haines) ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ (Director of National Intelligence) ของสหรัฐฯ ได้ไปให้ปากคำ [10] แก่คณะกรรมาธิการการทหารแห่งวุฒิสภา (Senate Armed Services Committee) สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม โดยเธอระบุว่า จีนกับรัสเซียได้เริ่มต้นความผูกพันทางการทหารกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการคุกคามไต้หวัน

ตามปากคำของเฮนส์ การประสานร่วมมือกันระหว่างจีนกับรัสเซียที่ดำเนินอยู่ในทุกๆ ภาคส่วนของสังคม ครอบคลุมทั้งด้านการเมือง, เศรษฐกิจ, การทหาร, และเทคโนโลยีนั้น กำลังเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เธอบอกว่า มีความเป็นไปได้ที่ชาติทั้งสองจะเริ่มต้น “สงครามสองแนวรบ” ขึ้นมาต่อสู้กับฝ่ายตะวันตก ขณะที่ความเป็นไปได้ในเรื่องที่ว่านี้ ต้องขึ้นอยู่กับฉากทัศน์ที่จะนำมาพิจารณา

ใครโน้มน้าวใครกันแน่?

ขณะที่ มาครง และ ฟอน แดร์ ไลเอิน รบเร้าจีนให้ยุติการจัดส่งพวกผลิตภัณฑ์ใช้ได้สองทางให้แก่รัสเซียอยู่นั้น สีก็ขอให้พวกเขา “ค้นหทางหนทางที่สมเหตุสมผล” สำหรับการยุติสงครามในยูเครน และรักษาความเป็นอิสระเอาไว้ในการตัดสินใจใดๆ

ผู้สังเกตการณ์บางคนบอกว่า สียังกำลังโน้มน้าวชักชวนฝรั่งเศสอย่าได้สนับสนุนแผนการของสหภาพยุโรปที่จะจำกัดกีดกันพวกกิจการจีนซึ่งเป็นซัปพลายเออร์อุปกรณ์ใช้ในการผลิตพลังงานใหม่ๆ ที่เป็นพลังงานสะอาด พวกเขาบอกอีกว่าจีนยังต้องการให้ฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นประเทศระดับเฮฟวีเวตรายหนึ่งในยุโรป เรียกร้องยูเครนให้ยอมประนีประนอมทำความตกลงสันติภาพกับรัสเซีย

ในบทความที่เขาเขียนให้ เลอ ฟิกาโร สีได้อ้างอิงสุภาษิตบทหนึ่งของขงจื๊อที่ว่า “บุคคลที่มีคุณธรรมอย่างแท้จริง คือบุคคลที่ทั้งมีความเป็นมิตรแต่ก็เป็นอิสระ เป็นบุคคลที่ไม่ยอมนำเอาหลักการต่างๆ ของเขามาประนีประนอม เป็นผู้ที่มีอิสระปราศจากอคติใดๆ หรือเลือกเข้าข้างใดๆ ทั้งนี้ เขามีความหนักแน่นไม่มีความหวั่นเกรงใดๆ มากน้อยแค่ไหน นั่นก็คือความเข้มแข็งของเขา!”

สี ยังอ้างอิงคำกล่าวของ โรแมง โรลลองด์ (Romain Rolland) นักเขียนชาวฝรั่งเศสที่พูดว่า “การยินยอมปล่อยให้ตัวเราถูกชักนำไป เป็นเรื่องที่ง่ายดายยิ่งกว่านักหนากับการคิดที่จะเป็นตัวของตัวเอง แต่การสละทอดทิ้งความเป็นตัวของตัวเองไป นั่นคือแก่นแท้สาระของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมา”

เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว อียูได้ริเริ่มเปิดการสอบสวนเป็นเวลา 13 เดือน ในเรื่องที่ว่าความอุดหนุนต่างๆ ที่ได้รับจากภาครัฐบาล ได้ช่วยเหลือให้พวกผู้ผลิตรถอีวีจีนคว้าชัยครองส่วนแบ่งตลาดในยุโรปในช่วงปีหลังๆ มานี้ใช่หรือไม่ นอกจากนั้นแล้ว เมื่อไม่กี่เดือนก่อน อียูยังเปิดการสอบสวนมุ่งต่อต้านการอุดหนุนชดเชยจากภาครัฐของพวกบริษัทจีน อย่างกว้างขวางเพิ่มเติมขึ้นอีก โดยคราวนี้ครอบคลุมทั้งพวกผลิตภัณฑ์แผงโซลาเซลส์, กังหันลม, และรถไฟไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ให้ความเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) บางรายมองว่า การที่อียูกดดันภาครถอีวีของจีน ไม่น่าจะทำให้ปักกิ่งยอมยกเลิกความผูกพันใกล้ชิดที่มีอยู่กับมอสโก

“ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนในยุโรปนั้น ไม่ได้อยู่ในฝรั่งเศส แต่อยู่ในฮังการี ซึ่งจวบจนถึงเวลานี้ได้รับเอากิจการจีนเข้าไปดำเนินงานราว 400 แห่งแล้ว โดยกิจการเหล่านี้กำลังว่าจ้างคนงานท้องถิ่นจำนวนหลายหมื่นคน” ถัง เซียงหลง (Tang Hsiang-Lung) คอมเมนเตเตอร์ด้านการเมืองชาวไต้หวัน กล่าว [11] ในโปรแกรมล่าสุดของเขาทางยูทูบ เมื่อวันจันทร์ (6 พ.ค.)

