xs
xsm
sm
md
lg

โลกล่อแหลม! US แย้มอาจเพิ่มประจำการอาวุธนิวเคลียร์ สกัดภัยคุกคามจากรัสเซีย-จีน และศัตรูอื่นๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์เพิ่มเติมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อป้องปรามภัยคุกคามที่มากขึ้นเรื่อยๆ จากรัสเซีย จีน และศัตรูอื่นๆ จากการเปิดเผยของผู้ช่วยระดับสูงในทำเนียบขาวเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว

Pranay Vaddi เจ้าหน้าที่ด้านควบคุมอาวุธระดับสูง ของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ แสดงความคิดเห็นดังกล่าวระหว่างปราศรัยเกี่ยวกับแนวทางการควบคุมอาวุธ ซึ่งบ่งชี้อย่างคร่าวๆ ให้เห็นถึงนโยบายที่เปลี่ยนไปของอเมริกา ที่มีเป้าหมายกดดันรัสเซียและจีน ให้ปรับเปลี่ยนท่าที หลังจากทั้ง 2 ชาติปฏิเสธเสียงเรียกร้องของสหรัฐฯ สำหรับเปิดเจรจาจำกัดคลังแสงนิวเคลียร์

"หากปราศจากการเปลี่ยนแปลงในคลังแสงของศัตรู เราอาจไปถึงจุดๆ หนึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ที่การเพิ่มจำนวนการประจำการจากระดับปัจจุบันเป็นสิ่งจำเป็น เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับดำเนินการในเรื่องนี้ ถ้าประธานาธิบดีตัดสินใจดังกล่าว" เขาบอกกับสมาคมควบคุมอาวุธ "ถ้าวันนั้นมาถึง ผลก็คือ เรามีปณิธานอย่างแน่วแน่แล้วว่า อาวุธนิวเคลียร์เพิ่มเติมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับป้องปรามศัตรูของเรา ปกป้องประชาชนชาวอเมริกา และพันธมิตรของเราและคู่หูของเรา"

ปัจจุบันสหรัฐฯ จำกัดการประจำการหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ไว้ที่ 1,550 ลูก ภายใต้สนธิสัญญา New START ปี 2010 ที่ทำไว้กับรัสเซีย แม้มอสโกระงับการมีส่วนร่วมในสนธิสัญญาฉบับนี้ไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ตอบโต้กรณีที่อเมริกาสนับสนุนยูเครน ความเคลื่อนไหวที่วอชิงตันเรียกว่าเป็นโมฆะทางกฎหมาย

ความเห็นของ Vaddi สวนทางกับคำพูดของ เจค ซุลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ที่เคยปราศรัยกลับกลุ่มเดียวกันในการประชุมเมื่อปีที่แล้ว ว่า อเมริกาไม่มีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มประจำการอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ เพื่อตอบโต้คลังแสงของรัสเซียและจีน พร้อมกับเสนอเจรจาแบบไม่มีการวางเงื่อนไขล่วงหน้า

Vaddi กล่าวว่ารัฐบาลยังคงมุ่งมั่นต่อหลักเกณฑ์ควบคุมอาวุธนานาชาติและการแพร่ขยายอาวุธ ที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่ารัสเซีย จีน และเกาหลีเหนือ "ล้วนแต่ยกระดับและเพิ่มความหลากหลายแก่คลังแสงนิวเคลียร์ของพวกเขาในอัตราที่รวดเร็วและอันตรายมาก และแทบหรือไม่แสดงความสนใจในการควบคุมอาวุธใดๆ"

"ทั้ง 3 ชาติและอิหร่าน กำลังเพิ่มความร่วมมือและยกระดับความร่วมมือระหว่างกันในแนวทางต่างๆ ที่สวนทางกับสันติภาพและเสถียรภาพ คุกคามสหรัฐฯ พันธมิตรของเราและคู่หูของเรา และซ้ำเติมความตึงเครียดในภูมิภาค" เขากล่าว พร้อมระบุรัสเซีย จีน อิหร่านและเกาเหลีเหนือ แบ่งปันเทคโนโลยีล้ำสมัยด้านขีปนาวุธและโดรน อ้างถึงกรณีที่มอสโกใช้โดรนของอิหร่าน ปืนใหญ่และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือในยูเครน ในขณะที่จีนสนับสนุนอุตสาหกรรมกลาโหมของรัสเซีย

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เตือนเมื่อวันพุธ (5 มิ.ย.) ว่า เขาอาจประจำการขีปนาวุธทั่วไปที่มีพิสัยการโจมตีถึงสหรัฐฯและพันธมิตรยุโรปของอเมริกา หากว่าพวกเขาไฟเขียวให้ยูเครน ใช้อาวุธพิสัยไกลที่ได้รับมอบจากตะวันตก โจมตีลึกเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร์ (7 มิ.ย.) เขาคุยโวว่า รัสเซีย ไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อการันตีชัยชนะในยูเครน

ในยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ของสหรัฐฯ Vaddi บอกว่าอเมริกาขอสงวนไว้ซึ่งการใช้อาวุธนิวเคลียร์ปัดเป่าการโจมตีของฝ่ายศัตรูที่เล็งเป้า "เล่นงานเรา พันธมิตรและคู่หูของเรา" ในขณะที่ยังคงให้คำมั่นร่วมกับสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ต่อความโปร่งใสในนโยบายนิวเคลียร์และขุมกำลังนิวเคลียร์

"อย่างไรก็ตาม หากศัตรูของสหรัฐฯ เพิ่มการพึ่งพิงอาวุธนิวเคลียร์ เราก็คงไม่มีทางเลือก ยกเว้นแต่ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของเราและศักยภาพของเราในการสงวนไว้ซึ่งการป้องปรามและรักษาเสถียรภาพ" เขากล่าว พร้อมบอกว่า "รัฐบาลจะใช้ก้าวย่างต่างๆ ด้วยความรอบคอบ ในนั้นรวมถึงการปรับปรุงคลังแสงของสหรัฐฯ ให้มีความทันสมัย"

เขากล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกันทางรัฐบาลยังคงมุ่งมั่นในการระงับการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ในนั้นรวมถึงส่งเสริมสนธิสัญญาสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์

Vaddi เน้นว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน มุ่งมั่นที่จะเดินหน้าปฏิบัติตามข้อจำกัดประจำการอาวุธนิวเคลียร์ที่กำหนดไว้ภายใต้สนธิสัญญา New START ตราบใดที่รัสเซียปฏิบัติตามเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า มอสโก ปฏิเสธซ้ำๆ ในการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงใหม่ที่จะมาแทน New START ซึ่งเป็นข้อตกลงควบคุมอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับสุดท้ายที่เหลืออยู่ระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ และมีกำหนดหมดอายุลงในปี 2026

ในส่วนของจีน ปฏิเสธพูดคุยกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับการขยายคลังแสงนิวเคลียร์ของพวกเขา

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น