เลขาธิการนาโตในวันจันทร์ (17 มิ.ย.) เร่งเร้าพันธมิตรทหารตะวันตกแห่งนี้ให้กำหนดบทลงโทษที่จีนต้องชดใช้ ต่อกรณีให้การสนับสนุนรัสเซีย แต่ในทางกลับกันเขาบอกว่าการไหลบ่ากระแสอาวุธป้อนแก่ยูเครนอย่างต่อเนื่อง จะเป็นหนทางเดียวที่ช่วยยุติสงคราม
เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต อยู่ระหว่างเดินทางเยือนวอชิงจัน เพื่อวางกรอบการทำงานสำหรับการประชุมซัมมิตนาโตประจำปี ครั้งที่ 75 ในเดือนหน้า โดยการประชุมในเดือนกรกฎาคม มีเป้าหมายเพื่อส่งสารที่หนักแน่นว่าจะมอบแรงสนับสนุนแก่ยูเครนในระยะยาว แม้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องเผชิญศึกหนักในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่แสดงความคลางแคลงใจต่อแรงสนับสนุนที่ตะวันตกมอบให้แก่เคียฟ
ก่อนหน้าพบปะกับไบเดน ทางสโตลเทนเบิร์ก ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน กล่าวหา จีน กำลังทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งเลวร้ายลง ผ่านสิ่งที่พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เรียกว่าเป็นการส่งออกครั้งใหญ่ที่เป็นการช่วยผลักดันฟื้นฟูอุตสาหกรรมกลาโหมของรัสเซีย
"ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พยายามสร้างภาพจำว่าเขาเป็นช้างเท้าหลังในความขัดแย้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคว่ำบาตรและรักษากระแสทางการค้า" สโตลเทนเบิร์กกล่าว "แต่ความเป็นจริงคือ จีน โหมกระพือความขัดแย้งติดอาวุธใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และในขณะเดียวกัน พวกเขาบอกว่าต้องการคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีกับตะวันตก"
"ปักกิ่งไม่อาจทำทั้ง 2 อย่างในคราวเดียว และจนกว่าจีนจะเปลี่ยนเส้นทาง พันธมิตรทั้งหลายจำเป็นต้องกำหนดสิ่งที่พวกเขาต้องชดใช้ มันจำเป็นต้องมีผลสนอง" เลขาธิการนาโตกล่าว
ที่ผ่านมา จีน โต้แย้งว่าพวกเขาไม่เคยส่งมอบความช่วยเหลือด้านอาวุธไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม ต่างจากสหรัฐฯ และบรรดาชาติตะวันตกอื่นๆ
จีน ปลีกตัวออกห่างจากการประชุมซัมมิตหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่โปรโมตโดยประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ที่เน้นย้ำข้อเรียกร้องให้ รัสเซียถอนกำลังทั้งหมดออกจากดินแดนของยูเครน ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงสันติภาพใดก็ตาม
รัสเซีย ยืนยันว่ามีความสนใจที่จะเจรจา แต่ก็มีข้อเรียกร้องเช่นกัน ขอให้กองทัพยูเครนถอนกำลังออกจากดินแดนที่ถูกยึดครองโดยมอสโก
ทรัมป์ ซึ่งเคยเอ่ยปากชมประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน บ่อยครั้งในอดีต โอ้อวดว่าเขาสามารถยุติสงครามได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเขาอาจกดดันยูเครนให้ตอบรับข้อเรียกร้องของปูติน
ในความพยายามรับประกันความไม่แน่นอนในอนาคต ทางสโตลเทนเบิร์ก ต้องการให้การประชุมซัมมิตในวอชิงตัน เป็นการวางกรอบสำหรับนาโตที่จะก้าวมาเป็นแกนนำประสานงานในเรื่องยูเครน และจัดดตั้งแนวทางหนึ่งๆ ขึ้นมา เพื่อมอบแรงสนับสนุนด้านการทหารระยะยาวแก่เคียฟ "อาจฟังดูขัดแย้งกัน แต่เส้นทางแห่งสันติภาพสำหรับยูเครนก็คือ การป้อนอาวุธให้พวกเขาเพิ่มเติม"
(ที่มา : เอเอฟพี)