xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ‘บิ๊กทิน’ ขายฝัน ปฏิรูปกองทัพ ทำได้จริง หรือแค่เอาหล่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2567 ตอน ‘บิ๊กทิน’ ขายฝัน ปฏิรูปกองทัพ ทำได้จริง หรือแค่เอาหล่อ



การปฏิรูปกองทัพ แม้จะไม่ใช่นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย แต่ด้านหนึ่งก็เป็นนโยบายที่อยู่ในสภาพบังคับที่พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลเองไม่อาจปฏิเสธได้ ทั้งๆที่พรรคเพื่อไทยแทบไม่อยากจะเอาเท้าแหย่เข้าไปในค่ายทหารเลยก็ตามที

โดยพรรคเพื่อไทยมองว่าการปฏิรูปกองทัพที่ทำไปในลักษณะถูกมัดมือชกนั้น ก็เพื่อต้องการแย่งตลาดคนรุ่นใหม่จากพรรคก้าวไกลขึ้นมาบางส่วน

ก้าวแรกที่เริ่มทำให้พอได้เห็นกันบ้างแล้ว คือ การบรรจุข้าราชการพลเรือนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะว่าไปก็เป็นผลงานที่น่าสนใจของ 'สุทิน คลังแสง' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กำลังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำเหล่าทัพในปัจจุบัน

โดยล่าสุดได้บรรจุบุคลากรเข้าทำงานแล้วเป็นจำนวน 8 คน ทำงานในหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วย กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม สำนักงบประมาณกลาโหม และ กรมการเงินกลาโหม

แนวทางการบรรจุข้าราชการพลเรือนเข้าทำหน้าที่ในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นหนึ่งในวิธีการปรับลดอัตรากำลังพลเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่พยายามจะนำบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมาทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในกองทัพเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันบุคลากรส่วนใหญ่ยังคงเป็นทหารที่ผ่านการฝึกด้านยุทธวิธี จึงทำให้ที่ผ่านมาภารกิจงานที่ควรมีผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเข้ามาทำหน้าที่นั้นขาดหายไป

ทั้งนี้ การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถือว่ามีความเหมาะสมพอสมควร เพราะโดยเนื้องานแล้วแทบไม่ต่างอะไรกับสำนักงานปลัดกระทรวงอื่นๆ ที่รับผิดชอบงานนโยบายและงบประมาณเช่นกัน อีกทั้งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงด้วย

ดังนั้น การขยับตัวทำอะไรน่าจะมีความคล่องตัวมากกว่าหน่วยงานอื่นของกระทรวงกลาโหมโดยเฉพาะ 4 เหล่าทัพ ที่ต้องยอมรับว่าสายการบังคับบัญชามีความทับซ้อนอยู่ แม้โดยหลักการรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงจะอยู่บนยอดปิรามิด แต่ก็ไม่อาจสั่งการใดๆในภารกิจของเหล่าทัพได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากกำลังพลยังคงยึดกับคำสั่งของผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของการดำเนินการในเรื่องนี้ ถึงจะมีข้อดีเสียเป็นส่วนมาก แต่ก็มีข้อสังเกตที่เป็นประเด็นที่ชวนให้พิจารณาเช่นกัน คือ ความยั่งยืนของการบรรจุข้าราชการพลเรือนเข้าทำงานในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

การเข้ามาทำงานในระบบราชการแน่นอนว่าส่วนใหญ่ต้องการเข้าก้าวหน้า แม้จะไม่ได้ถึงตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงาน แต่อย่างน้อยในแต่ละปีก็ควรมีโอกาสได้เติบโตตามสมควร ซึ่งเป็นปัญหาว่าหน่วยงานอย่างกระทรวงกลาโหมจะสามารถมีเส้นทางที่นำไปสู่ความก้าวหน้าของพลเรือนที่เข้ามาทำงานหรือไม่

ในเรื่องนี้ 'บิ๊กทิน' พยายามยืนยันว่า "ข้าราชการพลเรือนสังกัดกระทรวงกลาโหมจะได้รับเทียบเท่าข้าราชการอื่น และมีโอกาสจะก้าวหน้าในชีวิตการงานเช่นเดียวกัน ไปถึงระดับปลัดกระทรวงกลาโหม และในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมจะมีแต่ข้าราชการพลเรือนทั้งหมด"

แต่สิ่งที่สำคัญ คือ การแยกให้ได้ระหว่างความฝันกับความจริง

ก่อนอื่นต้องไม่ลืมว่าวัฒนธรรมของทหารมีความเข้มแข็งมาก มีจารีตประเพณีที่สืบต่อกันมานานมากกว่า 100 ปี ดูแค่ทำเนียบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ผ่านมาส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นนายทหาร เพิ่งจะมีพลเรือนขึ้นมาสอดแทรกเป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงได้ครั้งแรกเมื่อปี 2540 และจนถึงปัจจุบันมีด้วยกันเพียง 5 คนเท่านั้น ขนาดนักการเมืองที่มีอำนาจบริหารเต็มมือยังส่งพลเรือนไปเป็นเจ้ากระทรวงได้เพียงแค่นี้ แล้วข้าราชการพลเรือนที่ไม่มีลมใต้ปีกจะไปถึงจุดสูงสุดได้อย่างไร

ที่สุดแล้ว การจะทำให้นโยบายนี้ยั่งยืนได้และนำไปสู่การปฏิรูปกองทัพอย่างแท้จริง ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของรัฐบาลเท่านั้น

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น