ถัง ชี้ว่า บริษัทคอนเทมโพแรรี แอมเปอเรกซ์ เทคโนโลยี จำกัด (Contemporary Amperex Technology Co Ltd หรือ CATL) ที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรีสัญชาติจีนรายหนึ่ง ได้เข้าไปสร้างโรงงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในฮังการีเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันก็มีการค้นพบเหมืองลิเธียมแห่งหนึ่งในฮังการีเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ลิเธียมเป็นวัตถุดิบสำคัญอย่างหนึ่งในการผลิตแบตเตอรีสำหรับรถอีวี

“มีความเป็นไปได้สูงที่ว่าในที่สุดแล้วจีนจะเรียกร้องให้พวกผู้ผลิตรถอีวีของตนมุ่งให้ความสนใจมากขึ้นกับการใช้พวกธุรกิจรับจ้างผลิตอุปกรณ์ตามแบบฐาน (original equipment manufacturer หรือ OEM) และการจับมือเป็นหุ้นส่วนกับพวกแบรนด์ทางยุโรป เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่ม” เขากล่าว และย้ำว่า “มันเป็นเรื่องยากสำหรับอียูที่จะทำลายความผูกพันระหว่างจีนกับรัสเซีย”

เขาบอกว่า จีนไม่เพียงเข้าไปลงทุนอย่างมหาศาลในภาคอุตสาหกรรมและภาคไฮเทคในฮังการีเท่านั้น แต่ยังวางแผนการสร้างแหล่งรวมผู้มีความรู้ความสามารถขึ้นที่นั่น ด้วยการก่อตั้งวิทยาเขตแห่งแรกในยุโรปของมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) ขึ้นมา

เขากล่าวว่า การลงทุนของจีนในฮังการีอาจจะไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจทางการเมืองสำคัญๆ ของอียู แต่อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะสามารถช่วยหยุดยั้งความสัมพันธ์จีน-อียูไม่ให้เลวร้ายลงไปอีก

สี มีกำหนดออกเดินทางจากฝรั่งเศส ต่อไปยังเซอร์เบียในวันอังคาร (7 พ.ค.) และอาจจะไปเยือนสถานเอกอัครราชทูตเก่าของจีนในกรุงเบลเกรด ซึ่งถูกสหรัฐฯถล่มทิ้งระเบิดเสียหายยับเยินไปในปี 1999 (หมายเหตุผู้แปล - ในเวลาต่อมา สหรัฐฯได้แถลงขอโทษ บอกว่านักบินของฝ่ายตนโจมตีเป้าหมายผิดพลาด เนื่องจากใช้แผนที่ล้าสมัย ดูเพิ่มเติมที่ https://en.wikipedia.org/wiki/United_States_bombing_of_the_Chinese_embassy_in_Belgrade) เวลานี้ซากที่เหลืออยู่แห่งนี้ได้รับการก่อสร้างใหม่ให้กลายเป็นศูนย์วัฒนธรรมแห่งหนึ่งของจีน ถัดจากเซอร์เบีย ประธานาธิบดีจีนยังจะเดินทางต่อไปเยือนฮังการีในช่วงวันพุธ (8 พ.ค.) จนถึงวันศุกร์ (10 พ.ค.)

เชิงอรรถ

[1]https://english.news.cn/20240506/7eb65f825038432494e54dee0aaa3952/c.html
[2]https://www.france24.com/en/europe/20240506-macron-urges-coordination-china-ukraine-major-crises-paris-summit-france-xi-jinping
[3]https://home.treasury.gov/news/press-releases/jy2318
[4]https://www.france24.com/en/france/20240502-macron-doesn-t-rule-out-troops-for-ukraine-if-russia-breaks-front-lines
[5]https://www.france24.com/en/france/20240502-macron-doesn-t-rule-out-troops-for-ukraine-if-russia-breaks-front-lines
[6]https://weapons.substack.com/p/france-sends-troops-to-ukraine
[7]https://weapons.substack.com/p/about-sources-and-methods-analyzing?utm_source=profile&utm_medium=reader2
[8] https://apnews.com/article/fact-check-french-troops-russia-ukraine-deployed-994039088319
[9] https://tass.com/politics/1784035
[10]https://www.taiwannews.com.tw/news/5680172
[11]https://m.youtube.com/watch?v=GWKQ3_BwXvA&pp=ygUX5q2j57aT6b6N6bOz6YWNIHlvdXR1YmU%3D
กำลังโหลดความคิดเห็น