xs
xsm
sm
md
lg

เจอกันพี่คิม! ญี่ปุ่น-US หารือความมั่นคง ใช้นิวเคลียร์ป้องปรามภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จะจัดหารือด้านความมั่นคงในวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่จะครอบคลุม "การป้องปรามอย่างกว้างขวาง" คำจำกัดความที่ใช้อธิบายถึงคำมั่นสัญญาของอเมริกาว่าจะใช้กองกำลังนิวเคลียร์ป้องปรามการโจมตีจากพันธมิตร

แม้ทั้ง 2 ฝ่ายเคยหารือกันในระดับล่างมาก่อน แต่ครั้งนี้จะเป็นการพูดคุยกันในระดับสูง ในหัวข้อที่เป็นประเด็นอ่อนไหวในญี่ปุ่น ชาติที่เคยผลักดันการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และเป็นประเทศเดียวที่เคยประสบความทุกข์ทรมานจากการถูกโจมตีด้วยระเบิดปรมาณู

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน วอชิงตันและโตเกียวแถลงยกระดับความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งลงนามครั้งแรกในปี 1951 ในขณะที่ 2 ชาติพันธมิตรมองหาแนวทางป้องปรามภัยคุกคามที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ในระดับภูมิภาค จากทั้งจีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ

ดาเนียล คริเทนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวก่อนหน้าการพูดคุยที่มีกำหนดจัดขึ้นในญี่ปุ่น ว่า "ยามที่ต้องเผชิญภัยคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สหรัฐฯ และญี่ปุ่นกำลังแสดงออกในแนวทางที่มีความรับผิดชอบ ในแนวทางที่เราจะยืนหยัดและรับประกัน ไม่ใช่แค่กับการปกป้องญี่ปุ่น แต่ยังรวมถึงแรงสนับสนุนของเราที่มีต่อความมั่นคงในภูมิภาค"

"พันธสัญญาตามสนธิสัญญาความมั่นคงของเราที่มีต่อพันธมิตรญี่ปุ่นนั้นแข็งแกร่ง และเรามุ่งมั่นใช้ทุกวิถีทางที่สหรัฐฯ มี ในนั้นรวมนิวเคลียร์ เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถทำได้ตามที่รับปากไว้" เขากล่าว

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะจัดประชุมทวิภาคีแยกกันกับรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ระหว่างการเดินทางเยือนดังกล่าว ส่วนหนึ่งในแผนเยือนแพน-เอเชีย เพื่อรับประกันกับบรรดาพันธมิตรเกี่ยวกับแรงสนับสนุนของวอชิงตัน แม้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน ก่อความไม่แน่นอนใจเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของวอชิงตัน

ด้าน ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ จะจัดประชุม 3 ฝ่ายกับรัฐมนตรีกลาโหมจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน

การประชุมด้านความมั่นคงกับญี่ปุ่น จะรวมไปถึงความพยายามกระชับความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมกลาโหมของ 2 ชาาติ และยกระดับสิ่งปลูกสร้างด้านบัญชาการ เพื่อส่งเสริมการประสานระหว่างกองทัพทั้ง 2

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ กำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการยกเครื่องสิ่งปลูกสร้างด้านกองบัญชาการทางทหารในเอเชียตะวันออกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ในขณะที่ญี่ปุ่นมีแผนจัดตั้งกองบัญชาการร่วมใหม่ เพื่อกำกับดูแลกองกำลังป้องกันตนเองในเดือนมีนาคมปีหน้า

ปัจจุบันสหรัฐฯ มีทหารประจำการในญี่ปุ่น 54,000 นาย

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น